วิกฤตการเงินในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ภายหลังได้ลุกลามเป็นวิกฤตการเงินโลกนั้น เริ่มจากการเพิ่มขึ้นและลดลงของราคาทรัพย์สินในตลาดที่อยู่อาศัย (Boom and bust in housing markets) การเก็งกำไร การลงทุนและกู้ยืม/ให้สินเชื่อความเสี่ยงสูง ก่อนก่อตัวเป็นปัญหาซับไพรม์ในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Sub-prime in housing markets) ในปี 2550
ปัญหาในสถาบันการเงินมีความชัดเจนและทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็วในเดือนกันยายน 2551 เมื่อรัฐบาลสหรัฐประกาศเข้ายึดกิจการบริษัท Fannie Mae และ Freddie Mac ซึ่งเป็นสถาบันสินเชื่อที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ของสหรัฐ ในวันที่ 7 กันยายน 2551 และอีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา Lehman Brothers ซึ่งเป็นวาณิชธนกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของสหรัฐ ประกาศล้มละลาย และมีการประมาณการว่ามีสถาบันการเงินในสหรัฐล้มมากกว่า 100 สถาบัน
มาตรการแก้ไขปัญหาวิกฤตการเงินของประเทศต่างๆ โดยสรุปคือ 1) การลดอัตราดอกเบี้ย 2) การสร้างความเชื่อมั่นสถาบันการเงิน 3) การเพิ่มสภาพคล่องและฟื้นฟูตลาดการเงิน 4) การเพิ่มความคุ้มครองเงินฝาก และ 5) มาตรการอื่น ๆ ในการสร้างความเชื่อมั่น รวมทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ การเพิ่มงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ การเร่งการลงทุนของภาครัฐ การลดภาษีและการให้สินเชื่อต่อภาคการผลิต
สำหรับนัยต่อประเทศไทยนั้น เป็นการวิเคราะห์จากการใช้มาตรการในต่างปร ะเทศ รวมทั้งการดำเนินมาตรการของไทย สรุปได้ดังนี้
1) มีสัญญาณเตือนภัยก่อนเกิดวิกฤตการเงิน แต่เมื่อเกิดวิกฤตการเงินแล้ว ผลกระทบเป็นไปอย่างรวดเร็ว รุนแรงและมีวงกว้างอย่างไม่คาดคิด
2) มีการใช้มาตรการเศรษฐกิจนอกกรอบในต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยควรพิจารณา
3) การใช้นโยบายไม่ให้สถาบันการเงินขนาดใหญ่ล้มมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเมื่อประกาศพร้อมกับมาตรการสนับสนุนที่น่าเชื่อถือ
4)การจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยซื้อหลักทรัพย์ในตลาดทุนโดยตรงอาจไม่เหมาะสม
5) ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถเพิ่มบทบาทในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
สำหรับนัยต่อประเทศไทยนั้น เป็นการสรุปและวิเคราะห์จากการใช้มาตรการในต่างประเทศ รวมทั้งการดำเนินมาตรการของไทย
1) มีสัญญาณเตือนภัยก่อนเกิดวิกฤตการเงิน แต่เมื่อเกิดวิกฤตการเงินแล้ว ผลกระทบเป็นไปอย่างรวดเร็ว รุนแรงและมีวงกว้างอย่างไม่คาดคิด สัญญาณเตือนภัยวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นในปี 2549 ที่มีปัญหาการเพิ่มขึ้นของราคาทรัพย์สินและการเริ่มต้นของปัญหา NPL ในภาคที่อยู่อาศัย และต้นปี 2550 ที่ HSBC ขาดทุนจาก mortgage securities มูลค่า 10.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตลอดจนการล้มละลายของ New Century Financial Corporation
การเกิดวิกฤตการเงินโลกในครั้งนี้ มีความรุนแรงและกระทบในวงกว้างอย่างไม่คาดคิด โดยเริ่มในตลาด Sub-prime mortgages ที่มีขนาดเพียง 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ12.2 ของตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Mortgage marketss) ในสหรัฐ ที่มีขนาด 10.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และภายหลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว กระทบตลาดการเงินอื่นและระบบสถาบันการเงิน อย่างรุนแรง ทั้งในสหรัฐและยุโรป และกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลกในที่สุด
2) มีการใช้มาตรการเศรษฐกิจนอกกรอบในต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยควรพิจารณา มีการใช้มาตรการทั้งทางการเงินและทางการคลังนอกกรอบ อาทิ ธนาคารกลางสหรัฐลดดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วจากร้อยละ 5.25 เมื่อ 17 สิงหาคม 2550 เหลือ 0 – 0.25 ในวันที่ 16 ธันวาคม 2551 ต่ำเป็นประวัติการณ์
การช่วยสถาบันการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ กรณี AIG มูลค่า 85 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในวันที่ 16 กันยายน 2551 และเพิ่มอีก 37.8 พันล้านเหรียญสหรัฐในวันที่ 8 ตุลาคม 2551 เป็นการช่วยเหลือสถาบันการเงินสูงเป็นประวัติการณ์ และการเพิ่มสภาพคล่องในตลาดเงิน 105 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในวันที่ 18 กันยายน 2551 วันเดียว สูงเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งเพิ่มสภาพคล่องในตลาดเงิน จาก 300 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 600 พันล้านเหรียญสหรัฐและ SWAP facilities กับธนาคารกลางประเทศอื่น จาก 290 เป็น 620 พันล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ยังมีการซื้อตราสารทางการเงิน ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำกว่าเกณฑ์ การผ่อนคลายกฎระเบียบต่าง ๆ รวมทั้งมาตรฐานทางบัญชี ในส่วนของกระทรวงการคลัง นอกจาก TARP ที่มีมูลค่า 850 พันล้านเหรียญสหรัฐแล้ว ยังมีแผนค้ำประกันตราสารทางการเงินของสถาบันการเงินสหรัฐ 1,500 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งหมดเป็นมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์
สำหรับการใช้มาตรการทางการคลังทั้งในสหรัฐและอีกหลายประเทศในยุโรปและเอเชีย ล้วนแต่อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์และเกินกว่าเกณฑ์ปรกติที่ยอมรับ เช่น สหภาพยุโรปมีข้อตกลงร่วมกันของสมาชิกไม่ให้มีการขาดดุลการคลังเกินร้อยละ 3 ของ GDP โดย Deutsche Bank คาดว่าในปี 2552 สหรัฐ อังกฤษ ยุโรป และญี่ปุ่น จะขาดดุลการคลังต่อ GDP ร้อยละ 8.2, 8.0, 4.3 และ 4.2 ตามลำดับ และ Emerging East Asia ในปี 2552 จะขาดดุลการคลังต่อ GDP ร้อยละ 2.8 จากเกินดุลการคลังร้อยละ 1.4 ในปี 2551
ในกรณีของประเทศไทยซึ่งสถาบันการเงินได้รับผลกระทบไม่มากจากวิกฤตการเงินโลก แต่ผลกระทบทางอ้อมจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกต่อสภาพคล่องและเศรษฐกิจจริงอยู่ในระดับสูง มาตรการเพิ่มสภาพคล่องให้ภาคการเงินและเศรษฐกิจจริงมีความจำเป็นมาก สำหรับมาตรการที่ใช้ในต่างประเทศคือ การเพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบโดยวิธีการต่าง ๆ ของธนาคารกลาง การเพิ่มการใช้งบประมาณ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการลดภาษี ซึ่งการดำเนินมาตรการในต่างประเทศทั้งของธนาคารกลางและกระทรวงการคลังใช้มาตรการนอกกรอบและเข้มข้นมากกว่าในอดีต เพื่อนำระบบการเงินกลับสู่สภาพเดิมโดยเร็วและบรรเทาปัญหาจากการวิกฤตเศรษฐกิจ
3) การใช้นโยบายไม่ให้สถาบันการเงินขนาดใหญ่ล้มมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะเมื่อประกาศพร้อมกับมาตรการสนับสนุนที่น่าเชื่อถือ เมื่อวิเคราะห์มาตรการในต่างประเทศพบว่ามาตรการของประเทศในยุโรป โดยเฉพาะการร่วมประกาศโดยกลุ่ม G7 ที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบสถาบันการเงินในยุโรป และทำให้ตลาดเงินกลับคืนสู่ภาวะปรกติได้อย่างรวดเร็ว สำหรับมาตรการเสริมสำหรับสถาบันการเงิน ซึ่งมาตรการส่วนใหญ่สามารถดำเนินการได้โดย ธนาคารกลาง อาทิ
- การช่วยเพิ่มสภาพคล่องสถาบันการเงินโดยเฉพาะในรูปหุ้นบุริมสิทธิ - การผ่อนปรนกฎเกณฑ์ต่าง ๆ สำหรับสถาบันการเงิน
- การซื้อตราสารทางการเงินของสถาบันการเงิน
- การค้ำประกันตราสารทางการเงินของสถาบันการเงิน
4) การจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยซื้อหลักทรัพย์ในตลาดทุนโดยตรงอาจไม่เหมาะสม ในกรณีของประเทศไทยมีหลายฝ่ายออกมาแสดงความเห็นว่ารัฐบาลควรพิจารณาตั้งกองทุนเพื่อซื้อหุ้น แต่จากประสบการณ์ในต่างประเทศพบว่าไม่มีการดำเนินการช่วยตลาดทุนโดยเฉพาะจัดตั้งกองทุนลงทุนในตลาดหุ้น ถึงแม้ว่าตลาดหุ้นจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินอย่างสูง แต่ในสหรัฐ ยุโรปตลอดจน เอเชีย ภาครัฐไม่มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อซื้อหุ้น ไม่มีการช่วยเพิ่มทุน ไม่มีการค้ำประกันตราสารหนี้หรือตราสารทางการเงินสำหรับบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน
5) ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถเพิ่มบทบาทในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เมื่อวิเคราะห์การดำเนินมาตรการของไทยตั้งแต่เกิดการล้มละลายของ Lehman Brothers พบว่ามาตรการที่สำคัญของธนาคารแห่งประเทศไทยคือการลดดอกเบี้ยในขณะที่กระทรวงการคลังได้มีการออกมาตรการต่าง ๆ ไปมาก** อาทิ การขยายเวลาคุ้มครองเงินฝาก การเพิ่มสินเชื่อให้ระบบเศรษฐกิจโดยเพิ่มทุนให้ ธนาคาร SMEs และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และการเพิ่มงบประมาณกลางปี 100,000 ล้านบาท และพบว่าในต่างประเทศธนาคารกลางต่าง ๆ ดำเนินมาตรการอย่างเต็มกำลัง ให้ความสำคัญกับการฟื้นระบบสถาบันการเงินในการกลับมาปล่อยสินเชื่อ โดยลดความสำคัญกับเป้าหมายเงินเฟ้อ จนถึงการสร้างการคาดการณ์เงินเฟ้อให้สูงขึ้น