คอลัมน์ “สาระน่ารู้ คู่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ”
กลุ่มธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
สมาคมบริษัทจัดการลงทุน”
Association of Investment Management Companies
www.aimc.or.th
“การมีชีวิตอย่างมีความสุข คือ การนับถอยหลัง” การยกคำกล่าวข้างต้นมาอ้างเพราะวันนี้อยากให้ลองคิดในมุมตามคำกล่าวดังกล่าว แล้วจะรู้ว่า มีความสุขกำลังรอคอยคุณอยู่หลังตรากตรำกรำงานมาหลายสิบปี นั่นคือ การวางแผนตั้งแต่วันนี้ว่า เวลาเราเกษียณแล้ว เราอยากทำอะไรให้ชีวิตที่เหลืออยู่ดำเนินต่อไปอย่างมีความสุข แล้วต้องมีเงินออมเท่าไหร่ถึงจะมีความสุขกับการใช้ชีวิตตามที่วางแผนไว้
“ออมด้วยการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” คำนี้อาจไม่ค่อยคุ้นเคยเหมือน “ออมด้วยการฝากเงิน” แต่สำหรับลูกจ้างที่มีเงินเดือนแล้วไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะการออมผ่านการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อีกหนึ่งทางเลือกของการออมเพื่อเก็บไว้ใช้เลี้ยงชีวิตตัวเองในอนาคต โดยลูกจ้างจะได้รับประโยชน์มากมายจากการลงทุน คราวนี้เรามาดูกันนะคะว่า ในส่วนของลูกจ้างนั้นจะได้อะไรจากการออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกันบ้าง หลังจากที่ทราบถึงประโยชน์ที่นายจ้างจะได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปในตอนที่แล้ว
เรื่องแรกที่จะลืมไม่ได้ที่จะต้องกล่าวถึงก็คือเรื่องของสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งลูกจ้างที่สมัครเป็นสมาชิกกองทุนจะได้รับ ทั้งขณะที่เป็นสมาชิกกองทุนและเมื่อออกจากระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามเวลาที่กำหนดไว้ ดังนี้
สิทธิประโยชน์ทางภาษีขณะเป็นสมาชิกกองทุน
- เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนในแต่ละปี สามารถนำมาหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยสามารถนำเงินสะสมไปหักจากเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามจำนวนที่จ่ายเข้ากองทุน แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้าง และไม่เกินปีละ 500,000 บาท
สิทธิประโยชน์ทางภาษีเมื่อออกจากกองทุน
- เงินที่ได้รับจากกองทุน หากสมาชิกต้องออกจากกองทุน ด้วยเหตุ เกษียณอายุจากการทำงาน ลูกจ้างต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ โดยออกจากงานเพราะครบกำหนดหรือสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือ ทุพพลภาพ หรือ เสียชีวิต เงินที่จะได้รับจากกองทุนจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำไปคำนวณเงินได้เพื่อเสียภาษี
- กรณีสมาชิกออกจากกองทุนก่อนเกษียณอายุตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร แม้ว่าจะมีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป จะไม่ได้รับการยกเว้นภาษี โดยจะเสียภาษีตามเงื่อนไขดังนี้
ไม่เกษียณอายุ แต่มีอายุงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป
เสียภาษีเงินได้ โดยนำส่วนเงินสมทบของนายจ้าง + ผลประโยชน์จากเงินสะสม + ผลประโยชน์จากเงินสมทบ มาคำนวณเพื่อเสียภาษี โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ปีละ 7,000 บาท เหลือเท่าใดให้หักค่าใช้จ่ายได้อีกครึ่งหนึ่ง
ตัวอย่าง : สมาชิกลาออกจากกองทุนหลังจากทำงานมาแล้ว 8 ปี และได้รับเงินจากกองทุน 145,000 บาท โดยเป็นส่วนของเงินสะสม 65,000 บาท ดังนั้น
เงินได้ที่นำมาคำนวณภาษี 80,000 บาท
หัก ค่าใช้จ่ายส่วนแรก (7,000* 8 ปี) (56,000) บาท
คงเหลือ 24,000 บาท
หัก ค่าใช้จ่ายส่วนที่ 2 (24,000/2) (12,000) บาท
คงเหลือเป็นเงินได้สุทธิที่ต้องเสียภาษี 12,000 บาท
ไม่เกษียณอายุและมีอายุงานน้อยกว่า 5 ปี
ไม่ได้รับการยกเว้น ต้องเสียภาษีเงินได้ตามปกติ โดยนำส่วนของเงินสมทบของนายจ้าง + ผลประโยชน์จากเงินสะสม + ผลประโยชน์จากเงินสมทบ มารวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษี
ตัวอย่าง : สมาชิกลาออกจากกองทุนหลังจากทำงานมา 4 ปี และได้รับเงินจากกองทุน 180,000 บาท โดยเป็นเงินสะสม 50,000 บาท
ดังนั้นเงินที่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษี จะเท่ากับ 180,000 – 50,000 = 130,000 บาท
นอกจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ลูกจ้างจะได้รับเมื่อเป็นสมาชิกกองทุนแล้ว ลูกจ้างยังได้รับประโยชน์ด้านผลตอบแทนจากการออมอีกด้วย กล่าวคือ
- ลูกจ้างจะได้รับผลประโยชน์มากขึ้น เพราะเงินกองทุนจะถูกนำไปหาผลประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้จัดการกองทุนที่มีประสบการณ์ในการลงทุน ซึ่งสามารถทำให้เงินลงทุนของลูกจ้างมีผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนด้วยตนเอง
- กฎหมายที่ควบคุมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างว่าเงินกองทุนจะไม่ถูกนำไปลงทุนในกิจการหรือวิธีการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงเกินไป
- การนำเงินไปลงทุน ผู้จัดการกองทุนจะทำการลงทุนในนามของกองทุน ลูกจ้างจึงมั่นใจได้ว่าจะได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่และลูกจ้างจะมีส่วนร่วมรู้เห็นในการบริหารเงินกองทุนตลอดเวลา
- เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้รับการคุ้มครอง โดยไม่มีเจ้าหนี้รายใดสามารถบังคับนำเงินออกจากกองทุนได้
ยิ่งไปกว่านั้นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังถือเป็นสวัสดิการ โดยลูกจ้างจะได้รับเงินสมทบจากนายจ้างซึ่งส่งเข้ากองทุนให้ทุกเดือน ซึ่งเสมือนเป็นการเพิ่มเงินเดือนทางอ้อมให้กับลูกจ้างที่เป็นสมาชิกกองทุน และในกรณีที่มีการเปลี่ยนงาน สมาชิกกองทุนอาจขอคงเงินไว้ในกองทุนของนายจ้างเดิมเป็นการชั่วคราวเพื่อรอโอนเงินจากกองทุนเดิมไปออมต่อในกองทุนนายจ้างรายใหม่ ซึ่งเป็นการออมอย่างต่อเนื่องในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทั้งนี้ เพื่อสมาชิกจะได้มีเงินออมจำนวนที่มากพอเมื่อถึงวันเกษียณอายุ และมีชีวิตในวัยเกษียณอย่างมีคุณภาพ
สำหรับลูกจ้างแล้ว กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะทำให้ลูกจ้างมีการออมอย่างต่อเนื่อง มีวินัย และมีหลักประกันว่าจะ มีเงินก้อนไว้ใช้เมื่อออกจากงาน ทุพพลภาพ หรือ เกษียณอายุทำงาน
สำหรับบริษัทนายจ้างและลูกจ้างที่ยังไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพน่าจะลองคิดเรื่องการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกันใหม่อีกสักครั้ง เพื่อที่คนทำงานมีเงินเดือนอย่างเราๆ ทุกคนจะได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขให้หายเหนื่อยหลังจากทำงานมานานเป็นสิบๆ ปี