xs
xsm
sm
md
lg

ส่องตลาดตราสารหนี้ปี52 ดอกเบี้ยลด-ผลตอบแทนปรับตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ท่ามกลางเศรษฐกิจชะลอตัว และการลงทุนในตลาดหุ้นผันผวนอย่างนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่จึงหันมาให้ความสนใจการลงทุนตราสารหนี้มากขึ้น

แต่ใช่ว่าการลงทุนในตราสารหนี้จะไม่มีความเสี่ยง ซึ่งที่ผ่านมาตราสารหนี้บางตัวนั่นแหละที่เป็นตัวการให้เกิดวิกฤตการณ์ครั้งนี้ อีกทั้งการลงทุนในตราสารหนี้ช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวแบบนี้ใช่ว่าจะเป็นผลดีมากกว่าลงทุนในตลาดหุ้น เพราะความเสี่ยงเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์แบบนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาอยู่พอสมควร แต่ตรสารหนี้ก็มักจะเป็นที่นิยมในสถานการณ์แบบนี้อยู่ดี

ดอกเบี้ยขาลง
บลจ.ธนชาต เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า ผู้ลงทุนในปีหน้านี้ คาดว่าจะสนใจลงทุนในพันธบัตรเพิ่มขึ้น เนื่องจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยยังเป็นขาลง ประกอบกับการลงทุนในหุ้นยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก นอกจากนี้ความกังวลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของหุ้นกู้ภาคเอกชนจะมีอยู่มาก หุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า A จะเป็นที่น่าสนใจน้อยหรือต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยที่สูงเพื่อชดเชยต่อความเสี่ยง

ทั้งนี้ จากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยทั่วโลกคาดว่าจะนำมาซึ่งการผ่อนคลายนโยบายการเงินและการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังครั้งใหญ่ จึงคาดว่าอัตราดอกเบี้ยในภาพรวมอยู่ในทิศทางขาลงต่อเนื่องในระยะ 1 ปีข้างหน้าและจะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำหลังจากนั้นจนกว่าจะเริ่มมีการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจขึ้น ซึ่งจะใช้เวลา 2-3 ปีจากนี้

สำหรับประเทศไทยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน มีแนวโน้มจะลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานลงอีก 0.5%-0.75% เหลือ 2.0-2.25% ภายในกลางปี 2552 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของสถาบันการเงินจะมีแนวโน้มลดลงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายและจากการชะลอตัวของสินเชื่อตามสภาพเศรษฐกิจ

โดยตราสารหนี้ในตลาดคาดว่าจะมีหุ้นกู้เอกชนออกเสนอขายเพิ่มขึ้นเนื่องจากการกู้ยืมจากตลาดต่างประเทศทำได้ยากขึ้นและมีต้นทุนสูง ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะลดการออกพันธบัตรลงเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ระบบการเงินและเอื้อให้รัฐบาลสามารถออกพันธบัตรเพื่อทดแทนพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดเงินมากนัก โดยรัฐบาลน่าจะมีการออกพันธบัตรเพิ่มขึ้นเนื่องจากการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น 350,000 ล้านบาท

เทคนิคบริหารกองตราสารหนี้ปี52
ปัจจุบัน บลจ.ธนชาต ยังคาดว่าอัตราดอกเบี้ยของประเทศมีแนวโน้มลดลงต่อไปอีก แต่ไม่น่าจะลดลงอย่างรุนแรงเหมือนครั้งที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม กองทุนเปิดที่บริหารในสไตล์ active fund หมายถึงผู้จัดการกองทุนอาจจะไม่ได้ถือตราสารที่มี Duration ยาวๆเสมอไป

นอกจากนี้ ถ้าพิจารณาเห็นว่าอัตราผลตอบแทนของตราสารปรับตัวลดลงรุนแรงเกินไปหรืออัตราดอกเบี้ยในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นขาขึ้น ก็อาจจะมีการขายทำกำไรให้กับกองทุนหรือลดการถือครองตราสารระยะยาวและเปลี่ยนไปลงทุนในตราสารระยะสั้นแทนตามจังหวะและโอกาสที่เหมาะสม ดังเช่นที่ได้ปรับการลงทุนในช่วงก่อนที่ภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในปีนี้ ซึ่งจะช่วยให้ผลตอบแทนในระยะยาวของกองทุนอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและมีความผันผวนที่ไม่สูงเกินไป

วิศิษฐ์ ชื่นรัตนกุล ผู้จัดการกองทุนอาวุโส ฝ่ายบริหารกองทุน บลจ.ธนชาต กล่าวว่า ในปีหน้าสิ่งที่ต้องดูอย่างมากคือเรื่องของความเสี่ยง ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทจะดูทั้งเรื่องของเรตติ้ง และความมีศักยภาพของบริษัทที่จะเข้าไปลงทุน

ทั้งนี้ ในปีหน้าเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในช่วงขาลงต่อไป และการที่เศรษฐกิจชะลอตัวทำให้จำเป็นต้องพิจารณาด้านความเสี่ยงของบริษัทที่จะเข้าไปลงทุนมากขึ้น

“นอกจากเราจะดูเรื่องของเรตติ้งแล้ว ปีหน้าต้องดูด้วยว่าธุรกิจที่เข้าทำอยู่นั้นได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจมากน้อยขนาดไหน นอกจากนี้ยังจะต้องมีการเยี่ยมชมกิจการ เพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทที่เราจะเข้าไปลงทุนนั้นมีศักยภาพดีเพียงพอต่อการลงทุน”

แนวโน้มตราสารหนี้ต่างประเทศ
สำหรับตลาดตราสารหนี้ในต่างประเทศ ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ธนาคารกลางของประเทศยักษ์ใหญ่ต่างๆ ทั่วโลกได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาไปในทางเดียวกัน เช่นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระยะเวลาใกล้เคียงกัน แสดงให้เห็นถึง ความร่วมมือในการแก้ปัญหาจากวิกฤตการณ์ในระบบการเงิน และเศรษฐกิจของโลกครั้งนี้

อย่างไรก็ตามความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจการเงินนั้นยังคงอยู่ในระดับต่ำ และความรู้สึกของนักลงทุนยังคงอ่อนไหวต่อวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

สภาวะปัจจุบันของตลาดตราสารหนี้ในต่างประเทศ คือ ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนทำให้ผู้ลงทุนถอนการลงทุนในหุ้นและการลงทุนความเสี่ยงสูงในตลาดทั่วโลก เกิดการไหลออกของเงินลงทุนอย่างรุนแรงและหันไปลงทุนในตราสารระยะสั้นของประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ เพราะเชื่อว่าเป็นตราสารของประเทศที่ปลอดภัยในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ จนผลตอบแทนของ Treasury bills อายุ 3 เดือนของสหรัฐฯ ติดลบก็ยังมีผู้ลงทุน

ทั้งนี้ หลายฝ่ายคิดกันว่าตราสารระยะสั้นของรัฐบาลสหรัฐฯ แพงเกินไป หรือ overvalued การเทขายตราสารหนี้ในตลาดที่ผู้ลงทุนเห็นว่ามีความเสี่ยงมากกว่าประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว เช่น ตลาดในประเทศกลุ่ม Emerging market ทำให้ตราสารหนี้ในตลาดของประเทศเหล่านี้มีราคาต่ำผิดปกติ และบางกรณีต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน เช่น ตราสารหนี้ที่รัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาที่แข็งแรงและมีเสถียรภาพ ตราสารภาครัฐกลุ่มนี้ จึงมีผู้จัดการกองทุนในต่างประเทศเห็นเป็นโอกาสในการลงทุน เพราะราคาถูกเนื่องจากการถูกเทขายเพื่อต้องการสภาพคล่อง

ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานของบางประเทศในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีความแข็งแรงและมั่นคงกว่าครั้งวิกฤติเศรษฐกิจในรอบก่อน เช่น อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจดีกว่า อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดหลายประเทศเกินดุล อัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP ต่ำกว่า หรือมีทุนสำรองที่เข้มแข็งกว่าเดิมมาก

หุ้นกู้เอกชนในต่างประเทศ
โอกาสในการลงทุนอีกมุมหนึ่งที่ต่างประเทศพูดถึงกันมาก คือ ตราสารหนี้บริษัทเอกชนคุณภาพดี เนื่องจากผลของวิกฤติครั้งนี้ ทำให้การปล่อยกู้ของระบบสถาบันการเงินยังไม่เป็นปกติ เอกชนมีปัญหาในการกู้ยืมเงิน หุ้นกู้ของบริษัทต่างประเทศที่ออกระดมทุนใหม่ จำกัดอยู่เพียงผู้ออกหุ้นกู้ที่เป็นบริษัทคุณภาพดี และบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการระดมทุน

ทั้งนี้ การออกขายหุ้นกู้ใหม่จำเป็นต้องเสนออัตราผลตอบแทนที่สูง และการเทขายหุ้นกู้เอกชนเหล่านี้เพื่อลดสัดส่วนหนี้สิน (deliberate) ของผู้ลงทุนเป็นการเพิ่ม supply ของตราสารหนี้บริษัทเอกชนเข้ามาในตลาดรองอย่างมาก เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ตราสารหนี้เอกชนที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับดี ๆ (credit rating) ในตลาดรองของต่างประเทศ มีอัตราผลตอบแทนที่สูงเหนือกว่าพันธบัตรรัฐบาลอย่างมาก ในเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา Lehman Corporate Index ซึ่งเป็นดัชนีมาตรฐานของตราสารหนี้เอกชน แสดงผลตอบแทนที่สูงกว่าผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ถึง 5.60% ซึ่งไม่บ่อยครั้งนักที่จะได้เห็นภาวะเช่นนี้

อย่างไรก็ตาม หากภาวะวิกฤติยังไม่ผ่านไปในสายตาผู้ลงทุน การพิจารณาเพียงปัจจัยพื้นฐานของหุ้นกู้เอกชนนั้นอาจจะไม่เพียงพอในยามวิกฤติ จะต้องมีปัจจัย อื่น ๆ ชี้นำว่าเป็นเวลาที่เหมาะจะลงทุนด้วย เช่น บรรยากาศของตลาดเงินในต่างประเทศกลับมากล้าให้กู้ยืมกันตามปกติ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ ต้นกำเนิดของปัญหา เริ่มปรับตัวนิ่งขึ้น

ปัจจัยบวกตราสารหนี้ต่างประเทศ
ในปี 2009 ปัจจัยบวกต่อตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศ คือ อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกจะปรับตัวลดลง จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง โอกาสในการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศในภาวะที่หลาย ๆ ประเทศยังมีแนวโน้มจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก จึงค่อนข้างน่าสนใจ และมีความได้เปรียบการลงทุนเฉพาะตราสารหนี้ในประเทศไทย เนื่องจากมีความยืดหยุ่นในการลงทุนมากกว่า เพราะประเทศต่างๆ มีระดับและความเคลื่อนไหวของอัตราดอกเบี้ยและเศรษฐกิจต่างกันไป

ทั้งนี้ บลจ.ธนชาต มองว่า ผู้จัดการกองทุนน่าจะมีทางเลือกและมีความยืดหยุ่นมากกว่าที่จะเลือกลงทุนในตราสารหนี้ของประเทศที่อัตราผลตอบแทนยังไม่สะท้อนภาวะเศรษฐกิจหรืออัตราดอกเบี้ยที่ควรจะเป็น และสามารถเลือกลงทุนหรือปรับ duration ให้เหมาะสมได้ก่อนที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในประเทศนั้น ๆ รวมถึงการมองหาช่องทางและโอกาสจากอัตราแลกเปลี่ยนของหลากหลายสกุลเงินด้วย

นอกจากนี้ การที่ผู้ลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศมักเป็นผู้ลงทุนระยะยาว ผู้จัดการกองทุนในต่างประเทศ จึงสามารถปรับduration ให้ยาวขึ้นได้มากกว่ากองทุนในประเทศไทย ที่ผู้ลงทุนบางส่วนยังกังวลกับความผันผวนขึ้นลงของมูลค่าหน่วยลงทุนด้วย อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วกองทุนตราสารหนี้ในต่างประเทศมีความผันผวนที่สูงกว่ากองทุนตราสารหนี้ในประเทศ จากผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งสามารถผันผวนได้ง่ายในระยะสั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น