xs
xsm
sm
md
lg

12กระบวนการช่วยคิด พิจารณาเลือกซื้อกองทุนรวม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การลงทุนในกองทุนรวมในปัจจุบันนี้ถือว่า ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มขึ้นมาอย่างมาก โดยสังเกตุได้จากการที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ต่างๆได้มีการเปิดเสนอขายกองทุนรวมต่างๆมากมายมาให้นักลงทุนได้เลือกสรรลงทุนไม่ขาดสาย อีกทั้งยอดการเติบโตที่เพิ่มขึ้นของกองทุนที่ประกาศออกมาในแต่ละปี พบว่าเม็ดเงินในระบบมีการขยายตัวทุกปี แต่ทั้งนี้ นักลงทุนบางท่านที่สนใจลงทุนในกองทุนรวม แต่ไม่มีความรู้ในด้านของข้อมูลกองทุนรวมว่าจะเลือกลงทุนในกองทุนอย่างไรนั้น ก็ยังมีอีกหลายราย

ปัจจุบันนี้ ทีมงานจะนิยมนำข่าวสาร - มุมมองความเคลื่อนไหวในสถานการณ์ปัจจุบันมานำเสนอให้นักลงทุนได้รับทราบเสมอ แต่ครั้งนี้ขอนำเสนอข้อมูลจากบลจ.ฟินันซ่า ที่นำเสนอแนวทางการเลือกซื้อกองทุนรวม เพื่อให้นักลงทุนที่เริ่มสนใจลงทุนในกองทุนรวม หรือนักลงทุนรายใหม่ทุกท่านได้ใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุนในอนาคต ซึ่งมีข้อเสนอแนวทางหรือวิธีการอย่างง่ายๆ12 ข้อสำหรับตัดสินใจลงทุน

1. ต้องรู้ด้วยตัวเองว่ากองทุนประเภทไหนที่เหมาะกับตัวท่าน (Types of Funds)
โดยหากหยิบหนังสือพิมพ์ธุรกิจรายวันมาเปิดดูรายชื่อกองทุนรวมจะเห็นชื่อ และประเภทกองทุนมากมายหลายตาไปหมด ชื่อเหล่านี้มักจะเป็นคำที่กว้างๆ เพราะตอนนี้มีการจัดตั้งกองทุนอยู่ทั้งหมดราว 500 กองทุน

2. เลือกซื้อกองทุนตามความต้องการ(Choose funds that suit your needs)
สำหรับประเภทกองทุนรวมสามารถจัดให้แคบลงมาเหลือแค่ 3 ประเภท คือกองทุนหุ้น หรือกองทุนตราสารทุน (Equity Funds)กองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในพันธบัตรหรือหุ้นกู้ต่างๆ และกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นที่ลงทุนในเงินฝากหรือตั๋วเงินที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี โดยมีจุดต่างกันคือเรื่องของความเสี่ยงและผลตอบแทน ทั้งนี้การเลือกลงทุนในกองทุนต้องประเมินว่าจะให้น้ำหนักในเรื่องของอัตราผลตอบแทนหรือความเสี่ยง และแผนการกระจายสินทรัพย์ของตัวท่านเอง (Asset Allocation)

3. ระวังเรื่องผลงานในอดีต (Beware of past performance)
ในส่วนของผลดำเนินงานในอดีตของกองทุนหรือ Track Record ซึ่งแม้จะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ ทว่าอาจจะชวนให้เข้าใจผิดในการประเมินวิธีการทำงานของผู้จัดการกองทุนได้ โดยตามหลักแล้วกองทุนที่ผลดำเนินงานในอดีตมีอัตราผลตอบแทนดีกว่าผลตอบแทนของดัชนีตลาดที่มีการนำมาใช้เปรียบเทียบด้วยนั้น ในระยะยาวหรือเมื่อกาลเวลาผ่านไป ผลตอบแทนของกองทุนดังกล่าวมักจะอยู่ในระดับต่ำกว่าดัชนีตลาด สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะการที่จะได้ผลตอบแทนสูงๆ นั้น ผู้จัดการกองทุนก็ต้องลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง จึงจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ดัชนีของตลาดที่เอามาเปรียบเทียบ

4. ควรมองหากองทุนที่ให้ผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอติดต่อกันเป็นเวลานาน (Long-term, Consistency)
นักลงทุนควรดูตัวเลขผลตอบแทนของกองทุนอย่างน้อยที่สุด 3 ปีย้อนหลัง หรือจะให้ดีก็ดูย้อนไปถึง 5 ปี โดยต้องเปรียบเทียบกองทุนที่อยู่ในประเภทเดียวกัน ไม่ใช่เอากองหุ้นไปเทียบกับกอง ตราสารหนี้ เพราะกองทุนสองประเภทนี้มีเป้าหมายการลงทุน และนโยบาย ความเสี่ยงที่แตกต่างกัน

5. ให้ระวังเรื่องผลตอบแทนที่เย้ายวนใจและอันดับความเสี่ยง (Beware of tempting yield and credit risk !!!)
กรณีที่เป็นกองทุนตราสารหนี้ เนื่องจากตลาดตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ในประเทศเพิ่งจะจัดตั้งได้ไม่กี่ปีและมีสภาพคล่องน้อย ดังนั้น ราคาหุ้นกู้บางตัวในตลาดจะมีความผันผวนสูงและเป็นราคาที่ไม่ถือว่าสะท้อนความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง โดยนักลงทุนจะเน้นในเรื่องของความมั่นคงและอัตราผลตอบแทนในระดับสูง ดังนั้นจึงมีบริษัทจัดการบางแห่งที่ทำทุกอย่างเพื่อให้มีตัวเลข อัตราผลตอบแทนดีๆ ซึ่งพวกเขาไม่สนใจว่าตราสารอนุพันธ์ที่ซื้อลงทุนไว้ในพอร์ตจะมีอันดับความเสี่ยงสูงและสภาพคล่องที่จะซื้อขายเปลี่ยนมือก็อยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม เทคนิคในการที่จะเพิ่มตัวเลขผลตอบแทนนี้อาจจะได้ผลคุ้มค่าหรือไม่คุ้มเลยก็ได้

6.ดูสภาพคล่องและอายุของตราสารด้วยความระมัดระวัง (Look carefully at maturities & liquidity !!)
เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมากองทุนตราสารหนี้ระยะยาวมีประวัติการทำผลตอบแทนได้สูง แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่จะดำรงอยู่ตลอดไป โดยเฉพาะเมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลงต่ำมากเป็นประวัติการณ์ในตอนนี้และจริงๆ แล้วกองทุนตราสารหนี้ที่มี อายุของตราสารที่ถือลงทุนอยู่ ยังเหลืออีกนานมากนั้น จะมีความผันผวน เรื่องราคาสูงมาก ถ้าอัตราดอกเบี้ยหันทิศกลับ โดยเพิ่มขึ้นแค่ 1% เท่านั้น กองทุน ประเภทนี้จะถูกผลกระทบอย่างหนัก โดยผลตอบแทนจะลดลง 10% หรือมากกว่านั้น ทำให้ดอกเบี้ยที่สะสมมามากกว่าปี สูญหายไปในพริบตา ซึ่งการรับมือกับเหตุการณ์เช่นนี้ได้ให้คิดว่าจะลงทุนระยะยาว และนี่ก็เป็นความผันผวนในช่วงสั้นๆ ที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ถ้ามีเป้าการลงทุนที่สั้นกว่า นั้น เช่น 2 ปีหรือน้อยกว่านี้ ควรจะแบ่งเงินออกมาแล้วไปซื้อกองทุน ที่ถือตราสารระยะสั้น จะทำให้สามารถหาผลตอบแทนได้ถึง 75% - 80% จากกองทุนตราสารหนี้ระยะยาว โดยมีความผันผวนน้อยกว่าประมาณ 40% นอกจากเรื่องอายุของตราสารแล้วประเด็นเรื่องสภาพคล่องในการซื้อขาย เปลี่ยนมือก็เป็นเรื่องที่ต้องระวังเช่นกัน ลักษณะของกองทุนตราสารหนี้ส่วนมาก ที่จัดตั้งขึ้นในเวลานี้จะเป็นแบบกองทุนเปิดที่ขายให้นักลงทุนทั่วไป นั่นหมายความ ว่านักลงทุนสามารถซื้อขายกองทุนได้ทุกวันทำการ โดยบางกองทุนไม่ต้องเสียค่า ธรรมเนียมซื้อ-ขายด้วย ถือเป็นเรื่องที่สะดวกมากสำหรับนักลงทุน

7.พิจารณาสไตล์การลงทุนของผู้จัดการกองทุนด้วย (Consider investment styles)
นักลงทุนจำนวนมากจะพบว่าหน้าตาของกองทุนเหล่านี้ก็ดูเหมือนๆ กัน คือต่างบริหารภายใต้กฎระเบียบและข้อจำกัดที่คล้ายคลึงกัน มีพอร์ตการลงทุนเหมือนๆ กัน แต่จะมีจุดหนึ่งที่นักลงทุนอาจมองไม่เห็น คือ สไตล์การลงทุนของผู้จัดการกองทุน โดยบางคนเน้นเรื่องตัวเลขหรือการทำกำไรมาก (aggressive) บางคนประเมินมูลค่าการลงทุน (value investing) และบางคนเก่งในเรื่องการ ซื้อๆ ขายๆ หุ้น (trading) หรือตราสาร

8.ระวังในเรื่องขนาดของสินทรัพย์ (Beware of asset size)
ขณะเดียวกันขนาดของสินทรัพย์เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณา เพราะมีผลกระทบต่อการดำเนินงานของกองทุน โดย กองทุนที่มีขนาดสินทรัพย์น้อยกว่า 100 ล้านบาทถือว่า มีขนาดเล็กเกินไป เพราะเมื่อดูตัวเลขค่าใช้จ่ายต่างๆ ของกองทุนแล้ว จะพบว่าไม่เกิดการประหยัดในเรื่องของขนาดกองทุน ก็คือค่าใช้จ่ายจะมีจำนวนสูงเมื่อเทียบออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ แต่ในอีกสุดขั้วหนึ่งนั้น หากกองทุนมีขนาดของสินทรัพย์เกินกว่า 15,000 ล้านบาท ก็ถือว่าใหญ่เกินไปเมื่อเทียบกับขนาดของตลาดการเงินไทย ประเด็นนี้ เป็นเรื่องจริง เพราะภายใต้เงื่อนไขแวดล้อมต่างๆ ตอนนี้บริษัทที่ออก ตราสารหนี้ชั้นดีหาได้ยากมาก นั่นหมายความว่าตราสารดีๆ ที่ผู้จัดการกองทุน จะซื้อหามาลงทุนก็มีน้อยด้วย

9. คอยตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายที่ถูกซุกซ่อนไว้ (Look for hidden expense)
โดยค่าใช้จ่ายของกองทุนมีผลต่ออัตราผลตอบแทนของนักลงทุนโดยตรง ในส่วนของกองทุนหุ้นที่ค่อนข้างแอคทีฟจะคิดค่าธรรมเนียมการจัดการปีละ 1 - 1.5% ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุน ขณะที่กองทุนหุ้นที่เคลื่อนไหวตามการ เปลี่ยนแปลงของดัชนีจะคิดค่าธรรมเนียมการจัดการไม่เกิน 0.75% แต่ในส่วน ของกองทุนตราสารหนี้นั้นจะคิดค่าธรรมเนียมต่ำกว่ากองทุนหุ้น ปีละ 0.5% - 0.75% เท่านั้น
นอกจากดูค่าใช้จ่ายในส่วนที่เป็นค่าธรรมเนียมการจัดการรายปี และอัตราส่วนค่าใช้จ่ายรวม หรือที่เรียกว่า Total Expense Ratio (TER) ซึ่งเป็นตัวเลขรวมของค่าใช้จ่ายทุกรายการที่เกิดขึ้นของกองทุน อย่างไรก็ดี อยากจะชี้ให้เห็นค่าใช้จ่ายที่ถูกซุกซ่อนไว้อีกรายการหนึ่ง ซึ่งเกิดมาจากการซื้อหลักทรัพย์เข้ามาไว้ในพอร์ตลงทุน และการขายหลักทรัพย์นั้นออกไป นักลงทุนสามารถ ตรวจสอบตัวเลขนี้ได้จากอัตราส่วนการซื้อเข้ามาและขายออกไปในพอร์ตโฟลิโอ ของกองทุน(Portfolio turn over ratio) โดยอัตราส่วนตัวนี้จะเป็นเครื่องบ่งชี้ที่ดีว่าหุ้นตัวหนึ่งๆ มีการซื้อขายเข้าออก กี่รอบ อัตราส่วนการเข้าออกหลักทรัพย์ในพอร์ตโฟลิโอ หากน้อยกว่า 100% ถือเป็นระดับปกติ

10. ใครเป็นคนบริหารเงิน? (Who's managing my money?)
เนื่องจากมีบริษัทจัดการจำนวนมากที่ใช้ระบบการตั้งเป็นคณะกรรมการขึ้นมาบริหารจัดการเงินของนักลงทุน หรือเรียกว่าใช้ระบบให้คนหลาย คนมาช่วยกันบริหาร (Investment committee) กระนั้น ผู้จัดการกองทุนทุกคนต้องได้ใบอนุญาตบริหารจัดการ กองทุนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และต้องมีการระบุชัดเจนว่าใครเป็นผู้จัดการกองทุนกองไหน และมีประสบการณ์ บริหารกองทุนมานานเพียงใด มีคุณสมบัติที่เหมาะสมอย่างไรบ้างในการจัดการ กองทุน ผู้จัดการกองทุนที่มีใบอนุญาต CFA หรือเป็นนักวิเคราะห์ทางการเงินระดับสูงจะมีความชำนาญมากกว่าผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตนี้

11. อย่าซื้อกองทุนหลายกองมากเกินไป (Don't own too many funds)
ได้มีรายงานการศึกษาที่จัดทำโดย Morningstar Mutual Funds ในสหรัฐ อเมริกา ซึ่งข้อสรุปว่าการถือหน่วยลงทุนของกองทุนมากกว่า 4 กองขึ้นไปไม่ได้ ช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนแต่อย่างใด ในกรณีของ กองทุนรวมในประเทศนั้น ยังไม่มีการทำรายงานศึกษาในเรื่องนี้ แต่แนวโน้ม ก็ไม่น่าจะแตกต่างไปจากในสหรัฐฯ เท่าใดนัก และก็ไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่จะต้องไปซื้อกองทุนถึง 7-8 กองเพื่อที่จะให้เกิด การกระจายการลงทุน ทางเลือกที่ดีน่าจะเป็นการเลือกกองทุนดีๆ สัก 2-3 กอง หรือซื้อกองทุน Index Fund หรือกองทุนผสม ซึ่งจะช่วยกระจายความเสี่ยง ได้มากกว่า

12. ลงทุนเพื่อระยะยาว (Invest for the long term)
สำหรับกฎข้อสุดท้ายในการเลือกกองทุน หลังจากที่มีความชัดเจนกับเป้าหมายการลงทุนระยะยาว รวมทั้งรู้ว่าจะรับความเสี่ยง ได้มากน้อยแค่ไหน และเลือกผสมกันระหว่างกองทุนที่แอคทีฟกับไม่แอคทีฟมากแต่เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (Index Fund) คราวนี้ก็นั่งพักได้ปล่อยให้ผู้จัดการกองทุนทำงานในส่วนที่ ยากๆ ต่อไปเพื่อหาผลตอบแทน

ขอขอบคุณ : บลจ.ฟินันซ่า
กำลังโหลดความคิดเห็น