xs
xsm
sm
md
lg

ธนชาตตั้งเป้าเอยูเอ็มแตะแสนล้าน ชูกองทุนตราสารหนี้1ปีรับดอกเบี้ยขาลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายบุญชัย เกียรติธนาวิทย์
บลจ.ธนชาต รับทั้งปีพลาดเป้าระดมทุน หลังการลงทุนทั่วโลกเจอวิกฤต เผยปีหน้า ตั้งเป้าเพิ่มเอยูเอ็มเป็น 1 แสนล้าน จาก 8 หมื่นล้านในปัจจุบัน ซึ่งไม่ขยับจากปี 2550 ชูกองทุนตราสารหนี้-มันนี่มาร์เกต เป็นตัวนำ ดึงเงินลงทุนลูกค้ารายย่อยผ่านสาขาแบงก์แม่ ประเมินดอกเบี้ยขยับลงเหลือ 2% ครึ่งปีหน้า เล็งชงกองทุนหุ้นกู้เอกชน 1 ปี เป็นทางเลือกรับผลตอลแทนเพิ่ม

นางสุชาดา ภวนานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ธนชาต จำกัด เปิดเผยว่า ผลการดำเนินทั้งนี้ คงไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดว่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) จะเป็น 1.2 แสนล้านบาท จากสินทรัพย์รวม 8 หมื่นล้านบาทในช่วงปีที่ผ่านมา เนื่องจากทั้งปีนี้ภาวะการลงทุนทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยเองแย่ไปตามๆ กัน แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของการลงทุนในหุ้นเอง กองทุนของเราปรับลดลงน้อยกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ลดลงไปถึงกว่า 50% ในขณะที่กองทุนของเราลดลงมาเพียง 30-40% เท่านั้น ส่วนกองทุนตราสารหนี้เอง ผลตอบแทนของกองทุนก็อยู่ในอันดับต้นๆ ประมาณ 7-11%

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในปีหน้า คงเน้นการลงทุนที่ระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งภาวะการลงทุนในปีหน้าเองเชื่อว่าดีขึ้นกว่าปัจจุบัน ดังนั้น จึงจะเน้นให้ความสำคัญกับนักลงทุนรายย่อยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนหน้าใหม่ หรือวัยที่เริ่มต้นทำงาน โดยกองทุนที่จะให้ความสำคัญในปีหน้า คงจะเป็นกองทุนตราสารหนี้อายุยาวขึ้นประมาณ 1-2 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาลง

นายบุญชัย เกียรติธนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ. ธนชาต กล่าวว่า ในปี 2552 บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) เป็น 1 แสนล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้นประมาณ 2 หมื่นล้านบาท จากสินทรัพย์รวมประมาณ 8 หมื่นล้านบาทในสิ้นปีนี้ โดยในปีหน้าจะเน้นเพิ่มฐานลูกค้ารายย่อยมากขึ้นผ่านสาขาของธนาคารธนชาตที่มีแผนจะขยายสาขาเพิ่มเป็น 300 สาขา ซึ่งจะใช้กองทุนตราสารหนี้ แบบ roll over และ กองทุนตลาดเงินเป็นตัวนำ เพราะการเพิ่มขนาดสินทรัพย์ต้องมาจากกองทุนตราสารหนี้ที่ขายง่ายกว่า ทั้งนี้ ปีหน้าสัดส่วนการขายผ่านสาขาธนาคารจากมากกว่า 70% จากสัดส่วน 60-70% ในปัจจุบัน

ส่วนการลงทุนในหุ้นนั้น เรามองว่าปีหน้า แนวโน้มตลาดจะยังเคลื่อนไหวแกว่งตัวในระดับเดียวกับปัจจุบัน ซึ่งเดิมทีเราคาดการณ์ไว้ว่าปี 2552 ดัชนีจุอยู่ที่ 450 จุด แต่หลังจากได้รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้ามาบริหารประเทศแล้ว อาจจะต้องมีการปรับประมาณการณ์ใหม่อีกครั้ง ซึ่งจากแนวโน้มดังกล่าว ในส่วนของกองทุนหุ้นจะเน้นทำการตลาดกองทุนเก่าเป็นหลัก รวมถึงอาจจะมีกองทุนใหม่ออกมาด้วย ทั้งนี้ บริษัทกำลังอยู่ระหว่างขอใบอนุญาตการประกอบธุรกิจซื้อขายล่วงหน้า จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยไตรมาสแรกของปีหน้า คาดว่าจะได้รับใบอนุญาตดังกล่าว ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนของกองทุนหุ้นได้ ในช่วงที่ตลาดหุ้นตก

สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในปี 2552 มองว่าจะยังอยู่ในขาลง โดยที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสปรับลดลงไปเหลือ 2% จาก 2.75% ภายในครึ่งแรกของปีหน้า ทำให้ผลตอบแทนของกองทุนตราสารหนี้ แบบ roll over จะอยู่ในระดับต่ำ แต่หากนักลงทุนที่สามารถรับความผันผวนได้ ควรจะเลือกลงทุนกองทุนเปิดตราสารหนี้ที่มีอายุตราสารหนี้ยาวขึ้น เพราะจะได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น

นายบุญชัยกล่าวว่า ในส่วนของการลงทุนต่างประเทศ ยังมองว่าการลงทุนในสหรัฐยังน่าสนใจมากที่สุด โดยเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ ถึงแม้ที่ผ่านมาจากปรับลดลงไปค่อนข้างมากแล้วก็ตาม เพราะเชื่อว่าในที่สุดแล้วนักลงทุนที่เก็บเงินสดเอาไว้จะต้องเอาออกมาลงทุน ถึงแม้จะไม่มากเหมือนเดิมก็ตาม แต่คนที่จะเข้ามาซื้อ ส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนที่มองเห็นโอกาสและกล้าเสี่ยง

นายวิศิษฐ์ ชื่นรัตนกุล ผู้จัดการกองทุนอาวุโส บลจ.ธนชาต กล่าวว่า ในปีหน้าการออกกองทุนตราสารหนี้ แบบ roll over ของ บลจ.ธนชาต จะเน้นการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนมากขึ้น โดยเฉพาะกองทุนปิดอายุ 1 ปี เพราะจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล โดยหุ้นกู้เกรดดีอายุ 1 ปี จะให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลอายุเดียวกันประมาณ 1.2-1.5% จากในภาวะปกติที่จะมีส่วนต่างอยู่เพียง 0.5-.07% เท่านั้น ซึ่งสาเหตุที่ส่วนต่างดังกล่าวเพิ่มขึ้น เนื่องจากทุกคนกลัวว่า บริษัทเอกชนจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ อย่างไรก็ตาม การออกกองทุนจะต้องออกเป็นกองทุนปิด เพราะหุ้นกู้มีความเสี่ยงสูง ดังนั้นหากเป็นกองทุนเปิดอาจจะมีปัญหาการไถ่ถอนหน่วยลงทุน ซึ่งจะกระทบกับการลงทุน

"การลงทุนในหุ้นกู้จะต้องวิเคราะห์เครดิตของบริษัทอย่างรอบคอบ โดยจะพิจารณา 4 ประเด็น คือ กระแสเงินสด การบริหารงาน ความสามารถในการชำระหนี้ และกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งการลงทุนในหุ้นกู้ จะต้องดูคุณภาพที่เหมาะสม ต้องวิเคราะห์ข้างในลึกๆ เราจะให้ความสำคัญกับกระแสเงินสดมากที่สุด เพราะไม่สามารถหลอกลวงได้ ขณะที่การบริหารงานของผู้บริหารบริษัทก็มีความสำคัญ” นายวิศิษฐ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น