สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้จัดทำบทวิเคราะห์เกี่ยวกับภาคการส่งออกในปีที่ผ่านมา เเละเเนวโน้มในปี 2552 นี้ โดยภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอย่างมากจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในช่วงปี 2551 วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาได้ลุกลามไปยังภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจจริงในสหรัฐอมริกา ซึ่งต่อมาได้ขยายวงเป็นปัญหาวิกฤตการทางการเงินและวิกฤตเศรษฐกิจของโลกเศรษฐกิจไทยเองก็ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าและบริการกว่า70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และ75% ของการส่งออกเป็นสินค้าอุตสาหกรรม
โดยผลกระทบวิกฤตการณ์ได้สะท้อนมายังการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมที่แท้จริง (Real GDP) ที่มีอัตราชะลอลงต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ที่ขยายตัวถึง 6.0% ต่อปีและชะลอลงในไตรมาส 2 และ 3 เหลือเพียง 5.3% และ 4.0 ^ต่อปี ตามลำดับ และคาดว่าในไตรมาส 4 จะหดตัวเหลือ -2.9% ต่อปี ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการหดตัวอย่างมากของการส่งออกสินค้าและบริการ ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง สอดคล้องกับการหดตัวลงของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) อย่างมากเช่นกัน
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสัดส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมต่อ GDP ของไทย มีสัดส่วนโดยเฉลี่ยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมากว่า 40%โดยมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และหากพิจารณาแหล่งที่มาของการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ยกว่า 5.0% นั้นมาจากการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมถึง 2.7% ต่อปี โดยมีสัดส่วนมูลค่าของสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดปัญหาวิกฤตทางการเงินและวิกฤตเศรษฐกิจโลก นอกจากส่งผลให้อัตราการขยายตัวของ GDP ชะลอลงแล้ว ยังส่งผลให้อัตราการขยายตัวของปริมาณการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมชะลอลงด้วย โดยเฉพาะเดือนพฤศจิกายน 51 จะพบว่าอัตราการขยายตัวของปริมาณการส่งออกของสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญๆ ต่างหดตัวพร้อมกัน
อุตสาหกรรมสำคัญที่จะโดนผลกระทบต่อเนื่อง (Domino Effect) จากเศรษฐกิจโลกการที่เศรษฐกิจไทยเป็นระบบเศรษฐกิจเปิดขนาดเล็ก ขณะเดียวกัน เป็นระบบเศรษฐกิจที่อยู่ภายใต้บริบทที่การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมปรับเปลี่ยนจากการผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศมาเป็นผลิตเพื่อส่งออกแทน ซึ่งทำให้มีการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจภายนอกประเทศมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมที่มี High Share และ High Growth อาทิ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี มีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก (World Demand Growth Linkage Effect) ในระดับสูง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกในหลายๆ ผลิตภัณฑ์ เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าอุตสาหกรรมจึงได้กลายเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทย โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 51 มีมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั้งสิ้น 124,922 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง75.1 %ของมูลค่าสินค้าส่งออกรวม
ถ้าพิจารณาเฉพาะ 3 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักเพื่อการส่งออกที่มีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกในระดับสูง ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานพาหนะมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกในช่วง 11เดือนแรกของปี 51 สูงเป็น 3 ลำดับแรกที่ 17.6 10.2 %และ 11.1% ของมูลค่าสินค้าส่งออกรวม ตามลำดับยังคงมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องที่ 6.0 9.0% และ 32.5% ต่อปี ตามลำดับ แต่ในระยะต่อไป ผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลก จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อปริมาณการส่งออกของไทยชะลอตัวลง จะส่งผลให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชะลอการผลิตสินค้าส่งออกและสินค้าอื่นๆ ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าส่งออก และส่งผลกระทบทางลบต่อเนื่องไปยัง Real GDP ให้ชะลอตัวลง เรียกว่า ปรากฏการณ์ “Domino Effect”
ผลกระทบต่อ 3 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักเพื่อการส่งออก ปัญหาวิกฤตการทางการเงินและวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังกลุ่มประเทศยุโรปสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ จนหลายประเทศเข้าสู่ภาวะชะลอตัว และบางประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ส่งผลกระทบทางลบต่อสินค้าอุตสาหกรรมของไทยที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์
เมื่อพิจารณาประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักในปี 2552 จะพบว่าทุกประเทศล้วนปรับตัวไปในทิศทางที่แย่ลง ส่งกระทบอย่างมากต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปยังประเทศคู่ค้าดังกล่าว ซึ่งหมายถึงการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและการจ้างงานจะแย่ลงตามไปด้วย
1) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญกับประเทศไทย โดยประเทศไทยมีฐานการผลิตทั้งอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และมีสัดส่วนการจำหน่ายสินค้าเพื่อส่งออกอยู่ในช่วงประมาณ 80-90% ขณะที่จำหน่ายในประเทศประมาณ 10-20% โดยมีโครงสร้างสินค้าส่งออก(ไม่รวมเครื่องใช้ไฟฟ้า) แบ่งเป็น เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ 55.8% แผงวงจรไฟฟ้า 26.4% และอื่นๆ16.9%
ในปี 2552 คาดว่าผลจากการชะลอตัวและหดตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักที่สั่งซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากไทย ทำให้มูลค่าส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อาจไม่ขยายตัว และหากสถานการณ์รุนแรงมากขึ้นอาจหดตัวลงถึง -10.0 %ต่อปี ซึ่งการหดตัวดังกล่าวจะส่งผลกระทบในวงกว้าง เนื่องจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมในขั้นตอนการผลิตต่างๆ นับตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำและกลางน้ำ อาทิ การออกแบบและประกอบวงจรไฟฟ้า ไปจนกระทั่งถึงอุตสาหกรรมปลายน้ำ อาทิ คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่พร้อมใช้งาน เป็นต้น
โดยจะกระทบทั้งในส่วนของผลผลิตอุตสาหกรรม การใช้กำลังการผลิต และความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากการผลิตในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มีสัดส่วนกว่า 7.2% ของการผลิตในอุตสาหกรรมรวม และมีสัดส่วนการใช้กำลังการผลิต กว่า 5.5% ของการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวม ตลอดจนกระทบการจ้างงานที่ปัจจุบันมีตำแหน่งการจ้างงานกว่า 5.3 แสนคน
เนื่องจากหากยอดคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าลดลงกว่าร้อยละ 20 นั้น โดยทั่วไปแล้วจะมีการปรับลดพนักงานลงเพื่อลดต้นทุนประกอบการ และส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออกของไทย สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในช่วง 11 เดือนของปี 51 รวม 28.0 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็น 17.2 %ของมูลค่าการส่งออกสินค้ารวม ซึ่งมีสัดส่วนลดลงจากในช่วงปี50 ที่มีสัดส่วนการส่งออก 20.0% ของมูลค่าการส่งออกสินค้ารวม
2) อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า
อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า คือกลุ่มอุตสาหกรรมปลายน้ำของอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ดี สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้นิยามไว้คนละหมวดกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามมาตรฐาน Standard IndustrialClassification of All Economic Activities (ISIC) โดยอิเล็กทรอนิกส์อยู่ใน ISIC 30 และเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ในISIC 32 ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ามีสัดส่วนการจำหน่ายสินค้าเพื่อส่งออกอยู่ในช่วงประมาณ 80-90 % ขณะที่จำหน่ายในประเทศประมาณ 10-20% โดยมีโครงสร้างสินค้าส่งออก แบ่งเป็น เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ร้อยละ 23.2 เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 5.3 %ตู้เย็น/ตู้แช่ เครื่องวิดีโอ/เครื่องเสียง เครื่องตัดต่อ/ป้องกัน21.5 %และอื่นๆ 40.0%
ในปี 2552 คาดว่าผลจากการชะลอตัวและหดตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักที่สั่งซื้อสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจากไทย จะทำให้มูลค่าส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัวะ 2.0% ต่อปี และหากสถานการณ์รุนแรงมากขึ้นอาจหดตัวลงถึง -10.0 %ต่อปี ซึ่งการหดตัวของการส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ดังกล่าวจะส่งผลกระทบทั้งในส่วนของผลผลิตอุตสาหกรรม การใช้กำลังการผลิต และความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม
โดยจากการผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ามีสัดส่วนกว่า 10.7 %ของการผลิตในอุตสาหกรรมรวม และมีสัดส่วนการใช้กำลังการผลิต กว่า 7.8% ของการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวม ตลอดจนกระทบการจ้างงานที่ปัจจุบันมีตำแหน่งการจ้างงานกว่า 5.3 แสนคน และส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออกของไทย สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วง 11 เดือนของปี 51 รวม 16.7 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็น10.2 %ของมูลค่าการส่งออกสินค้ารวม ซึ่งมีสัดส่วนลดลงจากในช่วงปี 50 ที่มีสัดส่วนการส่งออก11.1 %ของมูลค่าการส่งออกสินค้ารวม
3) อุตสาหกรรมยานยนต์
อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีความสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย โดยรัฐบาลได้กำหนดให้อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ด้วยเล็งเห็นว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ จะส่งผลดีหลายประการทั้งในด้านเศรษฐกิจ การจ้างงานและการพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเชื่อมโยงต่อเนื่องอื่นๆ ตามมา อาทิเช่นเหล็ก, พลาสติก ยางยนต์ และการที่รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการลงทุนด้านยานยนต์นี้เองส่งผลให้เกิดการสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ การออกนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ การชักนำให้บริษัทผู้ผลิตชั้นนำต่างๆ เข้ามาสร้างฐานการผลิตในประเทศ ตลอดจนถึงการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการต่างๆ การลดความเข้มงวดและอัตราภาษี เป็นต้น
ส่วนในปี 2552 คาดว่าผลจากการชะลอตัวและหดตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักที่สั่งซื้อสินค้ายานยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ จะทำให้มูลค่าส่งออกสินค้ายานยนต์ขยายตัว5.0% ต่อปี และหากสถานการณ์รุนแรงมากขึ้นอาจหดตัวลงถึง -10.0 %ต่อปี ซึ่งการหดตัวของการส่งออกสินค้ายานยนต์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบในวงกว้างเนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์มีความเกี่ยวพันกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง ทั้งในลักษณะของการเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นแหล่งรองรับวัตถุดิบ
จากอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกทั้งส่งผลเชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ในลักษณะ Forward Linkageผลกระทบดังกล่าวจะกระทบทั้งในส่วนของผลผลิตอุตสาหกรรม การใช้กำลังการผลิต และความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ มีสัดส่วนกว่า 5.4 %ของการผลิตในอุตสาหกรรมรวม และเนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ซึ่งต้องใช้เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีในการผลิต ทำให้มีสัดส่วนการใช้กำลังการผลิต ในระดับสูงกว่ 12.4%ของการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวม ตลอดจนกระทบการจ้างงานที่ปัจจุบันมีตำแหน่งการจ้างงานกว่า 3-3.5 แสนคน
หากยอดคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าลดลง จะส่งผลให้ปรับลดกำลังการผลิตลง ซึ่งหากลดลงกว่า 20 %นั้น โดยทั่วไปแล้วจะมีการปรับลดเวลาการทำงาน ไปจนกระทั่งถึงการปรับลดพนักงานตามนโยบายบริษัทแม่ในต่างประเทศ เพื่อลดต้นทุนประกอบการ และส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออกของไทย
เนื่องจากมูลค่าการส่งออกยานพาหนะในช่วง 11 เดือนของปี 51 รวม 16.9 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 10.4 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ารวม มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากในช่วงปี 50 ที่มีสัดส่วนการส่งออก 10.0 %ของมูลค่าการส่งออกสินค้ารวม โดยปัจจัยสนับสนุนการส่งออกไม่ให้มียอดลดลงดังกล่าว เนื่องจากผลที่เกิดขึ้นจากการทำ FTA กับออสเตรเลีย ที่เป็นประเทศนำเข้าอันดับ 1 และประเทศในกลุ่มอาเซียน และปัจจัยจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมากในช่วงก่อนหน้านี้ส่งผลให้ผู้ซื้อหันมานิยมรถยนต์ขนาดเล็กลง
อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการส่งออก กำลังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกในหลายภูมิภาคที่ชะลอตัวลงอย่างรุนแรงดังกล่าว และราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มผันผวนต่อไปในอนาคต ซึ่งผลดังกล่าวอาจเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ตามแผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์ระยะที่ 2 (ปี 2550 –2554) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณการผลิตรถยนต์เป็น 2 ล้านคันต่อปีให้ได้ภายในปี 2554
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง