หลังจากที่เกิดวิกฤตการณ์สถาบันการเงินในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างไปยังประเทศต่างๆ นั้น ประเทศเกาหลีใต้ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ของค่าเงินวอนของประเทศได้อ่อนค่าลงอย่างมากนับตั้งแต่ต้นปี ทำให้ผู้ลงทุนเกิดความกังวลต่อการลงทุนในประเทศเกาหลีใต้ที่ผู้ลงทุนส่วนใหญ่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้
ในเรื่องนี้ ทางผู้บริหารกองทุนของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แอสเซท พลัส จำกัด นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโส จึงสรุปสภาวะการณ์การลงทุนของประเทศเกาหลีใต้ไว้ให้ทราบกันดังนั้น
ค่าเงินวอนต่อดอลล่าร์สหรัฐปรับตัวลดลง
นับตั้งแต่ต้นปีค่าเงินวอนต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจาก 935.80 วอนต่อดอลล่าร์สหรัฐ เป็น 1,369.50 วอนต่อดอลล่าร์สหรัฐ (16 ต.ค.51) หรืออ่อนค่าลง 46.35% โดยมีสาเหตุหลักมาจากความวิตกกังวลในสถานะของประเทศเกาหลีใต้ในด้านต่างๆได้แก่
- การกู้ยืมระยะสั้นของประเทศเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 6 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในปี 2548 เป็น 1.75 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในปี 2551
- สินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารสูงถึง 140% โดยธนาคารส่วนใหญ่กู้ยืมเงินตราต่างประเทศเพื่อขยายสินเชื่อ
- ประเทศเกาหลีใต้ในปัจจุบันอยู่ในสถานะขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ประมาณ 2% ของ GDP
- มีความกังวลว่าจะก่อให้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ในระดับสูง จากตัวเลขภาคครัวเรือนในประเทศเกาหลีใต้มีภาระหนี้สินที่สูงถึง 148% เทียบกับรายได้สุทธิหลังหักภาษี
ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
ในขณะที่สภาพคล่องทางการเงินของประเทศเกาหลีใต้อยู่ในสภาวะแย่ลง จากผลกระทบการที่เกิดการขาดดุลทางการค้าและเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้น แต่เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้ยังคงแข็งแกร่งแตกต่างจากในช่วงวิกฤตการณ์การเงินของเอเชียเมื่อปี 2540 ที่มีผลอันเนื่องจาก
- ปริมาณเงินตราต่างประเทศสำรองที่มีอยู่สูงกว่าถึง 2.39 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งเพียงพอสำหรับหนี้สินระยะสั้นของประเทศเกาหลีใต้ แตกต่างจากปี 2540 ที่มีหนี้สินระยะสั้นสูงกว่าเงินสำรองเงินตราต่างประเทศถึง 700%
- การกู้ยืมจากต่างประเทศของประเทศเกาหลีใต้คิดเป็นประมาณ 40% ของ GDP ซึ่งถือเป็นระดับที่สามารถจัดการได้ (โดยนิยามของ IMF)
- ความเสี่ยงของระดับหนี้สินของภาคครัวเรือนซึ่งส่วนใหญ่เป็นการกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจประเทศเกาหลีใต้ ลดลงด้วยปัจจัยเกื้อหนุนอื่น เช่น อัตราส่วนเฉลี่ยระหว่างหนี้สินทั่วไปต่อหนี้สินเพื่อที่อยู่อาศัยประมาณ 50% ซึ่งแตกต่างจากกรณีของสหรัฐฯ และอังกฤษซึ่งสูงกว่าที่ประมาณ 70-80% และการกู้ยืมเพื่อการจำนองคิดเป็น 32% ของ GDP ในขณะที่ของสหรัฐฯ คิดเป็น 80% ของ GDP
ปริมาณหนี้ต่างประเทศของระบบธนาคารเกาหลีใต้ ทั้งหมด 211,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (สิ้นสุด ณ เดือนมิถุนายน 2008) แบ่งออกเป็นหนี้ของสถาบันการเงินในประเทศ 127,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เป็นหนี้ระยะสั้น 66,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ และหนี้ระยะยาว 61,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ส่วนที่เหลืออีก 83,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เป็นหนี้สินของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศในเกาหลีใต้ ซึ่งแม้ในกรณีสาขาธนาคารต่างชาติดังกล่าวจะผิดนัดชำระหนี้ แต่ส่วนดังกล่าวมิใช่ความรับผิดชอบของรัฐบาลเกาหลีใต้และธนาคารพาณิชย์ในประเทศ จึงมิได้มีผลกระทบต่อปริมาณเงินสำรองต่างประเทศของประเทศเกาหลีใต้ โดยอัตราส่วนหนี้สินทั้งหมดต่อปริมาณเงินสำรองต่างประเทศ ณ 30 มิ.ย.51 อยู่ที่ระดับ 1.72 เท่า ซึ่งต่ำกว่าในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียที่ 8.5 เท่า
มาตรการแก้ไขผลกระทบ
ในเรื่องของมาตราการในการแก้ไขปัญหานั้น ประเทศเกาหลีใต้ได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาในระบบสถาบันการเงิน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมีสรุปมาตรการต่าง ๆ ดังนี้
- นโยบายการเงิน : ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ
- มาตรการเสริมสภาพคล่อง : รัฐบาลใช้วงเงินจำนวน 4.3 ล้านล้านวอนเพื่อช่วยสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม และยังเตรียมสภาพคล่องสำหรับบริษัทขนาดเล็กที่ประสบปัญหาการขาดทุนจากตลาดอัตราแลกเปลี่ยน
- มาตรการอื่น ๆ : สนับสนุนผู้ส่งออกในการเปลี่ยนกำไรจากสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ มาเป็นเงินสกุลวอน
- แผนสร้างความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงิน : โดยหลังจาก S&P ส่งสัญญาณเตือนปัญหาในระบบสถาบันการเงินที่มีหนี้เงินสกุลต่างประเทศสูงถึง 240,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ และได้ปรับแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Outlook) เป็น “ลบ” สำหรับธนาคารพาณิชย์เกาหลีใต้ แต่ยังคงแนวโน้ม “มีเสถียรภาพ”
สำหรับรัฐบาลเกาหลีใต้ ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเกาหลีใต้ ได้ยืนยันที่จะเข้าแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินอย่างเร่งด่วน โดยมีมาตรการในการแก้ไข ดังนี้
- ประกาศค้ำประกันเงินกู้เงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐของธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นของเกาหลีใต้เท่านั้น (ไม่รวมสาขาของธนาคารต่างประเทศ) วงเงินสูงสุด 100,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เฉพาะเงินกู้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค.51- 30 มิ.ย. 52 โดยคุ้มครองเป็นเวลา 3 ปี เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถต่ออายุหนี้ที่มีประมาณ 80,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐที่จะครบอายุในช่วงดังกล่าว และสร้างระดับความเชื่อมั่นให้กับธนาคารพาณิชย์
- ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศทำสัญญากู้ยืมโดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Repurchasing Agreement) และพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ เพื่ออัดฉีดเงินวอนเข้าสู่ระบบสถาบันการเงิน
- ธนาคารกลางประกาศปล่อยกู้เงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐ แก่สถาบันการเงินเกาหลีใต้ เพื่อป้องกันปัญหาขาดสภาพคล่องเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐ วงเงิน 30,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ
- ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่นักลงทุนที่ลงทุนในหุ้น และหุ้นกู้ โดยต้องลงทุนเป็นระยะเวลา 3 ปีขึ้นไป
- ทางการประกาศอัดฉีดสภาพคล่องผ่าน Industrial Bank of Korea ซึ่งเป็นธนาคารปล่อยสินเชื่อ SME รายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ ด้วยเงินลงทุน 1 ล้านล้านวอน หรือ 767 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เพื่อใช้เป็นช่องทางในการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐแท้จริง (Real Sector) ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นการเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนและระบบสถาบันการเงิน
ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการที่รัฐบาลประกาศออกมาจะช่วยผ่อนคลายปัญหาการขาดสภาพคล่อง รวมถึงลดระดับความผันผวนของตลาดการเงิน และการอ่อนตัวของค่าเงินวอนที่อ่อนตัวลงในช่วงนี้ ในขณะที่ระดับราคาน้ำมันและปริมาณความต้องการในประเทศลดลงน่าจะลดแรงกดดันต่อภาวะการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวจะต้องใช้ระยะเวลาในการพิสูจน์ รวมถึงการคลายตัวของปัญหาสภาพคล่อง (Credit Crunch) ในตลาดการเงินระหว่างประเทศด้วย ซึ่งภายหลังรัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลกได้ร่วมมือกันอัดฉีดสภาพคล่องประมาณ 3,300,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เข้าสู่ตลาดและค้ำประกันเงินฝาก 100% รวมทั้งการเพิ่มทุนโดยตรงจากรัฐบาลเข้าสู่ธนาคาร ทำให้สภาพคล่องในตลาดโลกเริ่มปรับตัวดีขึ้น แสดงให้เห็นว่า ธนาคารเริ่มปล่อยกู้ซึ่งกันและกันมากขึ้น ซึ่งประเด็นดังกล่าวเหล่านี้เป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป
ในด้านการแก้ปัญหาสภาพคล่องของสถาบันการเงินประเทศทั่วโลกนั้น รัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลกได้ร่วมมือกันอัดฉีดสภาพคล่องประมาณ 3,300,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เข้าสู่ตลาดการเงิน และค้ำประกันหนี้ของธนาคารพาณิชย์และเงินฝาก 100% ในหลายประเทศ
นอกจากนี้ ในเรื่องของสถานะการลงทุนในกองทุนพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ของ บลจ.แอสเซท พลัส ผู้อำนวยการอาวุโส กล่าวว่า กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศของ บลจ.แอสเซท พลัส ลงทุนเฉพาะในตราสารหนี้ภาครัฐของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็น ตราสารที่กองทุนลงทุนโดยตรงอยู่ในตราสารภาครัฐและธนาคารที่ถือหุ้นส่วนใหญ่ (มากกว่า 50%) โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ ซึ่งถือว่าเป็นตราสารที่มีความปลอดภัยจากการผิดนัดชำระหนี้
นอกจากนี้ หากย้อนกลับไปในช่วงวิกฤตด้านการเงินของเอเชีย (Asian Crisis) ประเทศเกาหลีใต้จำเป็นต้องขอกู้ยืมเงินจาก IMF เพื่อเสริมสภาพคล่อง ในช่วงนั้นรัฐบาลเกาหลีใต้ก็ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรรัฐบาลและไม่ได้ประกาศมาตรการควบคุมเงินทุน (Capital Control) แต่อย่างใด ในส่วนของความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน กองทุนได้ทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากสกุลเงินวอน เป็นสกุลดอลล่าร์สหรัฐ และจากสกุลดอลล่าร์สหรัฐ เป็นสกุลเงินบาท ดังนั้นกองทุนจึงไม่มีความเสี่ยงในด้านความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน
อย่างไรก็ตาม กองทุนยังมีความเสี่ยงด้านคู่สัญญา (Counter Party Risk) ที่กองทุนทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวไว้ โดยเป็นการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงกับ ดอยซ์ แบงค์ ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด แบงค์ และบาร์เคลย์ ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ของประเทศเยอรมัน และ อังกฤษ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของประเทศนั้นๆ อย่างเต็มที่ในด้านสภาพคล่องและการเพิ่มทุนในอนาคตหากจำเป็น และไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์สถาบันการเงินที่เกิดขึ้นมากเท่าใดนัก โดยคาดว่ากองทุนจะได้รับคืนเงินต้นและดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนดอายุการลงทุน