xs
xsm
sm
md
lg

ศก.จีนยังประคองตัวทั้งปี ด้านสิงคโปร์รับพิษส่งออกทรุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลกลางจีนประกาศออกมานั้น ประเมินว่าจะไม่ช่วยให้เศรษฐกิจในระยะสั้นขยายตัวกลับไปอยู่ที่ระดับตัวเลขสองหลักอย่างในเช่น 5 ปีหลังสุดได้ เพียงแต่จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจจีนไม่ให้ชะลอตัวลงแรงมากนัก"

สถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) รายงานสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศจีนว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของจีนในช่วง ไตรมาส4ของปี2551 (Real GDP Growth) ขยายตัวอยู่ที่ระดับ 6.8% ชะลอตัวลงติดต่อกัน 6 ไตรมาส และเป็นการปรับลดลงต่ำที่สุดในรอบกว่า 7 ปี ซึ่งเป็นการลดลงจากไตรมาส 3 ที่ขยายตัว 9% และ 10.6% ในไตรมาสแรก ส่งผลโดยรวมทำให้เศรษฐกิจจีนในช่วงปี 2551 เฉลี่ยแล้วขยายตัวอยู่ที่ระดับ 9.0% โดยภาวะเศรษฐกิจของจีนในช่วงดังกล่าว ได้ตกอยู่ในช่วงของภาวะการชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ซึ่งมีปัจจัยสำคัญจากแรงกดดันจากวิกฤติเศรษฐกิจภายนอกประเทศ ที่ส่งผลให้เกิดผลกระทบกับภาพรวมของเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะในด้านของภาคการส่งออกที่ในช่วง ไตรมาส4ของปีที่ผ่านมา มีการหดตัวลงติดลบถึง -4.8% yoy ในขณะที่ในด้านของภาคการนำเข้ายังคงมีการขยายตัวได้ 7.8% ดังนั้นภาคการค้าต่างประเทศของจีนจึงถือได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลทำให้ GDP ในช่วง ไตรมาส4ของปีที่แล้ว มีการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบกว่า 7 ปี

ทั้งนี้ได้ ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจีนในช่วงปี 2552 คาดว่าจะโดนปัจจัยลบทั้งจากด้านภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนจะมีการขยายตัวได้ต่ำที่สุดในรอบกว่าทศวรรษ โดยมีมุมมองว่าถึงแม้การปรับตัวอยู่ในระดับสูงของดุลการค้าของจีน จะส่งผลดีกับเสถียรภาพทางการเงินของจีนให้ดูจะมีความแข็งแกร่งมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามแล้ว เชื่อว่าจากทิศทางการชะลอตัวลงเร็วเกินคาดของภาคการส่งออกใน 2 เดือนหลังสุด จะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนในช่วงปี 2552 จะได้รับผลกระทบในทิศทางที่เป็นลบเพิ่มมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เนื่องจาก มองว่านอกจากผลกระทบโดยตรงจากการลดลงของภาคการส่งออกแล้ว ยังคาดว่าการชะลอตัวของภาคการส่งออกจะส่งผลกระทบสืบเนื่องไปถึงภาคอุปสงค์ในประเทศให้มีการปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกัน อันเนื่องมาจากการไหลเวียนของเม็ดเงินในระบบที่ได้จากการส่งออกหดหายไป ซึ่งจะส่งผลให้ภาพรวมของภาคการบริโภคของจีนในช่วงปี 2552 จะค่อยๆชะลอตัวลงไปเติบโตอยู่ในระดับตัวเลขหลักเดียวเท่านั้น หลังจากที่ขยายตัวในระดับตัวเลขสองหลักมาโดยตลอดตั้งแต่ในช่วงปี 2546
ขณะที่ในด้านของตัวมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลกลางจีนประกาศออกมาทางสถาบันวิจัย ยังคงประเมินว่าจะไม่ช่วยให้เศรษฐกิจในระยะสั้นขยายตัวกลับไปอยู่ที่ระดับตัวเลขสองหลักอย่างในเช่น 5 ปีหลังสุดได้ เพียงแต่จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวลงแรงมากนัก ซึ่งโดยรวมแล้วจากปัจจัยทั้งหมดจะกดดันให้แนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนในโดยตลอดในปี 2552 มีโอกาสที่จะขยายตัวได้ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยล่าสุดทางธนาคารโลกได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2552 ลงเหลือ 7.5% จากระดับเดิมที่ 9.2% ซึ่งยังเชื่อว่าในช่วงถัดไปจะมีการออกมาประกาศปรับลดการคาดการณ์ของเศรษฐกิจจีนลงอีกหลังจากตัวเลขในหลายๆส่วนชะลอตัวลงเร็วเกินคาดการณ์

ศก.สิงคโปร์อาจหดตัวมากที่สุดในประวัติศาสตร์

ขณะเดียวกันสถาบันวิจัยนครหลวงไทย ได้รายงานสถานการณเศรษฐกิจของประเทศสิงคโปร์ว่า จากการที่สิงคโปร์ประกาศตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจใน ไตรมาส4ของปีที่ผ่านมา โดยหดตัวลงที่ 3.7 % yoy นอกจากนี้ กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (MTI) ของสิงคโปร์ได้ประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2552 ว่าอาจจะหดตัวที่ -5 %ถึง -2 % ซึ่งหากอัตราการขยายตัวของ GDP ในปี 2552 ของสิงคโปร์ หดตัวที่ 5 % จริงจะถือว่าเป็นอัตราการขยายตัวของ GDP ที่หดตัวลงมากที่สุดในประวัติศาสตร์สิงคโปร์

ทั้งนี้ มีความเห็นว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์มีความเป็นไปได้ที่จะหดตัวภายใต้กรอบที่ MTI ประเมิน และทางสถาบันวิจัยยัง ประเมินว่า สิงคโปร์ อาจใช้โยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคาดว่าสิงคโปร์อาจจะขยายช่วงของอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สิงคโปร์ต่อดอลลาร์สหรัฐฯให้อัตราแลกเปลี่ยนของสิงคโปร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตามมองว่าประสิทธิผลของนโยบายดังกล่าวมีจำกัดเพราะว่าสภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยอย่างรุนแรงนี้จะทำให้กำลังซื้อของสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปลดลงซึ่งประเทศดังกล่าวล้วนเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของสิงคโปร์ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ยังประเมินด้วยว่า ประเทศคู่แข่งทางการค้าอื่นๆมีแนวโน้มที่จะลดค่าเงินตามในอนาคต อาทิ จีน ผนวกกับมีความเป็นไปได้ที่ ประเทศแถบอาเซียนและประเทศอื่นๆที่เน้นยุทธศาสตร์การขยายตัวทางเศรษฐกิจด้วยการส่งออก (Export led growth) จะหันมาใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าเช่นกันและการที่ในระยะยาวค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯและค่าเงินยูโรจะอ่อนค่าเพื่อสะท้อนถึงพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอและงบประมาณสหรัฐฯและสหภาพยุโรปที่ต้องขาดดุลเป็นจำนวนมากอันเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ จึงคาดว่าการใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าของสิงคโปร์จะได้ประสิทธิผลที่น้อยลง
กำลังโหลดความคิดเห็น