xs
xsm
sm
md
lg

บัวหลวง Money Tips : ยังไม่สูงสุด แต่คืนสู่สามัญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดยเสกสรร โตวิวัฒน์
บลจ.บัวหลวง จำกัด


อุตสาหกรรมกองทุนรวมได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างมาก ในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมา ด้วยปัจจัยสนับสนุนสำคัญหลายอย่าง เช่น ผู้ลงทุนมีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจมากขึ้น กองทุนรวมมีสินค้าให้เลือกหลากหลายมากขึ้น ประชาชนเห็นความสำคัญของการลงทุน การกระจายความเสี่ยง ประโยชน์จากกองทุนลดภาษี และความต้องการแสวงหาผลตอบแทนที่ดีกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งกองทุนรวมช่วงที่ผ่านมา ทั้งกองทุนตราสารหนี้ กองทุนที่ไปลงทุนในต่างประเทศ กองทุน RMF LTF สามารถตอบสนองสิ่งเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี และเป็นแรงผลักดันให้ธุรกิจกองทุนรวมเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่วิกฤติที่เกิดขึ้นในครั้งนี้กำลังจะทำให้รูปแบบของธุรกิจกองทุนรวมปีหน้าเปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง

วิกฤติที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ลงทุนเกิดความไม่มั่นใจในการลงทุนต่างๆ ทั้งจากผลขาดทุนที่ได้รับจากกองทุนหุ้น กองทุน LTF กองทุน FIF และข้อมูลเชิงลบที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง คำถามที่เกิดขึ้นคือการแบ่งเงินไปลงทุนต่างประเทศ การแบ่งเงินลงทุนไปยังตราสารที่หลากหลาย เป็นการกระจายความเสี่ยงที่ถูกต้องจริงหรือ ถ้าถูกต้องจริงแล้วทำไมยังขาดทุนได้เป็นจำนวนมากเช่นนี้ การกระจายความเสี่ยงที่แท้จริงทำอย่างไร แน่นอนในปีหน้าความหวาดระแวงและความไม่มั่นใจในการลงทุนยังคงไม่จางหาย ความนิยมกองทุนรวมจะถูกโฟกัสแค่กองทุนบางประเภทเท่านั้น สิ่งเหล่านี้ยอมทำให้ภาพของธุรกิจกองทุนรวมปีหน้าหวนกลับมาสู่ความเรียบง่ายอีกครั้ง

1. โลกการเงินจะเน้นธุรกรรมในท้องถิ่นมากกว่า การไปลงทุนต่างประเทศ จะถูกชะลอไปโดยต้องหันมามุ่งเน้นการทำธุรกรรมภายในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะในช่วงยากลำบากเช่นนี้ ความกล้าที่จะออกไปลงทุนยังโลกภายนอกมีน้อยลง การลงทุนในท้องถิ่น (ในประเทศ) จะเป็นที่ต้องการมากกว่า

2. ความซับซ้อนจะจากไป ความเรียบง่ายจะกลับมา วิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้รับรู้กันแล้วว่ายิ่งมีความซับซ้อนมากเท่าใด เวลาเกิดปัญหาก็จะแก้ลำบากเท่านั้น คนก็จะเปลี่ยนแนวคิดกลับไปหาของที่เข้าใจง่ายและมีความคลาสสิคมากกว่าความหวือหวา ลูกค้าจะต้องการรู้ว่าเขากำลังลงทุนในอะไร เสี่ยงแค่ไหน และเสี่ยงจากอะไรบ้าง ขณะที่ผู้ขายก็ต้องการความเข้าใจในสินค้ามากขึ้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการขาย รวมถึงเลือกขายเฉพาะสินค้าที่เชื่อมั่นว่าปลอดภัยเพียงพอ

3. Models จะไม่เป็นที่นิยมเท่าการใช้คนที่สามารถ สินค้าหลายๆ ชนิดที่ออกแบบมาในพักหลังๆ มักใช้โมเดลกำหนดการบริหารกองทุน ซึ่งเกิดขึ้นมาโดยใช้ข้อมูลในอดีตมากำหนด ปัญหาก็คือไม่มีโมเดลใดที่สามารถจัดการกับสภาพตลาดและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงหรือผิดปรกติเช่นปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่ ดังนั้นการบริหารกองทุนใช้คนที่มีประสบการณ์ มีความยืดหยุ่นสูง จะดีกว่าการใช้โมเดลที่กำหนดใหทำตามสูตรที่ใส่ไว้ในอดีต ซึ่งเป็นคนละเหตุการณ์

4. กองทุนที่บริหารโดยผู้มีประสบการณ์จะกลับมาสำคัญมากขึ้น ในช่วง 2- 3 ปีที่ผ่านมานี้ นวัตกรรมใหม่เป็นสิ่งที่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งตลาดไทย และตลาดต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Product Innovation หรือ Fund Innovation แต่สำหรับประเทศไทย ก.ล.ต. มีการควบคุมการออกกองทุนใหม่ตาม Innovation ค่อนข้างมากซึ่งถือเป็นผลดีที่ทำให้สามารถยับยั้งไม่ให้เราก้าวกระโดดไปในสิ่งที่เรายังไม่ชำนาญจากบทเรียนในครั้งนี้ ลูกค้าจะมีแนวโน้มต้องการผู้จัดการกองทุนที่มีประสบการณ์ในการบริหารกองทุน มีความเข้าใจตลาดมากกว่าจะต้องการนวัตกรรมแปลกใหม่ และน่าจะเป็นไปสัก 2-3 ปี

5. ธุรกิจกองทุนจะถูกผลักดันให้เปิดเผยข้อมูลมากขึ้น โปร่งใสมากขึ้น เพื่อลดความคลุมเครือไม่ชัดเจน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศมีสาเหตุหลักอย่างหนึ่งมาจากความคลุมเครือของสินค้าที่ไม่ชัดเจน ผู้ลงทุนไม่รู้จริงว่าลงทุนในอะไร ความโปร่งใสจึงเป็นที่ต้องการเพราะลูกค้าและผู้ขายต้องรู้ว่ากองทุนจะไปลงทุนในอะไร ลงทุนในต่างประเทศหรือไม่ จะป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนหรือไม่ อย่างไร ฯลฯ และภายหลังลงทุนก็จะต้องการข้อมูลของสิ่งที่ได้ลงทุนไปบ่อยขึ้น ซึ่งปัจจุบันสำนักงาน ก.ล.ต. ได้กำหนดให้กองทุนรวมเปิดเผยข้อมูล ณ สิ้นเดือนให้รวดเร็วขึ้นโดยต้องเปิดเผยภายใน 15 วัน เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น