xs
xsm
sm
md
lg

ติดตามข่าวสารรับรู้สถานการณ์ สิ่งจำเป็นหากเงินทองต้องลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจรวมถึงเรื่องของการลงทุนในขณะนี้ยังมีความไม่แน่นอนและดูเหมือนว่าจะไปในทิศทางที่แย่ลงด้วยซํ้า ทำให้การคาดการณ์เรื่องของการลงทุนและเรื่องเงินๆทองๆทำได้ยากขึ้นซึ่งคงได้แต่รอให้สถานการณ์กลับมาสู่ภาวะปกติได้เร็วเท่านั้น แต่การติดตามข่าวสารยังเป็นเรื่องจำเป็นอยู่ในสถานกาณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้

จากการเปิดเผยรายงานของ สถาบันวิจัยนครหลวงไทย ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตสถาบันการเงิน ตั่งแต่เกิดวิกฤตจนถึงในขณะนี้ โดยระบุว่า ตัวเลขชาวอเมริกันที่ขอรับสวัสดิการในระหว่างว่างงานในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 15 พ.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีก 27,000 ราย ไปอยู่ที่ระดับระดับ 542,000 ราย ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี จากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 515,000 ราย ขณะที่ตัวเลขขอรับสวัสดิการว่างงานเฉลี่ย 4 สัปดาห์ พุ่งขึ้นแตะระดับ 506,500 ราย ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 25 ปี

โดยตัวเลขการขอรับสวัสดิการการว่างงานที่ปรับเพิ่มขึ้นเกินคาด สะท้อนให้เห็นว่าตลาดแรงงานของสหรัฐฯกำลังตกอยู่ในสภาวะตึงตัวอย่างหนัก โดยจากที่ในช่วงก่อนหน้าสัญญาณโดยรวมของภาคการจ้างงานในสหรัฐฯก็มีแนวโน้มที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว จากตัวเลขอัตราการว่างงานเดือนต.ค. 2551 ที่เพิ่มขึ้น 0.4% ไปอยู่ที่ระดับ 6.5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 14 ปีครึ่ง และตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตร (non farm payroll) เดือนต.ค. 2551 ที่ลดลงอีก 240,000 ตำแหน่ง ซึ่งทั้งหมดส่งผลให้ทิศทางของตลาดแรงงานในสหรัฐฯในปัจจุบันกำลังตกอยู่ในภาวะซบเซาอย่างมาก ซึ่งแนวโน้มในภาคการจ้างงานของสหรัฐฯ มีการประเมิณว่าจะยังคงจะตกอยู่ในภาวะการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะคาดว่าจะยังคงมีบริษัทหลายแห่งที่จะประกาศล้มละลาย หรือลดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากสถิติในอดีตแล้วจากวิกฤติเศรษฐกิจในรอบที่แล้วของสหรัฐฯ ในช่วงปี 2543 – 2545 (IT bubble-burst crisis) ปรากฏว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร มีการปรับลดลงไปติดต่อกันถึง 15 เดือน และหลังจากนั้นตัวเลขการจ้างงานก็ยังคงขาดเสถียรภาพต่อเนื่องไปยาวนานอีกไม่ต่ำกว่า 1 ปี

ดังนั้นแล้วเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ของสหรัฐฯ ที่คาดว่ามีขนาดของปัญหาใหญ่กว่าวิกฤตเศรษฐกิจในรอบที่แล้วมาก จึงมีมุมมองเป็นลบต่อภาคการจ้างงานของสหรัฐฯว่าจะยังคงมีการถดถอยลงอีกอย่างต่อเนื่องยาวไปจนถึงช่วงปี 2552 ซึ่งถือได้ว่าเป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ชัดเจนอย่างหนึ่งของภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯว่ายังคงไม่พ้นจากภาวะการถดถอยในเร็ววันนี้

สถาบันวิจัยนครหลวงไทย ประเมินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลกลางสหรัฐฯในช่วงต่อไป คาดว่าจะเป็นการลงไปเข้าช่วยเหลือภาคธุรกิจการผลิตและบริการในประเทศที่กำลังประสบปัญหาการชะลอตัวอย่างหนัก โดยประเมินว่าหลังจากที่ตัวเลขของภาคอุปทานในสหรัฐฯ ซึ่งดัชนีในภาคการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมและการบริการ (ISM Manufacturing & ISM Non-Manufacturing Index) ส่งสัญญาณชะลอตัวลงอย่างชัดเจนในช่วงเดือนที่ผ่านมา

โดยในช่วงถัดไปอาจจะเกิดการปรับลดคนงาน ในภาคการผลิตและบริการต่างๆลง เพื่อลดต้นทุนในการผลิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤติในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐฯ ที่กำลังส่งสัญญาณชะลอตัวลงอย่างหนัก ดังนั้นแล้วทางรัฐบาลกลางสหรัฐฯคงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเข้าไปช่วยเหลือโดยตรง เนื่องจากว่าถ้าในกรณีที่มีการปล่อยให้บริษัทมีการปลดคนงานในภาคการผลิตต่างๆลง คาดว่าจะส่งผลทำให้การแก้ไขปัญหาโดยรวมจะยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น และอาจจะตามมาด้วยการส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปสู่ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมให้มีการชะลอตัวลงอย่างรุนแรงมากกว่าคาดการณ์ของหลายๆฝ่ายอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ในมุมมองต่อวิกฤตการทางเงินที่เกิดขึ้น ซึ่งประเมินจากดัชนีชี้วัดต่างๆ พบว่า ความผันผวนในตลาดทุน และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งดัชนีชี้วัดความกังวลต่างๆ ปรับเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ ในขณะที่การปรับพอร์ตของกองทุนกลับไปให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นใน สินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย อาทิ ตลาดพันธบัตรรัฐบาล อย่างไรก็ดี การปรับลดลงของดัชนีตลาดหุ้นในครั้งนี้ ในส่วนของ อัตราผลตอบแทนในตลาดเงินระยะสั้น (LIBOR) ไม่ได้กลับไปเคลื่อนไหวผันผวนดังเช่นในช่วงที่กลุ่มสถาบันการเงินประสบปัญหา ซึ่งทำให้ประเมินว่าปัจจัยหลักของการผันผวน เกิดจากการความกังวลต่อเศรษฐกิจชะลอตัว และ การขาดความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ขณะเดียวกัน ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีปฏิกิริยาอย่างแข็งขันในการรับมือภาวะเศรษฐกิจถดถอยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในอาเซียนโดยได้เข้าร่วมกับธนาคารกลางสหรัฐฯหรือFed ในโครงการ SWAP Line โดยโครงการดังกล่าวนี้ Fed ได้จัดสรรวงเงิน 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แก่ ธนาคารกลาง 4 ชาติได้แก่ บราซิล เม็กซิโก เกาหลีใต้และสิงคโปร์ จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2552 เพื่อแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องสกุลเงินดอลลาร์

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังได้เตรียมงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจ 5-6 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 3,300-3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในโครงการลงทุนภาครัฐระยะยาวทางด้านการศึกษา โครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานและการวิจัยและพัฒนา

เนื่องจากประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศเมืองท่าที่เน้นการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งจำนวนประชากรมีค่อนข้างต่ำโดยอยู่ที่ประมาณ 4.6 ล้านคน การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังของสิงคโปร์นั้นไม่น่าจะมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคาดการณ์ว่านโยบายที่น่าจะได้ผลเมื่อเทียบกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆของสิงคโปร์ น่าจะเป็นนโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยน ที่คาดว่า สิงคโปร์อาจจะขยายช่วงของอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สิงคโปร์ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ให้อัตราแลกเปลี่ยนของสิงคโปร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม สภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยอย่างรุนแรงนี้จะทำให้กำลังซื้อของสหรัฐ ฯ ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปลดลง โดยประเทศดังกล่าวล้วนเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของสิงคโปร์ทั้งสิ้น ขณะที่ ประเทศคู่แข่งทางการค้าอื่นๆ ในอนาคตมีแนวโน้มที่จะลดค่าเงินตามเช่นกันอาทิ ประเทศในแถบอาเซียน จีน อินเดีย รัสเซีย เป็นต้น

ที่สำคัญ ในระยะยาว ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ นั้นจะอ่อนค่าเพื่อสะท้อนถึงพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอและงบประมาณสหรัฐฯ ที่ขาดดุลมหาศาล ด้วยเหตุนี้การใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าจึงอาจจะได้ประสิทธิผลที่น้อยลง

ภายหลังจากที่เกิดวิกฤตสถาบันการเงินขึ้นมาเราจะเห็นถึงการพยามของประเทศต่างๆโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกากับบรรดาประเทศในยุโรปในการที่จะยับยั้งวิกฤตครั้งนี้ไม่ให้รุนแรงมากรวมถึงความพยายามในการที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศตนเองฟื้นตัวในรูปแบบต่างๆ ซึ่งในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ ีการดำเนินเรื่องดังกล่าวไม่ว่าจะเป็น เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ธนาคารกลางอินเดียทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.5% ไปอยู่ที่ระดับ 7.5% และยังปรับการกันสำรองเงินสดของธนาคารพาณิชย์ลงอีก 1% หรือเมื่อวันที่ 3 พ.ย. รัฐบาลเกาหลีใต้ ประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 14 ล้านล้านวอน โดยวงเงิน 2 ใน 3 จะเป็นการกระตุ้นการใช้จ่าย ของภาครัฐ ในสาธารณูปโภคพื้นฐาน สนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก ดูแลสวัสดิการประชาชนผู้มีรายได้น้อย รวมถึงเมื่อวันที่ 6พ.ย. ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 1.5% มาอยู่ที่ระดับ 3.0 % มากกว่าที่ตลาดคาดไว้ ส่วนสำหรับธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.5% มาอยู่ที่ 3.25% และ ธนาคารกลางสวิตซ์เซอร์แลน ก็ประกาศลดดอกเบี้ยฉุกเฉินอีก 0.5% เช่นกัน

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ธนาคารเกาหลีใต้ประชุมอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% โดยเป็นการปรับลดลงครั้งที่ 3 ในรอบ 1 เดือน ตามาด้วยเมื่อวันที่ 9.พ.ย. กลุ่ม G20 ได้ทำการประชุมกันเพื่อหามาตรการช่วยเหลือจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่วนประเทศจีนก็ประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินครั้งใหญ่วงเงิน 586,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งเป็นแผนการใช้งบประมาณช่วงปี 2551-2553 ผ่านการใช้งบประมาณในการสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและช่วยเหลือประชาชนยากจน รวมถึงการลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ของธนาคารกลางไต้หวันมาอยู่ที่ระดับ 2.75%

มาจนถึงเมื่อวันที่ 13 พ.ย. ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ 890 ล้านฟรังก์สวิส (ประมาณ 753 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)และอาจจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในปีหน้าถ้าแนวโน้มเศรษฐกิจยังคงชะลอตัว และที่น่าสนใจคือเมื่อวันที่ 15พ.ย. กลุ่ม G-20 ได้แถลงผลการประชุมหารือ คือ สนับสนุนให้แต่ละชาติดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (การลดอัตราดอกเบี้ย) และนโยบายการคลังแบบขยายตัว (การตั้งงบประมาณรัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ) และยังเตรียมร่างระเบียบเพื่อกำกับดูแลภาคการเงินโลกให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 31 มี.ค. 2552 เพื่อใช้ในการประชุมสุดยอดผู้นำโลก G-20 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 30 เม.ย. 2552 ที่อังกฤษ

สถานกาณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้ยังไม่สามารถทราบได้ว่าจะหยุดลงเมื่อใดและผลกระทบจะขยายวงกว้างอกไปถึงระดับไหน และประเทศไทยจะได้รับผลกระทบนั้นมากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ทั้งนั้น การประเมิณสถานการณืและติดตามข่าวสารอยู่ตลอดเวลาถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะนักลงทุนทุกท่านที่ต้องมีข้อมูลอยู่ในมือตลอดเวลา

ที่มาสถาบันวิจัยนครหลวงไทย

กำลังโหลดความคิดเห็น