xs
xsm
sm
md
lg

"แอสเซท"พลัสคาดหุ้นดีดกลับQ3 หวังรัฐลุยเมกะโปรเจกต์กระตุ้นศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ. แอสเซท พลัส คาดครึ่งแรกปี 52 เศรษฐกิจไทยตลาดหุ้นชะลอตัวติดลบ เหตุมีหลายปัจจัยกดดันการลงทุน เชื่อดัชนีจะดีดกลับในครึ่งปีหลัง "ผู้บริหาร" หวังรบ.ออกมาตรการกระตุ้นศก.และผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุน

นางสาวบุษเรศ หยุ่นนิยม ผู้จัดการกองทุนอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) แอสเซท พลัส จำกัด เปิดเผยว่า สำหรับทิศทางแน้วโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2552 ตลาดหุ้นจะชะลอตัวลง เนื่องจากผลกระทบจากการส่งออกที่หดตัวอย่างรุนแรง รวมไปถึงการบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนที่ยังไม่ฟื้นตัว อีกทั้งการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้สำคัญก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองในช่วงที่ผ่านมา แต่คาดว่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังตัวแปรทางเศรษฐกิจที่สำคัญในปี 52

ทั้งนี้ จากปัญหาการเลิกจ้างงานจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังไม่ค่อยมั่นใจกับเศรษฐกิจ ทำให้การบริโภคปีหน้าจะชะลอตัว โดยหากรัฐบาลชุดใหม่สามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษีรายได้บุคคลธรรมดา เพื่อเพิ่มรายได้และกำลังซื้อให้กับประชาชน ก็จะสามารถช่วยกระตุ้นการบริโภคได้ทางหนึ่ง ในส่วนของการลงทุนในปีหน้า ธนาคารพาณิชย์จะระมัดระวังในการปล่อยกู้มากขึ้น ในขณะที่ภาคธุรกิจเองก็จะระงับการขยายกำลังการผลิตไว้ก่อน ดังนั้น แนวโน้มการลงทุนปีหน้าจึงยังคงชะลอตัว อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลสามารถผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (Mega Project) ให้ดำเนินการก่อสร้างได้ ก็จะเป็นผลบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างเป็นลูกโซ่ และส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ภาคการลงทุนปีหน้าขยายตัวได้

ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐ พบว่ารัฐบาลได้เพิ่มงบประมาณกลางปี 2552 จำนวน 1 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น มีการเพิ่มการจ้างงานและช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ คาดว่ารัฐบาลชุดใหม่จะยังสานต่อนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลชุดที่แล้ว รวมทั้งการลดภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย ทางด้านการส่งออกจะยังชะลอตัวจากปีก่อนเนื่องจากประเทศไทยต้องพึ่งพาธุระกิจส่งออก ซึ่งการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงจะส่งผลกระทบต่อความต้องการบริโภคสินค้าของโลกให้ลดลงตามไปด้วย

นอกจากนี้ นโยบายของนายบารัค โอบามา อาจดำเนินนโยบายการกีดกันการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าจากประเทศเอเชีย เพื่อปกป้องธุรกิจและการจ้างงานในประเทศของตนเอง จึงคาดว่าภาคการส่งออกบางธุรกิจจะได้รับผลกระทบโดยเฉพาะการส่งออกสินค้าฟุ่มเฟือย ในขณะที่ภาคการส่งออกบางกลุ่ม เช่น สินค้าเกษตรและอาหาร จะได้รับผลกระทบน้อยกว่าเพราะเป็นสินค้าจำเป็น

อย่างไรก็ตามธุระกิจการท่องเที่ยวซึ่งถือว่าเป็นแหล่งรายได้สำคัญของไทย คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว อีกทั้งในระยะสั้นยังได้รับผลกระทบจากความวุ่นวายทางการเมืองซึ่งปัจจุบันได้คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แต่ด้วยจุดแข็งของประเทศไทยที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีต้นทุนที่ถูกและด้วยบุคคลิกลักษณะนิสัยคนไทยซึ่งค่อนข้างเป็นมิตรน่าจะทำการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้เร็ว ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 52 จะยังหดตัว หลังจากนั้นในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่การเติบโตจากการฟื้นตัวน่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ปี

ด้านตลาดหุ้น ซึ่งถือเป็นดัชนีชี้นำเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real Sector Leading Indicator) หากแนวโน้มเศรษฐกิจดี ดัชนีตลาดหลักทรัพย์จะปรับตัวสูงขึ้นนำไปก่อนที่เศรษฐกิจจะปรับฟื้นตามมา ทั้งนี้ จากตัวเลขธนาคารแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจะติดลบในช่วงครึ่งแรก โดยจะเริ่มกลับมาเป็นบวกได้ในครึ่งปีหลัง ซึ่งโดยทั่วไปดัชนีตลาดหลักทรัพย์จะเป็นตัวชี้นำวัฎจักรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจล่วงหน้าประมาณ 6 เดือน ดังนั้น จึงสะท้อนว่ามีความเป็นไปได้ที่ตลาดหุ้นจะฟื้นตัวในช่วงกลางปี

นางสาวบุษเรศ ยังกล่าวด้วยว่า ตัวแปรที่มีผลต่อตลาดหุ้นในปีหน้ามาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันโดยตรง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐ (EIA) ระบุว่า ความต้องการใช้น้ำมันของโลกจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 85.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน และราคาน้ำมันดิบ WTI (West Texas Intermediate) ที่ใช้เป็น benchmark ของราคาน้ำมันดิบจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 51 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันจะยังอยู่ในระดับต่ำประมาณ 40-60 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล ไประยะหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ จะไม่เพิ่มขึ้นจนกว่าเศรษฐกิจจะกลับมาดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ในด้านของราคาหุ้นที่มีรายได้อิงกับราคาน้ำมันได้ตอบรับปัจจัยดังกล่าวไปแล้ว แต่หุ้นที่เคยได้รับผลกระทบจากน้ำมันที่มีราคาสูงน่าจะเริ่มดีขึ้น

นอกจากนี้ในปี 2552 จะเป็นปีที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งล่าสุดดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ระดับ 2.75% ขณะที่ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ หันมาใช้นโยบายดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และบรรเทาภาระของผู้บริโภค ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อหุ้นในกลุ่มที่อยู่อาศัย
กำลังโหลดความคิดเห็น