xs
xsm
sm
md
lg

เยอรมนีถลำสู่ภาวะ ศก.ถดถอย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซี - สถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั่วโลกแสดงอาการย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ข้อมูลล่าสุดเมื่อวานนี้ (13) ชี้ว่า เยอรมนีได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว ขณะที่ผลผลิตอุตสาหกรรมของจีนก็ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี ทำให้ยิ่งเพิ่มความหวาดวิตกที่ว่าวิกฤตการเงินกำลังดึงทั้งโลกให้ลงสู่ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจครั้งเจ็บปวดยิ่ง

ทั้งนี้ ผลกระทบจากวิกฤตการเงินครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 80 ปี ได้ฉุดดึงให้เยอรมนี ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี โดยอัตราการเติบโตในไตรมาส 3 ของปีนี้นั้นหดตัวลงถึง 0.5% จากปัจจัยการส่งออกที่อ่อนตัวลงอย่างมาก

"วิกฤตการเงินและเศรษฐกิจโลกชะลอตัวได้ทำให้เศรษฐกิจของเยอรมนีได้รับผลกระทบไปด้วยอย่างรุนแรง" คาร์สเตน เบรอะเซสกีจากไอเอ็นจี ไฟแนนเชียล มาร์เก็ตส์ ให้ความเห็น

"ตอนนี้ผลกระทบเต็มรูปแบบของวิกฤตการเงินยังไม่เกิดขึ้นเสียด้วยซ้ำ ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าสถานการณ์ในอนาคตจะย่ำแย่ไปกว่านี้ ถ้าคุณคิดว่าตัวเลขเศรษฐกิจต่างในวันนี้ย่ำแย่แล้ว รอดูตัวเลขของไตรมาสต่อไปดีกว่า"

ส่วนจีนที่เพิ่งประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 ล้านล้านหยวน ก็เห็นสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวลงมากขึ้นอันเป็นผลกระทบโดยตรงจากวิกฤต โดยตัวเลขผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคมขยายตัวเพียง 8.2% เท่านั้น ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2001 เป็นต้นมา

ตลาดหุ้นทั่วทั้งเอเชียและยุโรปวานนี้ร่วงลงตามๆ กัน เพราะความวิตกที่ว่ามาตรการอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมหาศาลรวมทั้งมาตรการกำกับดูแลฉุกเฉินอื่นๆ จะไม่สามารถหยุดยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจที่แท้จริงได้

หลังจากวอลล์สตรีทเมื่อคืนวันพุธ (12) ดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมร่วง 4.7% วานนี้ตลาดโตเกียวก็ดิ่งลง 5.3% ในขณะเดียวกันราคาน้ำมันก็ร่วงลงสู่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 22 เดือน

เท่าที่ผ่านมา รัฐบาลทั่วทั้งโลกได้ออกมาประกาศแผนการอัดฉีดเม็ดเงินสู่ภาคธนาคาร เข้าค้ำประกันสินเชื่อ รวมทั้งเพิ่มการใช้จ่ายด้านอื่นๆ เพื่อต่อสู้กับความปั่นป่วนภาคการเงินของโลกเป็นเงินรวมกันมากกว่า 4.6 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว แต่สถานการณ์ที่ย่ำแย่ลงอีก ทำให้ความเชื่อมั่นของตลาดค่อยๆ ลดลงไป

เหล่าผู้นำของประเทศอุตสาหกรรมสำคัญและประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ขนาดใหญ่รวมทั้งสิ้น 20 ชาติ (จี 20) กำหนดประชุมกันเพื่อหารือเกี่ยวกับหนทางการแก้ไขปัญหาในวันศุกร์และเสาร์นี้ (14-15) ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าน่าจะมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดออกมา

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ก็พากันสงสัยว่าที่ประชุมจะบรรลุผลอะไรเป็นรูปธรรมได้หรือไม่ เพราะประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชแห่งสหรัฐฯ กำลังจะหมดวาระลงไป และหากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่และมีอิทธิพลที่สุดในโลกไม่กล้าที่จะให้คำมั่นในปฏิบัติการใดๆ ก็จะทำให้ผลการประชุมไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
กำลังโหลดความคิดเห็น