xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจถดถอย...ส่งออกไทยทรุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตัวเลขเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลกที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจหลายประเทศได้ก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์การหดตัวในระดับที่รุนแรงขึ้นในไตรมาสที่ 4 ซึ่งจะหมายความว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค และ ยังมีสัญญาณร้ายหลายประการที่สร้างความกังกลว่าเศรษฐกิจของหลายประเทศในปี 2552 และนั่นหมายถึงข่าวร้ายต่อแนวโน้มการส่งออกของไทยด้วยเช่นเดียวกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจของและการส่งออกของประเทศไทยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาโดยระบุว่า สถานการณ์ที่น่าวิตกในขณะนี้ คือ นอกจากเศรษฐกิจหลักในหลายประเทศทั่วโลกกำลังตกอยู่ในภาวะถดถอยแล้ว ยังมีสัญญาณหลายด้านที่เตือนถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจครั้งนี้อาจจะถดถดถอยรุนแรงขึ้น และต้องใช้ระยะเวลายาวนานมากขึ้นกว่าเดิมที่คาดกันว่าน่าจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 โดยจากปัญหาในภาคธุรกิจที่บริษัทชั้นนำของโลก เช่น กลุ่มธุรกิจการเงิน อุตสาหกรรมยานยนต์ กำลังประสบภาวะขาดทุนและขาดสภาพคล่องอย่างหนักจนถึงขั้นเสี่ยงที่จะล้มละลาย ทำให้ต้องประกาศปลดพนักงานรวมถึงลดกำลังการผลิตของบริษัทในเครือที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลก ส่งผลให้เกิดปัญหาการว่างงานที่รุนแรงขึ้นและจะยิ่งฉุดให้ภาวะเศรษฐกิจที่มีปัญหาอยู่แล้วดิ่งลงมายิ่งขึ้น และต่อเนื่องไปอีกในช่วงหลายเดือนข้างหน้า

สำหรับประเทศไทย สิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้วคือ การที่บริษัทในเครือของบริษัทข้ามชาติที่บริษัทแม่กำลังประสบปัญหาเริ่มลดจำนวนพนักงานในไทยแล้ว นอกจากนี้ อุตสาหกรรมส่งออกหลายกลุ่มได้ออกมาระบุว่าคำสั่งซื้อขณะนี้หายไปอย่างมาก โดยลดลงร้อยละ 20-40 ขึ้นอยู่กับประเภทอุตสาหกรรม และบริษัทบางส่วนได้ปรับตัวรับสถานการณ์โดยเริ่มประกาศลดกำลังการผลิต บางแห่งหยุดสายการผลิตชั่วคราว รวมถึงลดจำนวนพนักงานหรือให้หยุดงานโดยจ่ายเงินเดือนในอัตราที่ลดลง ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับลดลงอย่างมาก โดยสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทต่างๆ ปรับตัวลดลงโดยเฉลี่ยเกือบร้อยละ 50 จากระดับราคาที่ขึ้นไปสูงสุดในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งยังคงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์ของไทยชะลอตัวลงรุนแรง

ทั้งนี้ ความหวังที่หลายฝ่ายฝากไว้กับเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีอัตราการเติบโตสูง โดยเฉพาะประเทศจีนอาจไม่สดใสตามคาด เพราะจีนเริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัวมากยิ่งขึ้น โดยตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนตุลาคมที่ผ่านมานั้น การผลิตในภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 8.2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี ขณะที่การนำเข้าของจีนขยายตัวร้อยละ 15.4 ต่ำที่สุดในรอบ 16 เดือน และจากตัวเลขการส่งออกของญี่ปุ่น การส่งออกไปยังจีนในเดือนตุลาคมหดตัวครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี สะท้อนถึงอุปสงค์ในตลาดจีนที่ชะลอตัวลง การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่อาจรุนแรงกว่าที่คาดเป็นเหตุผลให้รัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อพยุงให้เศรษฐกิจจีนเติบโตเพียงพอที่รองรับกำลังแรงงานจำนวนมาก

ภาวะอุปสงค์ในต่างประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวรุนแรง รวมถึงการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และการลดการผลิตในอุตสาหกรรมส่งออกของไทย จะส่งผลต่อตัวเลขการส่งออกอย่างน้อยในช่วงไตรมาสข้างหน้า โดยเฉพาะกลุ่มไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้นของไทย มีมูลค่าการส่งออกรวมกันกว่าร้อยละ 35 ของการส่งออกโดยรวม ทำให้การส่งออกในไตรมาสแรกของปี 2552 คงจะประสบปัญหาค่อนข้างหนัก และหากคำสั่งซื้อในไตรมาสแรกยังคงลดลง ผลกระทบต่อการส่งออกอาจต่อเนื่องไปถึงไตรมาสที่ 2

ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2552 ลงมาอีกครั้งเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2551 มาที่ร้อยละ 2.2 จากประมาณเมื่อเดือนตุลาคมที่ร้อยละ 3.0 โดยปรับมุมมองต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น มาเป็นหดตัวลงร้อยละ 0.7 ร้อยละ 0.5 และร้อยละ 0.2 ตามลำดับ จากที่คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 0.1 ร้อยละ 0.2 และร้อยละ 0.5 ในประมาณการครั้งก่อน และจะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กลุ่มประเทศก้าวหน้า (Advanced Economies) จะมีอัตราการขยายตัวติดลบ อย่างไรก็ดี ในกรณีของเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนานั้น แม้ว่า IMF ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตลง แต่ยังมองว่าเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเหล่านี้จะยังสามารถขยายตัวในอัตราที่นับว่าค่อนข้างดี คือ จีนยังอาจจะขยายตัวร้อยละ 8.5 ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะขยายตัวร้อยละ 7.1 จากร้อยละ 9.3 และร้อยละ 7.7 ในประมาณการครั้งก่อน ตามลำดับ

จากความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับลดประมาณการแนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2552 โดยมีสมมติฐาน 2 กรณี คือ ในกรณีพื้นฐาน กลุ่มเศรษฐกิจชั้นนำของโลก หรือ กลุ่ม G3 อันได้แก่ สหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น มีแนวโน้มหดตัวลงจากปี 2551 ขณะที่ประเทศตลาดเกิดใหม่มีอัตราการขยายตัวชะลอลงแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดี ส่วนในกรณีเลวร้าย ประเทศตลาดเกิดใหม่อาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของภาคการส่งออก และส่งผลต่อเนื่องมาสู่การชะลอการใช้จ่ายภายในประเทศลงอย่างมาก ซึ่งทำให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมขยายตัวต่ำกว่าระดับที่ IMF คาดการณ์ไว้ โดยอาจมีอัตราการเติบโตต่ำกว่าร้อยละ 2.0 ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น จะเป็นสภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวรุนแรงที่สุดในรอบ 18 ปี นับตั้งแต่หลังปี 2534

ทั้งนี้ ในกรณีพื้นฐาน คาดว่าการส่งออกของไทยในปี 2552 อาจจะขยายตัวโดยมีค่ากลางอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.0 แต่ในกรณีเลวร้ายที่ตลาดในภูมิภาคเอเชียและตลาดใหม่ของไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกรุนแรงกว่าที่คาด การส่งออกอาจหดตัวลดประมาณร้อยละ 2.0 และหากพิจารณาตลาดที่สำคัญ คาดว่าตลาดสหรัฐฯ อาจหดตัวประมาณร้อยละ 5.0 ถึงร้อยละ 10.0 จากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.8 ในปี 2551 ซึ่งในกรณีเลวร้าย การส่งออกไปสหรัฐฯ อาจจะหดตัวใกล้เคียงกับในช่วงปี 2544 ที่สหรัฐฯ ประสบภาวะถดถอยในรอบที่แล้วจากการแตกตัวของฟองสบู่ในภาคไอที ในปีนั้น สำหรับตลาดส่งออกหลักอื่นๆ คาดว่าสหภาพยุโรป 15 ประเทศ จะหดตัวร้อยละ 2.0 ถึง 7.0 จากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.0 ในปี 2551 ญี่ปุ่นจะหดตัวร้อยละ 3.0 ถึงขยายตัวร้อยละ 2.0 จากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 14.0 ในปี 2551 ส่วนตลาดเอเชีย เช่น จีนและอาเซียน อาจยังมีอัตราการขยายตัวเป็นบวกได้ โดยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.0-6.0

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าภาครัฐและภาคเอกชนควรร่วมมือกันในการหาลู่ทางเปิดตลาดการค้าในประเทศที่มีศักยภาพใหม่ๆ เช่น ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ แอฟริกา รัสเซียและยุโรปตะวันออก ให้ครอบคลุมสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการแสวงหาโอกาสขยายตลาดสินค้าอาหาร ในภาวะที่ผู้บริโภคทั่วโลกกำลังกังวลต่อความปลอดภัยจากการบริโภคสินค้าอาหารที่ผลิตในประเทศจีน รวมถึงขยายตลาดอาหารฮาลาลที่ไทยมีศักยภาพในการผลิต

นอกเหนือจากสินค้าอาหารแล้ว ในตลาดสินค้าอุปโภคอื่นๆ เช่น เครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติก ภาชนะ บรรจุภัณฑ์ ก็มีทิศทางที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการเลือกสินค้าที่สามารถมั่นใจในมาตรฐานความปลอดภัยเช่นเดียวกัน จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยควรเร่งปรับคุณภาพมาตรฐาน ขณะเดียวกันก็ควรต้องปรับผลิตภัณฑ์และบริหารต้นทุนการผลิตให้สอดคล้องกับทิศทางความต้องการในตลาดที่ผู้บริโภคอาจหันมาเน้นความประหยัดมากขึ้น ซึ่งในอีกด้านหนึ่งอาจหมายถึงการแข่งขันด้านราคาที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นด้วย โดยภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากสินค้าเกษตรขั้นต้นให้เกิดผลในทางการค้าอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น เพื่อลดผลกระทบในช่วงที่ราคาสินค้าอยู่ในช่วงขาลง และยังจะเป็นการสร้างรายได้ส่งออกจากโอกาสทางการตลาดใหม่ขึ้นอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น