xs
xsm
sm
md
lg

ขยายเวลาคุ้มครองเงินฝาก ความจำเป็น(?)...เพื่อเรียกความเชื่อมั่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชื่อว่าหลายคนคงจะคุ้นหูกับ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันคุ้มครองเงินฝาก หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า พรบ.คุ้มครองเงินฝาก ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2551 ที่ผ่านมา...โดยหลายคนต่างปรับตัวและตื่นตัวกับพรบ.ดังกล่าวเป็นอย่างมาก ซึ่งทางผู้บริหารหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ก็ถือเป็นโอกาสทองที่จะได้ลูกค้าหน้าใหม่เข้ามาลงทุน เเต่จนแล้วจนรอด กลับไม่ได้เป็นอย่างที่ผู้บริหารบลจ.มอง เนื่องจากธนาคารพาณิชย์หลายเเห่ง ทำสงครามเงินฝากเพื่อเรียกลูกค้าให้เข้ามาฝากเงิน โดยใช้ดอกเบี้ยเป็นเเรงจูงใจ ก็ต้องยอมรับว่า สงครามเงินฝากครั้งนี้เกิดขึ้นจากการคุ้มครองเงินฝากนั้นเอง

สำหรับสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เป็นแนวคิดของภาครัฐในการนำระบบประกันเงินฝากแบบจำกัดวงเงินมาใช้แทนการคุ้มครองจากภาครัฐ โดยผลดีคือจะช่วยเสริมความมั่นคงในระบบสถาบันการเงินให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น การปล่อยสินเชื่อมีความรัดกุมมากขึ้น ซึ่งหากมีการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากเรียบร้อยแล้ว ภาระการประกันเงินฝากจะเป็นหน้าที่ของสถาบันคุ้มครองเงินฝากเพียงตามจำนวนวงเงินที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ฉบับใหม่เท่านั้น

โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะไม่ค้ำประกันเงินฝากของสถาบันการเงิน (แบงก์) เต็มทั้งจำนวนเหมือนในปัจจุบัน เช่น แต่จะทยอยลดการค้ำประกันเงินฝากตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้ โดยให้ปีที่ 1 หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ รัฐบาลจะคุ้มครองเงินฝาก หรือจ่ายคืนเงินให้ประชาชนผู้ฝากเงิน ในกรณีสถาบันการเงินล้ม หรือเกิดปัญหาเต็มจำนวนตามวงเงินที่ฝากในแต่ละบัญชี ส่วนปีที่ 2 ให้ลดลงมาคุ้มครองเพียง 100 ล้านบาทต่อบัญชี ในปีที่ 3 ลดลงมาคุ้มครองเหลือ 50 ล้านบาทต่อบัญชี ในปีที่ 4 คุ้มครองเพียง 10 ล้านบาทต่อบัญชี และปีที่ 5 เป็นต้นไป รัฐบาลจะให้การคุ้มครองเงินฝากเพียง 1 ล้านบาทต่อบัญชี

เเต่หลักจากที่ สถาบันการเงินชั้นนำของสหรัฐ อย่าง เล่ห์เเมน บราเธอส์ ประกาศล้มละลาย นั้นได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทั้งตลาดเงิน เเละตลาดทุน ประชาชนต่างพากันไปถอนเงินธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากไม่มั่นใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงเกิดปรากฏภาพ ประชาชนเเตกตื่นพากันถอนเงินตั้งเเต่ธนาคารยังไม่เปิดทำการ เหตุการณ์เหล่านี้ ทำให้รัฐบาลของประเทศต่างๆพากันประกาศรับประกันเงินฝาก เเม้กระทั่งประเทศไทย

สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า นายกรัฐมนตรี เห็นชอบแนวทางการแก้ไขกฎหมายค้ำประกันเงินฝาก ดังนั้นกระทรวงการคลังจะเสนอพระราชกฤษฎีกาขยายเวลาการคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน ออกไปเป็น 3 ปี จากเดิม 1 ปี ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันอังคารที่ 28 ต.ค.นี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับระบบสถาบันการเงิน ในช่วงเกิดวิกฤติสถาบันการเงินในต่างประเทศและเศรษฐกิจโลกมีความผันผวน

"ขณะนี้มีปัญหาวิกฤติ สถาบันการเงินทั่วโลกในระยะสั้น จึงต้องการดูแลผู้ฝากเงินเหมือนกับต่างประเทศที่ได้คุ้มครองเงินฝากไปแล้ว เพื่อให้ผู้ฝากเงินมีความมั่นใจไม่ถอนเงินฝากจากสถาบันการเงินต่างๆ พร้อมกับได้พบสัญญาณความไม่มั่นใจในระบบสถาบันการเงิน โดยมีลูกค้าสถาบันการเงินบางแห่งได้รับจดหมายทั้งในส่วนของผู้ฝากเงินและลูกค้าเงินกู้ และโดยในส่วนของผู้ฝากเงินรายใหญ่ได้รับจดหมายว่าหากต้องการจะถอนเงินฝากจะต้องมีการแจ้งล่วงหน้า ทำให้ลูกค้ามีความกังวลเรื่องสภาพคล่องในระบบ ขณะที่ลูกค้าเงินกู้มีสถาบันการเงินบางแห่งทำหนังสือเตือนเรื่องการปล่อยสินเชื่อว่าจะมีการติดตามอย่างเคร่งครัด ทำให้มีความกังวลเรื่องสภาพคล่องว่ามีเพียงพอที่จะปล่อยสินเชื่อหรือไม่ "

มุมมองผู้จัดการกองทุน
วรวรรณ ธาราภูมิ กรรมการผู้จัดการ บลจ.บัวหลวง จำกัด กล่าวว่า เห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะประกาศขยายเวลาใสการคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน ซึ่งเป็นการดีที่รัฐบาลจะเข้ามาอุ้มไม่ให้เสียหายมากไปกว่านี้ ซึ่งต่างประเทศก็ประกาศประกันเงินฝากไว้เช่นกัน เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

อาสา อินทรวิชัย ผู้จัดการสายการลงทุนตราสารหนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยา ให้ความเห็นว่า โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะขยายเวลาคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนจาก 1 ปี เป็น 3 ปี ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสถาบันการเงิน เเละเป็นการเรียกความเชื่อมั่นให้กับผู้ฝากเงิน

โดยวิกฤติสถาบันการเงินต่างประเทศที่เกิด รุนเเรงกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสิงค์โปร ที่เข้าไปลงทุนสตรักเจอโน้ต ออกโดยเลห์เเมน บราเธอร์ ซึ่งซื้อผ่านสถาบันการเงินอื่น เมื่อเล่ห์เเมน บราเธอส์ เกิดล้มละลายขึ้นมา ทำให้นักลงทุนเรียกร้องให้มีการคืนเงิน ซึ่งทางเล่ห์เเมนไม่สามารถจ่ายเงินคืน ทางสถาบันการเงินอื่นที่เป็นนายหน้าจึงต้องชดใช้เงินคืนเเทน เเต่เป็นการให้เงินคืนเเบบมีเงื่อนไขคือ จะจ่ายเงินคืนก็ต่อเมื่อผู้ลงทุนเป็นผู้สูงอายุตั้งเเต่ 65 ปีขึ้นไปหรือผู้ลงทุนที่มีอายุน้อยที่สุด

"ในส่วนของไทย คงไม่เจอวิกฤติการเงินอย่างต่างประเทศ เนื่องจากทางธนาคารเเห่งประเทศไทย ดูเเลเรื่องนี้เป็นพิเศษ ประกอบกับเราเคยมีบทเรียนเเล้วตั้งเเต่ปี 2540 เเล้ว เชื่อว่า รัฐบาบขยายเวลาคุ้มครองเงินฝากเพิ่ม น่าจะเป็นการเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมาเหมือนเดิม" อาสา กล่าว

ขณะเดียวกัน อาสา บอกอีกว่า ตั้งเเต่เกิดวิกฤตสถาบันการเงิน มีนักลงทุนรายใหม่ที่มีความรู้ความเข้าใจการลงทุน เข้ามาลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงินหรือมันนี่มาร์เก็ตเพิ่มขึ้น ส่วนกองทุนตราสารหนี้ที่ทางบลจ.ทยอยขายหน่วยลงทุนในช่วงนี้ก็ได้รับการตอบรับดีเช่นกัน

สอดคล้องกับ จารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บลจ. แอสเซท พลัส จำกัด อธิบายว่า การประกาศประกันเงินฝากเต็มจำนวนของหลายประเทศนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เเต่สิ่งที่ประชาชนควรจะเรียนรู้เเละเข้าใจคือช่องทางใหม่ในการออมเงินนอกจากเงินฝาก หรือตั๋วบีอี ซึ่งถามว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ก็ขึ้นอยู่ว่าผู้ลงทุนเข้าไปลงทุนในธนาคารพาณิชย์ที่มีชื่อเเละน่าเชื่อถือหรือไม่

สำหรับการลงทุนในกองทุนรวมก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง โดยนักลงทุนต้องดูว่าตนเองรับความเสี่ยงได้มากน้อยเเค่ไหน กองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ที่มีความเสี่ยงน้อยก็เป็นอีกทางหนึ่งเช่นกัน ในเเง่ของผลตอบเเทนก็ใกล้เคียงกับเงินฝากประจำ เเต่กองทุนรวมมีข้อดีที่ไม่ต้องเสียภาษีซึ่งการลงทุนในรูปแบบดังกล่าวเหมาะกับผู้ที่รับความเสี่ยงได้น้อย

...ถึงแม้ว่าทางรัฐบาลจะออกมาให้ความมั่นใจเเละคุ้มครองเงินฝากในธนาคาร เเต่ทางทีมงานผู้จัดการกองทุนรวม เชื่อว่า การเเก้ปัญหาเเละสร้างความมั่นใจนี้ ไม่ใช่วิธีทางการเเก้ปัญหาที่ดีที่สุด ซึ่งเราก็น่าจะถามตัวเองได้เเล้วว่า...ถึงเวลาเเล้วหรือยังที่เราต้องหาวิธีการออมเงินรูปเเบบใหม่ ที่ไม่ใช่การออมเงินไว้ในธนาคารเพียงอย่างเดียว
วรวรรณ ธาราภูมิ
อาสา อินทรวิชัย
จารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ
กำลังโหลดความคิดเห็น