xs
xsm
sm
md
lg

เลี่ยงขายหุ้นซื้อพันธบัตรแดนโสม SCBQแนะเฮดจ์ค่าเงินป้องกันขาดทุน2ทาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จับตาเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ "บลจ.ทหารไทย" มั่นใจ โอกาสที่แดนโสมจะกลับไปเกิดวิกฤตการเงินเหมือนปี 40 มีน้อย เชื่อศักยภาพแข็งแกร่ง เหตุธนาคารกลางเกาหลีใต้ ทยอยสะสมเงินสำรอง โครงสร้างฟื้นฐานทางเศรษฐกิจมั่นคง แถมมีความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบาย ทางด้าน "เอสซีบี ควอนท์" แนะ ลงทุนบอนด์เกาหลี หากไม่ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ต้องรับความเสี่ยง 2 ทาง -ไม่แนะนำขายหุ้นซื้อพันธบัตรแดนโสม

จากวิกฤตของสถาบันการเงินที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างรุนแรง และลามไปทั่วโลกทั้งประเทศในยุโรปและประเทศในเอเชีย จนหลายประเทศต้องมีมาตรการทางเศรษฐกิจออกมารองรับ และแก้ปัญหากันอย่างเร่งด่วน โดยประเทศในเอเชียแม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ แต่ก็มีบางประเทศที่มีเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจของสหรัฐโดยตรง อย่างประเทศเกาหลีที่กำลังโดนผลกระทบอยู่ในขณะนี้

รายงานข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาผู้ลงทุนของบริษัทได้แสดงความความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การอ่อนค่าลงของเงินวอน ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศเกาหลีใต้เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2540 อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงแล้วพื้นฐานทางเศรษฐกิจในปัจจุบันของเกาหลีใต้แตกต่างจากช่วงปี 2540 หลายประการ ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินเหมือนในปี 2540 จึงมีน้อยมาก

โดยปัญหาเศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้ในช่วงปี 2540 เกิดจากการพึ่งพิงเงินลงทุนระยะสั้นจากต่างประเทศจำนวนมากเพื่อนำไปขยายการลงทุนในประเทศ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลสะสมต่อเนื่องเป็นเวลานาน และเป็นจำนวนสูงถึง 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลง บริษัทต่างๆ ประสบปัญหาไม่สามารถชำระคืนเงินต้นได้ เจ้าหนี้ต่างประเทศจึงขาดความมั่นใจและหยุดปล่อยสินเชื่อ ขณะที่ธนาคารกลางมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับต่ำ ทำให้ประเทศเกาหลีใต้ประสบปัญหาไม่มีเงินสกุลต่างประเทศเพียงพอต่อการชำระคืนหนี้ต่างประเทศ จนนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเงิน

ส่วนในปัจจุบันนั้น อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2551 ประเทศเกาหลีใต้มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.3% ด้วยปัจจัยสนับสนุนหลักจากการส่งออก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น 4.3% ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและพลังงาน ด้านดุลการค้าเริ่มเปลี่ยนจากการเกินดุลในปีก่อนมาเป็นขาดดุลตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน แต่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำเพียง 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำหรับเม็ดเงินลงทุนที่ไหลออก (Capital outflow) ตามการขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาตินั้น ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินวอน (KRW) อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยนับถึงสิ้นเดือนสิงหาคมค่าเงินวอนเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงไปประมาณ 15% ขณะเดียวกันตราสารหนี้ของรัฐบาลและธนาคารกลางเกาหลีที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติจะครบกำหนดไถ่ถอนจำนวน 6,700 ล้านเหรียญสหรัฐในเดือนกันยายน จึงเกิดความวิตกว่าเศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้อาจจะประสบปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเงิน (Currency crisis) คล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2540-2541

อย่างไรก็ตาม สภาวะเศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้ในปีนี้ต่างจากวิกฤติในครั้งก่อน เนื่องจากภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ได้ทยอยสะสมเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันธนาคารกลางเกาหลีใต้มีทุนสำรองระหว่างประเทศมากเป็นอันดับ 6 ของโลกและมีจำนวนทุนสำรองสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นของประเทศ อีกทั้งในปี 2551 โดยหนี้ต่างประเทศระยะสั้นกว่าครึ่งหนึ่งเป็นการกู้ยืมโดยสาขาธนาคารต่างประเทศในเกาหลีใต้เพื่อเก็งกำไรจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ซึ่งแตกต่างจากปี 2540 ที่หนี้ต่างประเทศระยะสั้นเกิดขึ้นจากบริษัทในประเทศเกาหลีใต้ที่ลงทุนเกินตัว

นอกจากนี้ ประเทศเกาหลีใต้ยังคงมีโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี และมีความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมากขึ้นกว่าเมื่อครั้งประสบปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเงินเมื่อปี 2540-2541 ดังนั้นเชื่อว่าสถานการณ์ในปัจจุบันไม่น่าจะนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเงินที่รุนแรง อย่างไรก็ตามนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในตราสารหนี้ประเทศเกาหลีใต้ควรพิจารณาถึงหลักการกระจายความเสี่ยงของประเภทตราสารและประเทศที่เข้าไปลงทุน เพื่อเป็นหลักประกันในการสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงในระยะยาว

SCBQแนะเฮดจ์ค่าเงินป้องกันความเสี่ยง
นายอรุณศักดิ์ จรูญวงศ์นิลมล ผู้อำนวยการสายงานจัดการกองทุน บลจ. เอสซีบี ควอนท์ ได้มอง สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศเกาหลีใต้ขณะนี้ว่า ภายหลังจากที่วิกฤตการทางการเงินในประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างรุนแรงและลุกลามไปทั่วโลก ทั้งยุโรปและเอเชีย ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้ ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เป็นเพราะเศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้นั้น มีการส่งออกสินค้าไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวนมากซึ่งเป็นตลาดใหญ่ โดยสินค้าที่มีการส่งออกไปนั้นเป็นสินค้า ประเภท อิเล็กทรอนิค และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ซึ่งถือเป็นสินค้าที่ประเทศเกาหลีใต้ผลิตและส่งออกเป็นจำนวนมาก ขณะที่สินค้าประเภทรถยนต์นั้นไม่ค่อยได้รับผลกระทบมาก

ทั้งนี้ เมื่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเกิดได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และลามไปทั่วโลก ทำให้ประเทศที่ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ อย่างเกาหลีใต้ จึงได้รับผลกระทบโดยตรง และยังส่งผลกระทบมาถึงเรื่องของค่าเงิน วอน ที่อ่อนค่าลงไปด้วย โดยในขณะนี้สถานการณ์ของค่าเงินวอน มีการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง และมีความน่ากังวลมากกว่าค่าเงินบาทของประเทศไทย

ขณะเดียวกัน ในส่วนของการเข้าไปลงทุนในประเทศเกาหลีใต้ในขณะนี้ นายอรุณศักดิ์ กล่าวว่า การลงทุนในส่วนของพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเกาหลีใต้นั้น อัตราดอกเบี้ยของประเทศเกาหลีมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลง รวมถึงค่าเงินวอนที่ยังอ่อนค่าลง ซึ่งหากเข้าไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลโดยที่ไม่ได้มีการป้องกันความเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนไว้ จะมีความเสี่ยงอยู่ค่อนข้องมาก อาจจะขาดทุนจากการลงทุนทั้ง 2 ด้าน ทั้งอัตราดอกเบี้ยและเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของประเทศเกาหลีใต้เอง ได้มีการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง โดยมีการใช้นโยบายในเรื่องของดอกเบี้ย รวมทั้ง การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เป็นการแก้ปัญหาที่เหมือนกับหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบในเรื่องของการเงิน

ไม่แนะนำขายหุ้นซื้อพันธบัตรแดนโสม
ทางด้าน แหล่งข่าวจากทางบลจ. รายหนึ่งระบุว่า โดยภาพรวมแล้วเศรษฐกิจของประเทศเกาลีใต้ในขณะนี้ ค่าเงินวอนของเกาหลีใต้ตกลงไปอย่างแรง โดยธนาคารต่างๆในประเทศมีการปล่อยเงินกู้ในอัตราที่สูงมาก ซึ่งสูงกว่า 100% ส่งผลให้ธนาคารเหล่านี้มีจำนวนหนี้สินที่ค่อนข้างสูง จึงต้องมีการทยอยปรับลดหนี้สินเหล่านี้ลงไป ดังนั้นแล้ว เมื่อเกิดวิกฤตทางการเงินขึ้น จึงส่งผลมาถึงในส่วนของภาคสถาบันการเงินด้วยเช่นกัน ทำให้เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในระยะนี้อาจจะยังไม่ดีนัก

ส่วนการเข้าไปลงทุนในประเทศเกาหลีใต้ในขณะนี้ ยังถือว่ามีความเสี่ยงอยู่ในระดับที่มาก อันเนื่องมาจากความไม่เชื่อมั่นในสภาพเศรษฐกิจ และค่าเงินวอนของประเทศที่อ่อนค่าลง รวมถึงในส่วนของพันธบัตรรัฐบาลในประเทศเกาหลีใต้ด้วย ซี่งแม้ว่านักลงทุนส่วนใหญ่ในขณะนี้ จะพากันเทขายหุ้นเพื่อนำเงินไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลแทนเพื่อความมั่นคง แต่ในส่วนของพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเกาหลีใต้นั้น ในขณะนี้ไม่น่าลงทุน เพราะระบบเศรษฐกิจของประเทศไม่มีความเชื่อมั่น และหากเปรียบเทียบกับการลงทุนในพันธบัตรของรัฐบาลประเทศไทยแล้ว ถือว่าพันธบัตรรัฐบาลของไทยดีกว่าประเทศเกาหลีใต้มาก
กำลังโหลดความคิดเห็น