xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนส่วนบุคคลปีหนูหดตัว4.1% สมาคมฯแนะจับจังหวะลงทุนตปท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กองทุนส่วนบุคคลปี 51 เงินลงทุนวูบลงกว่า 7 พันล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนการหดตัว 4.11% ชี้ดัชนีหุ้นไทยดิ่งเหวตามตลาดหุ้นทั่วโลกเป็นปัจจัยหลัก เผยตุลาคมเดือนเดียว ฉุดเงินติดลบไปกว่า 6 พันล้านบาท สมาคมบลจ.ออกโรงแนะข้อมูลลงทุนต่างประเทศ เตรียมความพร้อมนักลงทุน เดินหน้าลุยทันทีหลังทุกอย่างคลี่คลาย ระบุกระจายความเสี่ยงในหลายสินทรัพย์ หลายประเทศ ลดความผันผวนของผลตอบแทน

รายงานข่าวจากสมาคมบริษัทจัดการกองทุน (สมาคมบลจ.) เปิดเผยถึงตัวเลขเงินลงทุนล่าสุดในธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลในปี 2551 ที่ผ่านมาพบว่า ภาพรวมของธุรกิจเป็นไปตามภาวะการลงทุนทั่วโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงจากผลกระทบของวิกฤตการเงิน อันนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ซึ่งผลกระทบดังกล่าว ส่งผลให้เงินลงทุนในกองทุนส่วนบุคคลลดลงตามไปด้วย ซึ่งจากตัวเลขล่าสุด ทั้งปี 2551 ทั้งระบบมีเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 168,276.96 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนเงินที่ลดลงประมาณ 7,203.75 ล้านบาท จากจำนวนเงินลงทุนรวม 175,480.71 ล้านบาทในปี 2550 โดยการปรับลดลงดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนการลดลง 4.11%

ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลพบว่า ในช่วงเดือนกันยายนไปจนถึงเดือนพฤศจิกายนของปี 2551 เป็นช่วงเวลาที่เงินลงทุนในกองทุนส่วนบุคคล ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามภาวะการลงทุนในประเทศ เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับลดลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเดือนตุลาคมเดือนเดียว ลดลงไปถึง 30% ทำให้ในเดือนดังกล่าว เงินลงทุนในกองทุนส่วนบุคคลลดลงถึง 6,777.63 ล้านบาท ส่วนเดือนกันยายน ลดลงประมาณ 4,063.17 ล้านบาทและเดือนพฤศจิกายน ลดลงอีก 3,404.86 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนธันวาคมกลับพบว่า มีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 1,533.24 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นการจับจังหวะลงทุนในช่วงราคาถูก และผลจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีหุ้นด้วย

สำหรับแนวโน้มการลงทุนในกองทุนส่วนบุคคลในปีนี้ นายธีรพันธุ์ จิตตาลาน อุปนายกสมาคมและประธานกลุ่มธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล สมาคมบลจ. เปิดเผยว่า ในปีนี้ สมาคมมีแผนจะทำการประชาสัมพันธ์เรื่องการลงทุนในต่างประเทศผ่านกองทุนส่วนบุคคลมากขึ้น เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจ การนำเสนอทางเลือกและโอกาสในการสร้างผลตอบแทน ซึ่งหลังจากสถานการณ์การลงทุนในต่างประเทศเริ่มคลีคลายและมีโอกาสลงทุนที่น่าสนใจ ก็พร้อมที่จะออกไปลงทุนได้ทันที

ทั้งนี้ วิธีการบริหารความเสี่ยง เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีและรักษาระดับผลตอบแทนไม่ให้มีความผันผวนมากเกินไป ซึ่งนอกเหนือจากการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ยังรวมไปถึงการกระจายการลงทุนออกไปในปลายๆ ประเทศด้วย เพื่อไม่ให้กระจุกตัวอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสในการสร้างผลตอบแทนจากประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต ในขณะที่บางประเทศอาจจะอยู่ในช่วงสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหรือมีปัญหาอื่นๆ

"ในปีนี้เศรษฐกิจไทยอาจจะยังไม่ฟื้นตัว แต่ในขณะเดียวกัน เช่น จีน ยังคงตั้งเป้าเศรษฐกิจเติบโตถึง 8% ในปีนี้ ดังนั้น การกระจายการลงทุนออกไปในประเทศที่ยังมีพื้นฐานแกร่งเช่นนี้ จะเป็นโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้น และทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนมีความผันผวนน้อยลง"นายธีรพันธุ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการเปิดเผยตัวเลขเงินลงทุนล่าสุด บริษัทจัดการที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด 10 อันดับแรก ประกอบด้วย อันดับ 1. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด ด้วยเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 39,750.45 ล้านบาท อันดับ 2. บลจ.วรรณ มีจำนวนเงินลงทุนรวม 27,386.13 ล้านบาท อันดับ 3.บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) กับเงินลงทุนรวม 25,235.21 ล้านบาท อันดับ 4. บลจ. ทิสโก้ มีเงินลงทุนอยู่ในพอร์ตทั้งสิ้น 23,848.51 ล้านบาท อันดับ 5. บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) มีเงินลงทุนรวม 15,678.16 ล้านบาท

อันดับ 6. บลจ.ไทยพาณิชย์ กับเงินลงทุนภายใต้การบริหารรวม 6,097.46 ล้านบาท อันดับ 7. บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) จำนวนเงินลงทุน 4,657.88 ล้านบาท อันดับ 8. บลจ. อยุธยา ด้วยเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 4,548.82 ล้านบาท อันดับ 9. บลจ. กรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 3,477.00 ล้านบาทและอันดับ 10 บลจ. อเบอร์ดีน ด้วยจำนวนเงินลงทุนรวม 3,281.16 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากการรายงานข้อมูลดังกล่าว พบว่าในเดือนธันวาคม ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มีเงินลงทุนในพอร์ตลดลงมากที่สุด ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงินที่ลดลงประมาณ 5,555.84 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 90.16% ของพอร์ตทั้งหมด โดยการลดลงดังกล่าวส่งผลให้ล่าสุด ธนาคารกรุงเทพมีเงินลงทุนที่บริหารอยู่เพียง 606.59 ล้านบาทเท่านั้น จากเดิมที่มีอยู่ถึง 6,162.43 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น