คอลัมน์คุยกับผู้จัดการกองทุน
ณัฐพัชร์ ลัคนาธรรมพิชิต
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บีที จำกัด
0-2686-9500
พอร์ตโฟลิโอที่นำเสนอให้ท่านผู้อ่านติดตามเพื่อการลงทุนที่ผ่านมานั้น มีหลักทรัพย์อยู่เพียง 4 ประเภท คือ ตราสารหนี้ ตราสารทุน กองทุนรวมและเงินฝากธนาคาร ซึ่งนับว่าเป็นหลักทรัพย์พื้นฐานหรือเบื้องต้น (Basic Products) เหมาะสำหรับการลงทุนเริ่มแรก โดยผู้ลงทุนศึกษาและเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์แต่ละประเภทว่ามีปัจจัยมาจากอะไรบ้าง จนสามารถเลือกใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการซื้อหรือขายได้อย่างถูกต้อง ทำให้ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดหวัง ทั้งนี้การให้น้ำหนักที่ต่างกันของแต่ละประเภทหลักทรัพย์ในการจัดพอร์ตจะเป็นตัวกำหนดระดับความเสี่ยงของพอร์ต
หลักทรัพย์อีกประเภทหนึ่งที่สามารถลงทุนได้ แต่เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ผ่านการศึกษาและเรียนรู้เพิ่มเติมมากขึ้นอีกระดับ หรือเรียกกันว่าหลักทรัพย์ขั้นสูง (Advanced Products) ก็ได้ โดยมีชื่อเรียกเฉพาะของกลุ่มหลักทรัพย์นี้ว่า ตราสารอนุพันธ์ (Derivative Products) โดยมีคำนิยาม (Definition) ว่า เป็นสินทรัพย์ทางการเงินประเภทหนึ่ง ที่มูลค่าของตราสารจะขึ้นอยู่กับกระแสเงินของสินทรัพย์อ้างอิง (Underlying Asset) ไม่ได้มีค่าจากกระแสเงินของตัวตราสารเองโดยตรง ท่านผู้อ่านที่อ่านคำนิยามแล้วยังงงๆ ขอให้ลืมๆ ไปก่อน ลองติดตามอ่านต่อไปจะค่อยๆเข้าใจขึ้นครับ
ตราสารอนุพันธ์ สามารถแบ่งตามประเภทของสัญญาได้ 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1. สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Forward Contract / Future Contract) 2. สัญญาออปชัน (Option Contract) และ 3. สัญญาสวอป (Swap Contract) ก่อนที่จะลงไปในรายละเอียดของสัญญาแต่ละประเภท กลับมาดูว่าสินทรัพย์ที่สามารถใช้ในการอ้างอิงได้นั้น เป็นสินทรัพย์ได้เกือบทุกประเภท ซึ่งถ้าแบ่งย่อยเป็นหมวดหมู่ได้ดังนี้ หมวดสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) เช่น ราคาน้ำมันดิบ ราคาทองคำ หมวดสินค้าเกษตร (Agriculture) เช่น ราคายางพารา ราคาข้าว หมวดทางการเงิน (Finance) เช่น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ราคาหุ้น ราคาพันธบัตร อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย เป็นต้น
เริ่มกันที่สัญญาแรก สัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นสัญญาซึ่งทำการตกลงกันระหว่างบุคคล หรือสถาบัน 2 ฝ่าย โดยมีฝ่ายของผู้ซื้อ และฝ่ายของผู้ขาย ทำการตกลงกันในสัญญาว่า จะมีการซื้อขายสินทรัพย์ในอนาคต ในราคาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า โดยทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจะมีภาระผูกพันที่จะต้องทำตามสัญญาที่กำหนดไว้ คือ ผู้ขายจะต้องนำสินทรัพย์มาทำการส่งมอบในอนาคตและผู้ซื้อจะทำการชำระราคาในอนาคต เช่น คู่สัญญาทำการตกลงจะซื้อขายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในอีก 3 เดือนข้างหน้า เมื่อระยะเวลาถึงกำหนดตามข้อตกลงในสัญญาทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องทำตามสัญญา คือ ผู้ซื้อจะต้องนำเงินบาทมาชำระค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและผู้ขายก็จะต้องนำเงินดอลลาร์สหรัฐมาส่งมอบ
สัญญาซื้อขายล่วงหน้าเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currencies Exchange Forward Contract) เป็นตราสารอนุพันธ์ประเภทแรกที่มีในประเทศเรา นิยมใช้สำหรับธุรกิจที่ต้องเกี่ยวข้องกับเงินตราต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำเข้าหรือส่งออกสินค้า สัญญาจะเป็นการทำระหว่างธนาคารพาณิชย์ที่มีบริการรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศกับผู้นำเข้าหรือส่งออกสินค้าซึ่งมีรายได้หรือรายจ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศ ดังนั้นการทำสัญญาดังกล่าว จะทำให้ผู้ที่จะมีรายได้หรือรายจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศได้ทราบว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นในอนาคตจะเป็นอย่างไร ทำให้ทั้งผู้ส่งออกและนำเข้าสินค้าสามารถประเมินถึงรายได้และรายจ่ายที่เป็นจำนวนเงินสกุลบาทได้อย่างแน่นอน ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงจากการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
สัญญาซื้อขายล่วงหน้าอีกแบบหนึ่ง จะทำการซื้อขายผ่านตลาด (Exchange) โดยมีสัญญามาตรฐาน ซึ่งกำหนดคุณสมบัติของสินทรัพย์ (Specifications) ที่จะซื้อขายกันอย่างชัดเจน มีการวางเงินประกัน รวมทั้งกำหนดวันส่งมอบที่แน่นอน ตลาดแห่งแรกของบ้านเราชื่อว่า ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถกำหนดราคาของสินค้าเกษตรได้ล่วงหน้า ทำให้ลดความผันผวนของราคา โดยมีการส่งมอบกันด้วยสินค้าจริงๆหรืออาจคิดเป็นตัวเงินตามส่วนต่างของราคาที่ได้ซื้อและขายไว้ เริ่มเปิดซื้อขายกันครั้งแรกเมื่อ 28 พ.ค. 2547 ปัจจุบันมีสินค้าอยู่ไม่มากนัก ได้แก่ ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ข้าวขาว 5% และมันสำปะหลังเส้น สนใจดูรายละเอียดได้ที่ www.afet.or.th
บริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (TFEX) เป็นตลาดอนุพันธ์แห่งที่สอง ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางการซื้อขายตราสารอนุพันธ์เกี่ยวกับตราสารทุน ตราสารหนี้ และสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่นๆ โดยสัญญาแรกที่มีการซื้อขายกัน คือ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าดัชนีหลักทรัพย์ SET 50 (SET50 Index Futures) เมื่อ 28 เม.ย. 2549 สามารถเข้าไปดูได้ที่ www.tfex.co.th
Forward Contract เป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ใช้กันในตลาดต่อรองราคา (OTC – Over The Counter) ส่วน Future Contract เป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ใช้กันในตลาดที่มีระเบียบ (Organized Exchange) โปรดติดตามสัญญาอื่นในตอนต่อไป
ณัฐพัชร์ ลัคนาธรรมพิชิต
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บีที จำกัด
0-2686-9500
พอร์ตโฟลิโอที่นำเสนอให้ท่านผู้อ่านติดตามเพื่อการลงทุนที่ผ่านมานั้น มีหลักทรัพย์อยู่เพียง 4 ประเภท คือ ตราสารหนี้ ตราสารทุน กองทุนรวมและเงินฝากธนาคาร ซึ่งนับว่าเป็นหลักทรัพย์พื้นฐานหรือเบื้องต้น (Basic Products) เหมาะสำหรับการลงทุนเริ่มแรก โดยผู้ลงทุนศึกษาและเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์แต่ละประเภทว่ามีปัจจัยมาจากอะไรบ้าง จนสามารถเลือกใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการซื้อหรือขายได้อย่างถูกต้อง ทำให้ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดหวัง ทั้งนี้การให้น้ำหนักที่ต่างกันของแต่ละประเภทหลักทรัพย์ในการจัดพอร์ตจะเป็นตัวกำหนดระดับความเสี่ยงของพอร์ต
หลักทรัพย์อีกประเภทหนึ่งที่สามารถลงทุนได้ แต่เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ผ่านการศึกษาและเรียนรู้เพิ่มเติมมากขึ้นอีกระดับ หรือเรียกกันว่าหลักทรัพย์ขั้นสูง (Advanced Products) ก็ได้ โดยมีชื่อเรียกเฉพาะของกลุ่มหลักทรัพย์นี้ว่า ตราสารอนุพันธ์ (Derivative Products) โดยมีคำนิยาม (Definition) ว่า เป็นสินทรัพย์ทางการเงินประเภทหนึ่ง ที่มูลค่าของตราสารจะขึ้นอยู่กับกระแสเงินของสินทรัพย์อ้างอิง (Underlying Asset) ไม่ได้มีค่าจากกระแสเงินของตัวตราสารเองโดยตรง ท่านผู้อ่านที่อ่านคำนิยามแล้วยังงงๆ ขอให้ลืมๆ ไปก่อน ลองติดตามอ่านต่อไปจะค่อยๆเข้าใจขึ้นครับ
ตราสารอนุพันธ์ สามารถแบ่งตามประเภทของสัญญาได้ 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1. สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Forward Contract / Future Contract) 2. สัญญาออปชัน (Option Contract) และ 3. สัญญาสวอป (Swap Contract) ก่อนที่จะลงไปในรายละเอียดของสัญญาแต่ละประเภท กลับมาดูว่าสินทรัพย์ที่สามารถใช้ในการอ้างอิงได้นั้น เป็นสินทรัพย์ได้เกือบทุกประเภท ซึ่งถ้าแบ่งย่อยเป็นหมวดหมู่ได้ดังนี้ หมวดสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) เช่น ราคาน้ำมันดิบ ราคาทองคำ หมวดสินค้าเกษตร (Agriculture) เช่น ราคายางพารา ราคาข้าว หมวดทางการเงิน (Finance) เช่น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ราคาหุ้น ราคาพันธบัตร อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย เป็นต้น
เริ่มกันที่สัญญาแรก สัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นสัญญาซึ่งทำการตกลงกันระหว่างบุคคล หรือสถาบัน 2 ฝ่าย โดยมีฝ่ายของผู้ซื้อ และฝ่ายของผู้ขาย ทำการตกลงกันในสัญญาว่า จะมีการซื้อขายสินทรัพย์ในอนาคต ในราคาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า โดยทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจะมีภาระผูกพันที่จะต้องทำตามสัญญาที่กำหนดไว้ คือ ผู้ขายจะต้องนำสินทรัพย์มาทำการส่งมอบในอนาคตและผู้ซื้อจะทำการชำระราคาในอนาคต เช่น คู่สัญญาทำการตกลงจะซื้อขายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในอีก 3 เดือนข้างหน้า เมื่อระยะเวลาถึงกำหนดตามข้อตกลงในสัญญาทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องทำตามสัญญา คือ ผู้ซื้อจะต้องนำเงินบาทมาชำระค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและผู้ขายก็จะต้องนำเงินดอลลาร์สหรัฐมาส่งมอบ
สัญญาซื้อขายล่วงหน้าเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currencies Exchange Forward Contract) เป็นตราสารอนุพันธ์ประเภทแรกที่มีในประเทศเรา นิยมใช้สำหรับธุรกิจที่ต้องเกี่ยวข้องกับเงินตราต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำเข้าหรือส่งออกสินค้า สัญญาจะเป็นการทำระหว่างธนาคารพาณิชย์ที่มีบริการรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศกับผู้นำเข้าหรือส่งออกสินค้าซึ่งมีรายได้หรือรายจ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศ ดังนั้นการทำสัญญาดังกล่าว จะทำให้ผู้ที่จะมีรายได้หรือรายจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศได้ทราบว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นในอนาคตจะเป็นอย่างไร ทำให้ทั้งผู้ส่งออกและนำเข้าสินค้าสามารถประเมินถึงรายได้และรายจ่ายที่เป็นจำนวนเงินสกุลบาทได้อย่างแน่นอน ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงจากการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
สัญญาซื้อขายล่วงหน้าอีกแบบหนึ่ง จะทำการซื้อขายผ่านตลาด (Exchange) โดยมีสัญญามาตรฐาน ซึ่งกำหนดคุณสมบัติของสินทรัพย์ (Specifications) ที่จะซื้อขายกันอย่างชัดเจน มีการวางเงินประกัน รวมทั้งกำหนดวันส่งมอบที่แน่นอน ตลาดแห่งแรกของบ้านเราชื่อว่า ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถกำหนดราคาของสินค้าเกษตรได้ล่วงหน้า ทำให้ลดความผันผวนของราคา โดยมีการส่งมอบกันด้วยสินค้าจริงๆหรืออาจคิดเป็นตัวเงินตามส่วนต่างของราคาที่ได้ซื้อและขายไว้ เริ่มเปิดซื้อขายกันครั้งแรกเมื่อ 28 พ.ค. 2547 ปัจจุบันมีสินค้าอยู่ไม่มากนัก ได้แก่ ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ข้าวขาว 5% และมันสำปะหลังเส้น สนใจดูรายละเอียดได้ที่ www.afet.or.th
บริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (TFEX) เป็นตลาดอนุพันธ์แห่งที่สอง ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางการซื้อขายตราสารอนุพันธ์เกี่ยวกับตราสารทุน ตราสารหนี้ และสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่นๆ โดยสัญญาแรกที่มีการซื้อขายกัน คือ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าดัชนีหลักทรัพย์ SET 50 (SET50 Index Futures) เมื่อ 28 เม.ย. 2549 สามารถเข้าไปดูได้ที่ www.tfex.co.th
Forward Contract เป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ใช้กันในตลาดต่อรองราคา (OTC – Over The Counter) ส่วน Future Contract เป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ใช้กันในตลาดที่มีระเบียบ (Organized Exchange) โปรดติดตามสัญญาอื่นในตอนต่อไป