xs
xsm
sm
md
lg

ความเสี่ยงที่มาพร้อมวิกฤต บทพิสูจน์ความแกร่งของธุรกิจไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ได้จัดงานสัมมนา "TLCA Annual Risk Management Conference 2009 : บริหารความเสี่ยง เพื่อรับมือวิกฤตเศรษฐกิจ" ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ซึ่งงานสัมนาดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อให้บริษัทจดทะเบียนมีการปรับตัวและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงที่ดี จากวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นจนส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย...ทั้งนี้ ก็เพื่อรับมือความเสี่ยงที่มีต่อผลการดำเนินงานของบริษัทนั่นเอง

โดยงานนี้ เป็นการและเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้ประกอบการในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมพลังงาน ซึ่งมีมาร์เกตแคปใหญ่ที่สุดในสัดส่วน 30% ของตลาดหลักทรัพย์ อุตสาหกรรมค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของประเทศ รวมถึงกองทุนที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ...ซึ่งล้วนแล้วแต่มีมุมมองที่น่าสนใจ และน่าจะเป็นประโยชน์ในการนำไปปรับใช้ในธุรกิจอื่นๆ

ชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU บอกว่า สำหรับแนวทางในการบริหารความเสี่ยงเพื่อรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เราเองมีการทบทวนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งรวมถึงส่วนงานที่ขยายไปในต่างประเทศ ก็จะโอนมาที่หน่วยบริหารความเสี่ยงด้วย โดยบริษัทมีการประชุมคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงทุก 3 เดือน ยกเว้นมีเหตุการณ์สำคัญก็จะมีการหารือเพิ่มเติม ทั้งนี้ ในการประชุมแต่ละครั้ง จะพิจารณาถึงปัจจัยภายนอก ภาพรวมเศรษฐกิจ การเงิน ธุรกิจพลังงานในปัจจุบัน ว่ามีผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทหรือไม่ ซึ่งเราเองถือว่าโชคดี เพราะว่าเงินกู้ส่วนใหญ่อยู่ในสถาบันการเงินไทยที่มีฐานะการเงินดี รวมถึงสถาบันการเงินในเอเชีย ยุโรป โดยไม่มีการกู้เงินกับสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ที่มีปัญหา ดังนั้น เราจึงได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยในแง่ของแหล่งเงินทุน

ทั้งนี้ จากความไม่แน่นอนดังกล่าว ทำให้เราตัดสินใจอยู่นิ่งไปก่อน โดยในช่วงไตรมาส 1 ของหรืออย่างน้อยยาวไปถึงช่วงกลางปีนี้ บริษัทจะยังไม่ขยับอะไรมากนัก เพราะยังไม่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยในขณะนี้ จะถึงจุดต่ำสุดแล้ว ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้น เราไม่เชื่อว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวในรูปตัววี (V) แต่มองว่าจะเป็นลักษณะตัวยู (U) มากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้คงต้องติดตามดูต่อไปว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึงจีนและรัฐบาลไทยเอง จะออกมาอย่างไรบ้าง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคาดเดาได้ยากว่าจะลงลึกแค่ไหน หรือจะฟื้นกลับมาเมื่อไหร่

โดยในระยะนี้ เราจะให้ความสำคัญกับมูลค่าของสินทรัพย์และกระแสเงินสดเป็นหลัก ทั้งภาพรวมในปัจจุบันและแนวทางที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต เนื่องจากสินทรัพย์มีการปรับราคาทั่วโลก ซึ่งภายในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ บริษัทจะกลับมาพิจารณาตัวเลขเหล่านี้อีกครั้ง ว่าสินทรัพย์ที่มีอยู่ ควรมีอยู่ต่อไปหรือไม่ หรือในส่วนที่ราคาดีก็อาจจะปรับเปลี่ยนไปถือสินทรัพย์ที่ราคาต่ำกว่า เพื่อโอกาสที่ดีในระยะยาว

"สิ่งที่เป็นห่วงในขณะนี้ คือเรื่องของสภาพคล่องของโลก ว่ายังแข็งแรงดีอยู่หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญในการที่รักษาสภาพคล่องเอาไว้ แต่ในระยะต่อไป จะเป็นความเสี่ยงของภาคเศรษฐกิจที่จะกระทบต่อภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้า ราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย ซึ่งในปีนี้ เราไม่ห่วงมากนัก แต่เป็นห่วงปี 2553 และปี 2554 มากกว่า เพราะยังไม่รู้ว่าถึงเวลานั้นแล้ว เศรษฐกิจจะแย่ไปถึงไหนและจะฟื้นตัวได้เร็วแค่ไหน"นายชนินท์กล่าว

เทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า ในช่วงที่เกิดวิกฤตทางการเงินมีเหตุการณ์หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก ทำให้บริษัทต้องกลับมาดูแผนงานบริหารความเสี่ยงที่วางไว้ในช่วง 5 ปี (2552-2556) ข้างหน้าใหม่ โดยสิ่งที่เราทำคือ วางแนวทางไว้ 3 รูปแบบ เพื่อให้สมดุลกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ โดยในแนวทางทั้ง 3 แนวทางนั้นก็ได้วางแผนงานรองรับทั้ง 3 รูปแบบเช่นกัน

นอกเหนือจากนั้น บริษัทยังวางเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาวเอาไว้ด้วย โดยเป้าหมายระยะสั้น คือเรื่องของสภาพคล่อง ซึ่งในส่วนนี้ ต้องบวกการลงทุนเข้าไปด้วย เพราะถ้าไม่มีการลงทุนก็จะเป็นการเสียโอกาสทางธุรกิจในระยะยาว ดังนั้น ในการกำหนดเป้าหมายต้องมีความสมดุลกันระหว่างเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวด้วย

เขาเล่าว่า ในช่วงที่ผ่านมา ภาพรวมธุรกิจพลังงานได้รับผลกระทบ 3 เรื่องด้วยกัน คือ ปัญหาทางการเงิน ซึ่งเกิดจากการมีหนี้เสียเพิ่มขึ้นจนส่งผลทำให้การเงินตึงตัว และ กระทบต่อเงินกู้เพื่อขยายธุรกิจ ปัญหาที่ 2 คือ ปัญหาเศรษฐกิจ ที่ส่งผลต่ออำนาจการใช้จ่าย การบริโภค และต่อเนื่องไปถึงความต้องการขายสินค้าลดลง ทำให้รายได้เข้าบริษัทน้อยลง และทำให้การขยายธุรกิจได้น้อยลงด้วย

ปัญหาสุดท้าย คือ ความผันผวนของราคาพลังงาน ซึ่งในช่วงปี 2551 ที่ผ่านมา มีความผันผวนค่อนข้างมาก โดยราคาปรับขึ้นไปถึง 147 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จาก 80 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงต้นปี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วดังกล่าวส่งผลต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ทำให้มีต้นทุนที่คาดเดาได้ยาก

วิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า หัวใจของระบบบริหารความเสี่ยงในตอนนี้คือ ต้องมีระบบบริหารจัดการเงินที่ดี เพราะหลังจากนี้โอกาสที่จะมีสถาบันการเงินมารองรับพอร์ตการลงทุนของเราเหมือนแต่ก่อนอาจจะมีน้อยลง ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ การปรับช่องทางการลงทุนใหม่ๆ ต้องเกิดขึ้นด้วย ไม่ใช่หยุดการลงทุนเอาไว้แล้วถือเงินสดเอาไว้อย่างเดียว

"ปีที่แล้วถือเป็นบทเรียนสำหรับทุกหน่วยงาน เพราะไม่มีใครคิดว่าเดือนกันยายนและเดือนตุลาคม ตลาดหุ้นทั่วโลกจะตกไปถึง 30% ดังนั้น เมื่อมีประสบการณ์แล้ว ก็สามารถระบุความเสี่ยงที่ใช้ในการบริการกองทุนได้กว้างขึ้น"

ทั้งนี้ ในส่วนของการลงทุนของกบข.เอง ปัจจุบัน มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นทั้งหมดประมาณ 14-15% โดยเป็นสัดส่วนการลงทุนในหุ้นต่างประเทศประมาณ 7% จากกรอบการลงทุนในระดับ 8-9% ส่วนจะลงทุนเพิ่มอีกหรือไม่นั้น เราเองกำลังติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดอยู่ โดยจะให้ความสำคัญในการดูบริษัทจดทะเบียนว่าจะจัดการอย่างไรกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ ต้องรอดูว่าหุ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศจะถึงจุดต่ำสุดเมื่อไหร่ ซึ่งตอนนี้ยังไม่สามารถตอบได้

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในปีนี้ต้องระมัดระวัง เพราะเราเองยังไม่รู้ว่า ณ ราคาในปัจจุบันมันได้สะท้อนผลกระทบจากวิกฤตหรือยัง ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่มีใครสามารถตอบได้เช่นกัน ทั้งนี้ กบข.ได้ปรับสัดส่วนการลงทุนใหม่ทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งรวมถึงโครงสร้างธุรกิจ และโครงสร้างทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

นริศ เชยกลิ่น รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินและบัญชี และสายงานบริหารทรัพย์สิน บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะต้องประเมินความเสี่ยง คือ ข้อมูลข่าวสาร ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้เราเอง ต้องให้ความสำคัญในการติดตามข่าวสาร เพื่อให้รู้ว่าบ้านเมืองเป็นยังไงแล้ว ในขณะเดียวกัน ก็ต้องดูเรื่องของกฎหมายควบคู่ไปด้วย ซึ่งเราเองเป็นธุรกิจค้าปลีก ต้องศึกษาข้อมูลความเสี่ยงในธุรกิจ รวมถึงคุยกับองค์กร พร้อมทั้งปรับแผนและวางแผนระยะยาวว่าจะให้ไปทางไหน ซึ่งปัจจัยเหล่านนี้ จะช่วยให้เราปรับตัวรับความเสี่ยงและวิกฤตได้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม มาตรการในระยะสั้นก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องของการเงินและการปรับตัวในธุรกิจ กล่าวคือ อาจจะต้องมีการออกมาตรการระยะสั้น เพื่อสร้างรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมายในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ซึ่งเรื่องนี้จะต้องรวดเร็ว ทั้งการแก้ปัญหาและเป้าหมาย หากดูแนวโน้มว่าทำไม่ได้ ก็ต้องรีบปรับให้ทัน

"นอกเหนือไปจากนั้น ความเข้มแข้งขององค์กร และสภาพการเงินก็สำคัญ ซึ่งเรื่องนี้เองถือเป็นของคู่กัน เพราะถ้าไม่มีเงิน แต่ให้ธุรกิจแข้มแข็งก็ไปไม่ได้"

เขากล่าวว่า ในเรื่องของผลกระทบระยะยาว จากเดิมที่เราตั้งเป้าไว้ว่าจะขยายสาขาให้ได้ 18 ในขณะนี้ทำไปได้แล้ว 10 แห่ง ซึ่งในปีนี้ เราวางแผนจะเพิ่มอีก 4 แห่ง ส่วนที่เหลืออีก 4 แห่งตามแผน ยังต้องรอดูว่าจะเป็นไปตามแผนหรือไม่ เพราะมีปัจจัยหลายอย่างเปลี่ยนแปลง แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่สามารถขยายธุรกิจได้ สิ่งที่ต้องกลับมาทำคือ ทำให้ธุรกิจที่มีอยู่แข็งแกร่ง เพราะเรามองว่าการที่เราไม่ได้เปิดสาขา ไม่ใช่ว่าเราจะอยู่นิ่ง แต่จะเป็นโอกาสในการกลับมาพัฒนาองค์กรของตัวเองให้แข็งแกร่งมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น