xs
xsm
sm
md
lg

การกระจายเงินลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงเป็นของฟรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ ออมอุ่นใจกับกองทุนประกันสังคม
วิน พรหมแพทย์, CFA, win@sso.go.th


เมื่อเดือนที่แล้วผมได้เรียนท่านผู้อ่านไปว่า การที่สำนักงานประกันสังคมนำเงินออมของท่านไปลงทุนนั้น ก็เพื่อสร้าง “รายได้” ให้กองทุนได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน นับตั้งแต่ก่อตั้งกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ เพื่อเดือนธันวาคม 2541 ถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 10 ปี กองทุนกรณีชราภาพซึ่งเป็นเงินออมของท่านผู้ประกันตนได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ย 5.59% ต่อปี นับว่าสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารมาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่สูงพอเมื่อเทียบกับภาระการจ่ายบำนาญเมื่อท่านผู้ประกันตนจะเริ่มทยอยเกษียณอายุและรับบำนาญตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป สำนักงานประกันสังคมจึงจำเป็นต้องแสวงหาแหล่งลงทุนเพิ่มเติมเพื่อให้เงินออมของท่านได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนมากขึ้น

ทั้งนี้ หากสำนักงานประกันสังคมสามารถทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนเพิ่มขึ้น 1.00% ต่อปี (จาก 5.59% เป็น 6.59%) กองทุนจะมีเม็ดเงินกำไรจากการลงทุนเพิ่มขึ้นมากกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี

การเพิ่มผลตอบแทนให้กับกองทุนทำได้โดย การกระจายเงินลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง (Diversification) จากที่ปัจจุบันเงินออมของท่านส่วนใหญ่นำไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทยซึ่งมีความมั่นคงสูงมาก แต่ก็ได้ผลตอบแทนไม่มากนัก กองทุนจึงจำเป็นต้องกระจายเงินลงทุนไปยังหลักทรัพย์กลุ่มใหม่ที่มีผลตอบแทนสูงและความเสี่ยงสูงกว่าเดิม ท่านอาจจะสงสัยว่า หากกองทุนนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์กลุ่มใหม่ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น จะทำให้ความเสี่ยงของกองทุนในภาพรวมเพิ่มขึ้นหรือไม่ แท้ที่จริงแล้ว เมื่อเรากระจายเงินกองทุนไปลงทุนในหลักทรัพย์กลุ่มใหม่ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าหลักทรัพย์ที่มีอยู่เดิม ความเสี่ยงของกองทุนในภาพรวมกลับลดลง

วิธีการที่ทำให้กองทุนมีผลตอบแทนมากขึ้นแต่มีความเสี่ยงลดลงนั้น ทำได้โดยการนำหลักทรัพย์ตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไปที่ทิศทางความเคลื่อนไหวของผลตอบแทนไม่ได้ไปในทางเดียวกันมาใส่ไว้ในกองทุน คำว่าทิศทางความเคลื่อนไหวของผลตอบแทนนี้ ในทางสถิติเราเรียกว่า Correlation Coefficient หรือ ค่าสหสัมพันธ์ หลักทรัพย์ 2 ตัวที่ผลตอบแทนไปในทิศทางเดียวกันพอดีจะมี Correlation เท่ากับ 1.0 หลักทรัพย์ 2 ตัวที่ผลตอบแทนไปในทิศทางเดียวกันแต่อาจจะมากน้อยต่างกัน มี Correlation ต่ำกว่า 1.0 แต่ยังคงเป็นบวก ส่วนหลักทรัพย์ 2 ตัวที่ผลตอบแทนไปในทิศทางตรงข้ามกันจะมี Correlation เป็นลบ

สิ่งที่เราต้องทำคือนำเงินออมไปลงทุนในหลักทรัพย์ตั้งแต่ 2 ตัวหรือ 2 กลุ่มขึ้นไปที่มี Correlation ต่ำกว่า 1.0 เราก็จะทำให้เงินออมของเรามีความเสี่ยงลดลงเมื่อเทียบกับการลงทุนในหลักทรัพย์เพียงตัวเดียว

เราลองมาดูตัวอย่างง่ายๆ กันนะครับ


สมมติว่าเรามีหลักทรัพย์ให้เลือกลงทุน 2 อย่าง คือ พันธบัตรไทย และ หุ้นไทย จากข้อมูลทางสถิติเราพบว่า การลงทุนในพันธบัตรไทยนั้นคาดว่าจะให้ผลตอบแทน 4.08% ต่อปี มีระดับความเสี่ยง 8.16% (ตัวเลขยิ่งมาก ความเสี่ยงยิ่งสูง) ในขณะที่หุ้นไทยคาดว่าจะให้ผลตอบแทน 10.59% ต่อปี มีระดับความเสี่ยง 22.44% หลักทรัพย์ทั้ง 2 กลุ่มนี้มีค่าสหสัมพันธ์หรือ Correlation เท่ากับ -0.04 แสดงว่าผลตอบแทนไปในทิศทางตรงข้ามกันเล็กน้อย

หากเรานำเอาเงินออมของเราไปลงทุนในพันธบัตรไทยหรือหุ้นไทยในสัดส่วนต่างๆ กัน ลองดูนะครับว่าจะเกิดผลอะไรขึ้น

กรณีกองทุน A นำเงินออมทั้ง 100% ไปลงทุนในพันธบัตรไทย ท่านก็จะได้รับผลตอบแทน 4.08% ต่อปีและมีความเสี่ยง 8.16% กองทุนนี้มีประสิทธิภาพต่ำเพราะท่านจะได้ผลตอบแทนประมาณ 0.50% ต่อความเสี่ยง 1.0%

กรณีกองทุน B แบ่งเงินลงทุนในพันธบัตร 80% และลงทุนในหุ้น 20% ท่านจะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเป็น 5.38% แต่ความเสี่ยงลดลงเหลือ 7.77% ที่สำคัญคือกองทุนมีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาก เพราะท่านจะได้ผลตอบแทนประมาณ 0.69% ต่อความเสี่ยง 1.0%

กรณีกองทุน C แบ่งเงินลงทุนในพันธบัตร 50% และลงทุนในหุ้น 50% ท่านจะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเป็น 7.34% และความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น 11.78% ถึงแม้ว่าจะมีความเสี่ยงสูงกว่าสองกองทุนแรก แต่กองทุน C ยังจัดว่ามีประสิทธิภาพสูง เพราะท่านจะได้ผลตอบแทนประมาณ 0.62% ต่อความเสี่ยง 1.0%

กรณีกองทุน D แบ่งเงินลงทุนในพันธบัตร 20% และลงทุนในหุ้น 80% ท่านจะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเป็น 9.29% และความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น 17.96% ถึงแม้ว่าจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นอีก แต่การลงทุนในหุ้นมากเกินไปเริ่มทำให้ประสิทธิภาพลดลง เพราะท่านจะได้ผลตอบแทนประมาณ 0.52% ต่อความเสี่ยง 1.0%

กรณีกองทุน E นำเงินออมทั้ง 100% ไปลงทุนในหุ้น ท่านจะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเป็น 10.59% และความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น 22.44% กองทุนที่ลงทุนในหุ้นมีประสิทธิภาพต่ำที่สุด เพราะท่านจะได้ผลตอบแทนประมาณ 0.47% ต่อความเสี่ยง 1.0%

จากตัวอย่างง่ายๆ ข้างต้น ท่านจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เพียงแค่เราจัดแบ่งเงินลงทุนเสียใหม่ จากเดิมที่ลงทุนในพันธบัตรไทย 100% แบ่งมาลงทุนในหุ้น 20% คงเหลือพันธบัตรไว้ 80% ท่านจะได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น แต่มีความเสี่ยงลดลง ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่า การกระจายเงินลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง (Diversification) เป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย และเป็นสิ่งที่ท่านได้มาฟรีๆ เพียงแค่เรารู้วิธีการจัดแบ่งเงินลงทุนเท่านั้น

ด้วยหลักฐานข้างต้นนี้เอง สำนักงานประกันสังคมจึงได้พยายามแสวงหาแหล่งลงทุนใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เงินออมของท่านที่ออมไว้กับกองทุนประกันสังคมมีผลตอบแทนสูงขึ้นในขณะที่ความเสี่ยงลดลง ในอดีตกองทุนประกันสังคมนำเงินไปลงทุนในเงินฝากธนาคารทั้ง 100% ต่อมาสำนักงานได้ทยอยกระจายเงินลงทุนไปสู่หลักทรัพย์กลุ่มต่างๆ ทีละเล็กทีละน้อย เริ่มจาก พันธบัตรรัฐบาลไทย พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังค้ำประกัน หุ้นกู้เอกชนที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับ Investment Grade หุ้นสามัญ และล่าสุดได้มีการเริ่มลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยเริ่มจากกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำก่อน คือ พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ และหุ้นกู้เอกชนต่างประเทศ

ในอนาคต สำนักงานประกันสังคมจำเป็นจะต้องขยับขยายไปลงทุนในหลักทรัพย์กลุ่มใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนทางเลือกต่างๆ เพื่อเพิ่มผลตอบแทนและลดความเสี่ยงให้กับเงินของท่านที่ออมไว้กับกองทุนประกันสังคม

หากนายจ้างหรือผู้ประกันตนท่านใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการออมเงินกับกองทุนประกันสังคมเพื่อให้ได้รับบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพหลังเกษียณ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคม เขตพื้นที่/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ หรือที่สายด่วนประกันสังคม 1506 ติดต่อระบบโทรศัพท์ตอบรับอัตโนมัติ ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง ให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุด ตั้งแต่เวลา 07.00 – 19.00 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น