xs
xsm
sm
md
lg

ก่อนซื้อ"ยูนิตลิงค์" อย่าลืมว่า"คนขาย"ก็สำคัญ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อไม่นานมานี้ 6 องค์กรในธุรกิจประกันภัย และ 2 หน่วยงาน จากภาคตลาดทุนได้จับมือกันพูดคุยในเรื่องของความร่วมมือเกี่ยวกับกฎเกณฑ์การออกกรมธรรม์ควบหน่วยลงทุน (Unit Linked Life Insurance Policy) ซึ่งหลังจากพูดคุย แต่ละหน่วยงานก็ได้กลับไปทำการบ้าน เพื่อร่วมกันกำหนดรูปแบบที่มีความชัดเจนอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการลงทุน การขาย ที่สำคัญคุณสมบัติของผู้ที่จะขายกรมธรรม์ประเภทนี้ จะต้องได้รับอนุญาติจากทั้งการเป็นตัวแทนขายประกัน และใบอนุญาตการเป็นผู้ติดต่อกับนักลงทุนด้วย

ทั้งนี้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้กับผู้เอาประกันหรือผู้ลงทุนเป็นสำคัญ เพราะถ้าคนขายไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนเลย สักแต่ว่าขายทำยอดเพื่อไปเที่ยวต่างประเทศ ผู้ลงทุนเอง ก็จะไม่รู้ว่าตัวเองลงทุนอะไรไปบ้าง ที่สำคัญ มีความเสี่ยงอย่างไร และหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น...สุดท้าย ความเสียหายตามมาแน่นอน

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จึงได้ออกมาชี้แจงถึงหลักเกณฑ์ในการสอบใบอนุญาต Single License และความสำคัญของตัวแทนขายธุรกิจประกันนี้ ว่ามีความสำคัญต่อตลาดการลงทุนอย่างไรบ้าง...

"ประเวช องอาจสิทธิกุล" ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สายงานกำกับดูแล ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ สำนักงาน ก.ล.ต. ระบุว่า การที่ธุรกิจประกันจะจับมือกับธุรกิจกองทุนรวม เพื่อขายกรมธรรม์ประเภท ยูนิตลิงค์ ส่วนของการอนุญาตผลิตภัณฑ์นั้น จะต้องมีคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นผู้ดูแลหลักว่าผลิตภัณฑ์ที่เป็นประกันนั้นมีความเหมาะสมที่จะขายหรือไม่ โดยผู้ที่จะขายกรมธรรม์ประเภท ยูนิตลิงค์ จะต้องมีใบอนุญาตเป็นผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนประเภท ข จากสำนักงาน ก.ล.ต.ด้วย เนื่องจากส่วนของผลตอบแทนที่จะให้ลูกค้าเลือกผ่านกองทุนรวมนั้น มีผลิตภัณฑ์อยู่หลากหลาย เพราะกองทุนรวมเสมือนเป็นตัวกลาง ที่จะพาผู้ลงทุนไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น หรือตราสารหนี้ ซึ่งผู้ที่จะขายกรมธรรม์ประเภท ยูนิตลิงค์ จึงจำเป็นต้องได้ใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. ด้วย

และหากบริษัทประกัน ช่วยสนับสนุนตัวแทนขายของตัวเองให้ได้ใบอนุญาต จะเป็นประโยชน์มาก และไม่ต้องการให้มองเป็นเรื่องต้นทุน แต่ควรมองเป็นการลงทุนมากกว่า หรือจะจับมือกับพันธมิตรที่เป็นบริษัทจัดการกองทุน เพื่อให้ความรู้เตรียมตัวแทนขายประกัน เพื่อสอบใบอนุญาตให้ได้ จะเป็นประโยชน์

แต่ถ้าจะให้แยกการสอบใบอนุญาตขายเฉพาะกองทุนรวมออกมา เพื่อให้ตัวแทนขายประกันสอบได้ตรงจุด และสอบผ่านได้ง่ายขึ้นคงไม่ได้ เพราะกองทุนรวมเป็นเสมือนตัวกลาง ที่พาผู้ลงทุนไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ถ้าตัวแทนขายประกันไม่มีใบอนุญาต แล้วนำไปขายอาจเกิดปัญหาตามมาได้

มีข้อมูลว่า...ในปัจจุบัน มีผู้สอบได้ใบอนุญาตเป็นผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน 20,000 ราย โดยที่อยู่กับโบรกเกอร์ 5,000 ราย ขณะที่ธุรกิจประกันมีตัวแทนขายอยู่ 300,000 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ที่มีใบอนุญาตติดต่อกับผู้ลงทุน 1,000 ราย ดังนั้น ผู้ที่มีใบอนุญาตอีก 14,000 คน จะอยู่ในธุรกิจแบงก์ ซึ่งเป็นแหล่งที่มีบุคลากรด้านนี้มากที่สุด ส่วนตัวแทนขายธุรกิจประกัน ถือเป็นเครือข่ายที่มีศักยภาพ หากบริษัทประกันจะสนับสนุนให้ตัวแทนขายมาสอบใบอนุญาตเป็นผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนได้ จะช่วยขยายตลาดการลงทุนให้ครอบคลุม และถึงประชาชนมากขึ้น

ฟังความเห็นจากผู้กำกับด้านการลงทุนแล้ว มาฟังความเห็นจากฝั่งประกันบ้าง...   จันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการ คปภ. ออกมาให้ความเห็นในแนวทางเดียวกันว่า ทาง คปภ.ได้ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและความต้องการของประชาชน โดยผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบใหม่นี้ จะมีลักษณะของการประกันชีวิตควบการลงทุนในหน่วยลงทุนหรือ กรมธรรม์ประกันภัยแบบ ยูนิตลิงค์ ซึ่งบริษัท อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนล แอสชัวรันส์ จำกัด (เอไอเอ) อยู่ระหว่างรอการอนุมัติกรมธรรม์ คาดว่า จะนำออกขายได้ในเร็วๆ นี้

และเนื่องจาก ผู้เอาประกันภัยที่ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยประเภทนี้ ต้องเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องการลงทุนเอง จึงต้องมีความเข้าใจอย่างดีก่อนตัดสินใจซื้อประกันชีวิตแบบนี้ คปภ.จึงกำหนดให้ผู้เสนอขายกรมธรรม์ ยูนิตลิงค์ เป็นผู้ที่จะต้องอธิบายและสร้างความเข้าใจกับผู้เอาประกัน นอกจากจะต้องเป็นตัวแทนนายหน้าประกันชีวิตแล้ว จะต้องได้รับใบอนุญาตเป็นผู้เป็นผู้ติดต่อการลงทุนทุกประเภท จาก ก.ล.ต. และต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการประกันชีวิตแบบ ยูนิตลิงค์ จากสำนักงาน คปภ. ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ผู้เสนอขายสามารถอธิบายและให้ความรู้ ข้อมูลสำคัญอย่างถูกต้องนั่นเอง...

สุขวัตน์ ประเสริฐยิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่สายการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ยูนิตลิงค์ ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุน เป็นโพรดักซ์ที่เพิ่มขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกให้กับคนที่ต้องการออมเงิน ซึ่งการที่ทางการออกมาสนับสนุน ก็ถือเป็นเรื่องดี ซึ่งโอกาสเปิดแล้ว เราก็จะไม่ปิดกั้นลูกค้า ซึ่งในส่วนของแมนูไลฟ์เอง ก็มีแผนที่จะทำงานร่วมกันระหว่างแมนูไลฟ์ประกันชีวิตเช่นกัน

โดย รูปแบบในเบื้องต้น ทางบริษัทประกัน น่าจะเป็นแกนหลัก ส่วนบลจ. นั้น ก็จะเป็นเหมือนโรงงาน ที่ผลิตสินค้า นั่นคือ ผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนที่ตรงกับความต้องการของผู้ลงทุน แล้วป้อนให้กับบริษัทประกัน เพื่อส่งต่อไปยังลูกค้าต่อไป

ที่มาที่ไปของ Unit Link
เมื่อปี 2547 ได้เกิดผลิตภัณฑ์ทางการเงินชิ้นใหม่ในประเทศไทย โดยความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐสองแห่งคือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ภายใต้กระทรวงการคลัง และกรมการประกันภัย ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ กับภาคเอกชน ซึ่งได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนและบริษัทประกันชีวิต โดยมีชื่อเรียกขานกันว่า “กรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุน” (หรือ Unit Link) ซึ่งหมายถึง กรมธรรม์ที่บริษัทประกันชีวิตออกให้ผู้เอาประกัน เพื่อเป็นหลักฐานว่าผู้เอาประกันและบริษัทประกันชีวิตได้มีการทำสัญญาประกันชีวิต และสัญญาการลงทุนในหน่วยลงทุน โดยมีการตกลงว่า ผู้เอาประกันจะชำระเบี้ยประกันชีวิตให้แก่บริษัทประกันชีวิตสำหรับการให้ความคุ้มครองต่อการ ตาย ทุพพลภาพ หรือไม่ตายเมื่อครบอายุสัญญา และผู้เอาประกันจะชำระค่าซื้อหน่วยลงทุนเพื่อการลงทุนในกองทุนรวม โดยผ่านบริษัทประกันชีวิต สรุปคือ เงินที่ผู้เอาประกันจ่ายเพื่อซื้อกรมธรรม์ Unit Link จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 เป็นค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับการให้ความคุ้มครองตามที่กรมธรรม์ประกันชีวิตกำหนด

ส่วนที่ 2 เป็นส่วนที่จัดสรรนำไปซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตามคำสั่งของผู้เอาประกันภัย ซึ่งจะได้รับผลตอบแทนตามผลการดำเนินงานของกองทุนรวมที่เลือกลงทุนไว้

สำหรับกรมธรรม์ Unit Link กับกรมธรรม์ทั่วๆ ไป นั้น หากมองในแง่ของการประกันชีวิตแล้วไม่ได้มีความแตกต่างกันเลย รูปแบบของกรมธรรม์ก็ยังคงเป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตทั่วๆ ไป แต่ถ้ามองกันในแง่ของการลงทุนกรมธรรม์ Unit Link ก็จะมีความต่างออกไป เนื่องจากกรมธรรม์ได้นำเสนอรูปแบบการลงทุนในหน่วยลงทุนของ กองทุนรวมมาควบคู่ขายพร้อมกันไปให้กับผู้เอาประกัน กรมธรรม์ Unit Link จะแตกต่างจากกรมธรรม์ประกันชีวิตทั่วๆ ไป ในด้านต่างๆ ดังนี้

- กรมธรรม์ Unit Link ในส่วนที่ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมไม่ระบุผลตอบแทนที่แน่นอน ยืดหยุ่นตามผลการดำเนินงานของกองทุนรวม**

- กรมธรรม์ Unit Link จะได้รับเงินลงทุนพร้อมส่วนเกิน หรือส่วนขาดทุนจากการลงทุนคืนในจำนวนที่มากกว่าหรือน้อยกว่าจำนวนเงินลงทุนเริ่มต้นก็ได้


- กรมธรรม์ Unit Link ผู้ขายต้องสอบผ่านการเป็นตัวแทนประกันชีวิตและขึ้นทะเบียนกับกรมการประกันภัย อบรมและสอบผ่านหลักสูตรผู้ทำหน้าที่ขายหน่วยลงทุน ขึ้นทะเบียนกับกรมการประกันภัย และสำนักงาน ก.ล.ต.

กล่าวโดยสรุปแล้วกรมธรรม์ Unit Link ก็คือการรวมกันของ 2 ผลิตภัณฑ์ อันได้แก่ กรมธรรม์ประกันชีวิต และหน่วยลงทุนของกองทุนรวม กรมธรรม์ Unit Link จึงนับได้ว่าเป็นการเพิ่มความสะดวกสบายสำหรับผู้เอาประกัน ที่ต้องการแสวงหาโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่แตกต่างจากการเอาประกันในลักษณะเดิม และพร้อมที่จะยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ (ตามนโยบายการลงทุนของหน่วยลงทุนที่ได้พิจารณาเลือกไว้) ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมและได้รับความคุ้มครองในชีวิตไปพร้อมๆ กัน

...ซึ่งจากข่าวคราวที่ออกมา มีการคาดการณ์กันว่า "ยูนิตลิงค์" น่าจะเริ่มต้นในบ้านเราได้ประมาณปีหน้ากันแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น