xs
xsm
sm
md
lg

การลงทุนใน Gold Futures (ตอน 1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ ถนนสู่การลงทุน
ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสาทรธานี
ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจไซเบอร์ (RSU Cyber University)
และผู้จัดการโครงการหลักสูตร MBA มหาวิทยาลัยรังสิต

Gold Futures (โกลด์ฟิวเจอร์ส)
หรือ สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า เป็นตราสารอนุพันธ์ หรือเครื่องมือทางการเงินชนิดหนึ่งที่ผู้ลงทุนสามารถใช้เก็งกำไรจากการผันผวนของราคาทองคำ ทั้งในภาวะขาขึ้นและภาวะขาลงของราคาทองคำ คุณลักษณะเด่นของตราสารอนุพันธ์ชนิดนี้คือ เป็นตราสารที่สามารถซื้อก่อนขายหรือขายก่อนซื้อก็ได้ และที่สำคัญที่สุดของการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ประเภทนี้คือ ใช้เงินลงทุนน้อยประกอบกับราคาทองคำมีการเคลื่อนไหวทุกวัน จะทำให้โอกาสในการรับผลตอบแทนนั้นมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง แต่ผู้ลงทุนต้องไม่ลืมที่ว่า การลงทุนใดที่ให้ผลตอบแทนสูง โอกาสในการรับความเสี่ยงก็จะสูงด้วยเช่นเดียวกัน

โกลด์ฟิวเจอร์ส หรือ สัญญาฟิวเจอร์สทองคำ จึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ลงทุนในตลาดทุน ในการทำกำไรและกระจายความเสี่ยงของกลุ่มหลักทรัพย์ลงทุน และผู้ลงทุนที่เดิมเคยลงทุนในการเก็งกำไรในราคาทองคำในระบบตลาดปกติ ซึ่งจะต้องใช้เงินจำนวนมากในการซื้อ หรือลงทุนเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในสัญญาประเภทนี้ โดยผู้ลงทุนสามารถซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์สได้ง่าย สะดวก ผ่านระบบซื้อขายของตลาดอนุพันธ์ (TFEX ) โดยมีบริษัท สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด (TCH) เป็นผู้ประกันการชำระราคาจากการซื้อขาย และมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานของ ตลาดอนุพันธ์

สัญญาฟิวเจอร์สทองคำ นั้นได้เริ่มมีการซื้อขายกันวันแรกในตลาดอนุพันธ์ของประเทศไทยในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552 โดยในช่วงแรกนี้ การลงทุนในโกลด์ฟิวเจอร์ส หรือ สัญญาฟิวเจอร์สทองคำ นี้อาจมีผู้ลงทุนจำนวนน้อย เพราะผู้ลงทุนโดยทั่วไปยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับกลไกการทำงานของการซื้อขายตราสารอนุพันธ์มากทใดนัก แต่ในอนาคตอันใกล้ เครื่องมือทางการเงินชนิดใหม่นี้จะมีผู้ที่เข้ามาลงทุนในจำนวนที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยความสะดวกในการลงทุน และจำนวนเงิเริ่มต้นในการลงทุนไม่สูงมากนัก

โกลด์ฟิวเจอร์ส หรือ สัญญาฟิวเจอร์สทองคำ จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้กับผู้ลงทุน ทําให้สามารถซื้อและขายทำกำไรได้ทั้งในภาวะราคาทองขาขึ้น และราคาทองขาลง โดยในการ ซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์สจะไม่มีการส่งมอบทองคำกันจริง ๆ ระหว่างคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย แต่ใช้วิธีจ่ายชำระเงินตามส่วนต่างกำไรขาดทุนที่เกิดขึ้นเท่านั้น วิธีการชำระกำไรขาดทุนแบบนี้เรียกว่า “ การชำระราคาเป็นเงินสด” (Cash Settlement) โดยผู้ลงทุนสามารถ “ ซื้อก่อนขาย” หรือ “ ขายก่อนซื้อ” ก็ได้ ซึ่งกำไรหรือขาดทุนที่เกิดขึ้นนั้น จะเท่ากับส่วนต่างระหว่างราคาขายและราคาที่ซื้อเอาไว้ เช่น หากผู้ลงทุนคาดว่าราคาทองคำจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต ผู้ลงทุนก็จะสามารถซื้อโกลด์ฟิวเจอร์สไว้ก่อน และเมื่อราคาทองคำในอนาคตปรับตัวขึ้นจริง ผู้ลงทุนก็จะก็สามารถขายโกลด์ฟิวเจอร์สได้ ทำให้ผู้ลงทุนได้รับกำไรเท่ากับส่วนต่างของราคาซื้อและขาย และในกรณีที่ผู้ลงทุนคาดว่าราคาทองจะปรับตัวลดลง ผู้ลงทุนก็จะสามารถขายโกลด์ฟิวเจอร์ส การขายทองคำล่วงหน้าในตลาดอนุพันธ์แบบนี้ ผู้ลงทุนไม่มีความจำเป็นจะต้องมีทองคำไว้ในมือ หรือจะต้องทำการซื้อไว้ก่อน เหมือนการซื้อทองในตลาดจริง เพียงแต่ผู้ลงทุนคาดว่าราคาทองคำนั้นจะลดลงในอนาคต ผู้ลงทุนก็ส่งคำสั่งขายล่วงหน้าไว้ เมื่อราคาทองคำในอนาคตลดลงจริง ผู้ลงทุนก็จะทำการขายได้ในราคาที่ได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้า ซึ่งมีราคาสูงกว่า

การซื้อหรือขายโกลด์ฟิวเจอร์ส คือ การซื้อหรือขายทองคำล่วงหน้า ราคาของโกลด์ฟิวเจอร์สจึงเป็นราคาทองคำที่ผู้ลงทุนคาดการณ์ในอนาคต ซึ่งอาจจะแตกต่างจากราคาทองคำที่มีการซื้อขายและส่งมอบกันในปัจจุบัน (Spot Price) ในตลาดจริง การคาดการณ์ราคาทองที่แตกต่างกันนี้ เป็นโอกาสในการทำกำไรจากโกลด์ฟิวเจอร์ส เช่น ในภาวะทองราคาขึ้น ราคาทองในปัจจุบันอาจอยู่ที่ 14,000 บาทต่อทองคำหนัก 1 บาท แต่ราคาโกลด์ฟิวเจอร์สที่ครบกำหนดในอีก 6 เดือนข้างหน้า อาจมีราคาซื้อขายอยู่ที่ 14,500 บาทต่อทองคำหนัก 1 บาท สำหรับผู้ลงทุนที่ซื้อโกลด์ฟิวเจอร์สไว้ ก็คือ ผู้ลงทุนที่คาดว่าราคาทองคำในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะสูงกว่า 14,500 บาท จึงทำการซื้อโกลด์ฟิวเจอร์ส โดยผู้ซื้อหรือผู้ลงทุนนี้คาดการณ์ว่าจะมีส่วนต่างราคาในกรณีที่ทองคำปรับตัวสูงขึ้นกว่าที่ได้กำหนดเอาไว้ เช่น หากในอนาคตราคาทองทำเป็น 15,500 บาท ผู้ลงทุนจะได้รับกำไรทันที 1,000 บาทต่อทองคำหนัก 1 บาท เป็นต้น

สำหรับผู้ขายโกลด์ฟิวเจอร์ส ก็คือ ผู้ลงทุนที่คาดว่าราคาทองคำจะปรับตัวขึ้นไม่ถึง 14,500 บาทต่อทองคำหนัก 1 บาท ในอีก 6 เดือนข้างหน้า ผู้ลงทุนจึงทำการขายล่วงหน้าในราคา 14,500 บาท และรอซื้อกลับเมื่อราคาถูกลง หากราคาทองคำในอนาคตเป็น 13,500 บาทต่อทองคำหนัก 1 บาท ผู้ลงทุนจะได้รับกำไรทันที 1,000 บาทต่อทองคำหนัก 1 บาท เพราะเปรียบเสมือนว่า ผู้ลงทุนสามารถซื้อทองคำได้ในราคา 13,500 บาท และขายตามที่ได้กำหนดล่วงหน้าไว้ 14,500 บาท ตามที่ได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้า แต่การซื้อขายตราสารอนุพันธ์ประเภทนี้ไม่ได้มีการส่งมอบทองคำกันจริง เพียงแต่เป็นการ การชำระราคาเป็นเงินสด (Cash Settlement) เท่านั้น

ข้อมูลจาก www.tfex.co.th
กำลังโหลดความคิดเห็น