xs
xsm
sm
md
lg

ความหวัง$7แสนล้าน...หัวหรือก้อย แต่เศรษฐกิจไทยยังเผชิญผลกระทบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตลาดการเงินได้กลับมามีความหวังอีกครั้งต่อแผนฟื้นฟูภาคการเงินสหรัฐฯ มูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ฯ หลังจากที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้ออกมาสร้างความมั่นใจให้กับตลาดการเงินทั่วโลกว่า ทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจของฝ่ายบริหารจะเดินหน้าเจรจากับแกนนำในสภานิติบัญญัติสหรัฐฯ เพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายแผนฟื้นฟูภาคการเงินเพื่อดึงดูดเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาฯ ในการประชุมสัปดาห์นี้ หลังจากเมื่อวันจันทร์ที่ 29 กันยายน ที่ผ่านมา ตลาดการเงินโลกต้องประหลาดใจและพบกับความผิดหวัง เมื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติสหรัฐฯ ได้ลงมติคว่ำร่างกฎหมายแผนฟื้นฟูภาคการเงินวงเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์ฯ ด้วยคะแนนเสียง 228 ต่อ 205

และแม้ว่ามีความเป็นไปได้ที่สภานิติบัญญัติสหรัฐฯ อาจจะพิจารณาผ่านแผนฟื้นฟูภาคการเงินในเร็วๆ นี้ แต่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยังคงมีประเด็นความไม่ชัดเจนในเรื่องประสิทธิผลของแผนดังกล่าว ในขณะที่รายละเอียดของแผนการช่วยเหลือภาคการเงิน คงจะต้องถูกแก้ไขสาระสำคัญบางส่วนอีกครั้ง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งนี้ คาดว่า ข้อตกลงในแผนการให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงินและการรับซื้อสินทรัพย์จากสถาบันการเงินที่ปรับปรุงใหม่หลังการต่อรองระหว่างทำเนียบขาวและสภานิติบัญญัตินั้น อาจจะมีความเข้มงวดมากขึ้นไปกว่าข้อตกลงเบื้องต้นที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนฯสหรัฐฯ โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนผู้เสียภาษีสหรัฐฯ และกระบวนการเข้าไปให้ความช่วยเหลือที่จะต้องโปร่งใสและรายงานต่อฝ่ายนิติบัญญัติ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องติดตามก็คือ ความเข้มงวดที่เพิ่มขึ้นของกฎเกณฑ์ต่างๆ อาจจะส่งผลให้การให้ความช่วยเหลือขาดความยืดหยุ่น โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ภาคการเงินทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตสภาพคล่องในขณะนี้ ทำให้ประสิทธิผลของมาตรการดังกล่าวอาจถูกลดทอนลงไปได้

สืบเนื่องจากประเด็นความไม่แน่นอนของประสิทธิผลของแผนดังกล่าวในการเยียวยาปัญหาในภาคการเงิน ในขณะที่ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีความอ่อนแอ และปัญหาสภาพคล่องได้ลุกลามไปสู่หลายประเทศทั่วโลก ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์ทางการเงินและเศรษฐกิจโลกในเวลานี้ ได้ดำเนินมาถึงจุดที่มีความเปราะบางเป็นอย่างยิ่ง โดยผลกระทบที่อาจมีต่อเศรษฐกิจและภาคการเงินของไทย สามารถประเมินได้

ผลกระทบต่อภาคการเงินไทย
การที่ตลาดการเงินสหรัฐฯและตลาดการเงินโลก น่าที่จะตกอยู่ในสภาวะที่ตึงตัวต่อไปอีกระยะหนึ่งนั้น ทำให้ภาคการเงินไทยอาจจะต้องเผชิญความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงของคู่ค้า/คู่สัญญา ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ความเสี่ยงด้านการลงทุน และความเสี่ยงด้านเครดิตดังนี้

- ความเสี่ยงจากการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงของคู่ค้า/คู่สัญญา (Counterparty Risk)
จากการที่ในปัจจุบัน ภาคธุรกิจและสถาบันการเงินมีการทำธุรกรรมระหว่างประเทศจำนวนมาก ทั้งในรูปของการค้า การลงทุน การบริหารสภาพคล่อง และการกู้ยืมเงินระหว่างประเทศ ส่งผลตามมาให้ภาคธุรกิจและสถาบันการเงินดังกล่าว มีความต้องการทำธุรกรรมในตลาดล่วงหน้าเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้น ความยืดเยื้อของวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และผลที่ลุกลามไปยังสถาบันการเงินในประเทศอื่น ของโลก อาทิ ยุโรป ดังเช่นในช่วงที่ผ่านมา ก็อาจนำมาสู่ความเสี่ยงด้านคู่ค้า/คู่สัญญาที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกรณีสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าที่สถาบันการเงิน/บริษัทไทย ตกลงทำสัญญาดังกล่าวกับสถาบันการเงินในต่างประเทศที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง จนทำให้ไม่สามารถส่งมอบเงินตราต่างประเทศคืนตามกำหนดสัญญาได้

- ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk)
ในภาวะที่ตลาดการเงินโลกยังคงตึงตัว คาดว่าสถาบันการเงินและนักลงทุนในต่างประเทศคงจะหลีกเลี่ยงความเสี่ยง และ/หรือมีความจำเป็นที่จะต้องนำสภาพคล่องกลับไปชดเชยความเสียหายจากวิกฤตการเงินที่อาจยังปรากฎขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งอาจส่งผลตามมาให้สถาบันการเงินและนักลงทุนดังกล่าวอาจ ยังคงระบายเงินลงทุน และ/หรือสินทรัพย์ในประเทศไทย โดยเฉพาะหุ้น อย่างต่อเนื่อง ซึ่งย่อมจะเพิ่มแรงกดดันต่อสภาพคล่องในระบบการเงินไทยในที่สุด ทั้งนี้ แม้ว่า ธปท.มีความสามารถที่จะบริหารสภาพคล่องในระบบการเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและไม่ขาดแคลน ผ่านหลากหลายเครื่องมือทางการเงิน อาทิ พันธบัตร ธปท. (ที่มียอดคงค้างกว่า 1.5 ล้านล้านบาท) สวอปเงินตราต่างประเทศ (ซึ่งด้าน Forward Position มียอดคงค้างประมาณ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ) และตลาด Bilateral Repo แต่การอัดฉีดสภาพคล่องของ ธปท.ผ่านเครื่องมือทางการเงินต่างๆ ดังกล่าว อาจถูกจำกัดเฉพาะในวงสถาบันการเงินขนาดค่อนข้างใหญ่ที่มีส่วนแบ่งตลาดในฐานะเงินลงทุนในพันธบัตร ธปท.หรือตลาดสวอปเงินตราต่างประเทศค่อนข้างสูง ในขณะเดียวกัน การที่ พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ที่ผ่านมา ทำให้ประเด็นความเชื่อมั่นในสถาบันการเงิน เป็นประเด็นที่มีความสำคัญและเปราะบาง โดยเฉพาะในยามที่ระบบการเงินทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตสภาพคล่องอยู่ในขณะนี้ ซึ่งทำให้การดูแลให้สภาพคล่องในระบบการเงินไทยมีปริมาณที่เพียงพอ จะยังคงเป็นโจทย์สำคัญของการดำเนินการของธปท.

- ความเสี่ยงด้านการลงทุน (Investment Risk)
ปัญหาความมั่นคงของสถาบันการเงินในต่างประเทศที่ ณ ขณะนี้ ได้แผ่ขยายวงกว้างออกไปยังประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากสหรัฐฯ นั้น อาจยังทำให้สถาบันการเงิน และนักลงทุนไทย มีความเสี่ยงด้านการลงทุนอยู่ ถึงแม้ว่าความเสี่ยงบางส่วนจะได้ทยอยรับรู้ไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา และกำลังจะทยอยรับรู้เพิ่มเติมในไตรมาส 3/2551 นี้ก็ตาม นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าความเสี่ยงจากการปล่อยกู้/ลงทุนในตราสารต่างประเทศจะอยู่ในขอบเขตที่จำกัด (ณ สิ้นไตรมาส 2/2551 เงินลงทุนในตราสารต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ไทย 12 แห่งมีจำนวน 1.36 แสนล้านบาทตามราคาทุน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.9 ของเงินลงทุนรวม และร้อยละ 1.7 ของสินทรัพย์รวม) อีกทั้ง สถาบันการเงินไทยอาจจะทยอยลดการลงทุนในตลาดต่างประเทศลง แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การลดพอร์ตการลงทุนดังกล่าว ก็อาจส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนจากการลงทุนของธนาคารพาณิชย์ได้ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

- ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk)
จากการที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า โดยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ที่ประมาณร้อยละ 4.0-4.5 โดยมีค่ากลางที่ร้อยละ 4.3 ซึ่งชะลอตัวลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 5.7 ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ และคงจะทำให้จีดีพีสำหรับทั้งปี 2551 ขยายตัวเพียงประมาณร้อยละ 5.0 ขณะที่คาดว่าจีดีพีในปี 2552 จะขยายตัวอยู่ในกรอบประมาณร้อยละ 4.0-5.5 โดยมีความโน้มเอียงไปที่กรอบล่างของประมาณการ ตามแนวโน้มการชะลอตัวของการส่งออกในปีหน้า ในขณะที่ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเอง ก็ยังอาจส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐและการลงทุนของภาคเอกชน โดยประเด็นการชะลอตัวทางเศรษฐกิจนี้ อาจส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคเอกชนไทย และเพิ่มความเสี่ยงด้านเครดิตให้กับสถาบันการเงินไทย ทำให้สถาบันการเงินยังคงต้องติดตามความเคลื่อนไหวของคุณภาพหนี้ และการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตของตน อย่างระมัดระวังต่อไป

ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริง
วิกฤตในภาคการเงินสหรัฐฯ ที่ลุกลามสู่ระบบการเงินในภูมิภาคต่างๆ ของโลกครั้งนี้ สร้างความวิตกกังวลว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงสู่ภาคเศรษฐกิจจริง และส่งผลให้เศรษฐกิจภูมิภาคหลักของโลกมีการชะลอตัวรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ แม้ว่าปัจจุบันโครงสร้างเศรษฐกิจโลกมีการพึ่งพาเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ G3 อันได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ลดน้อยลง แต่ความสำคัญของกลุ่มเศรษฐกิจหลักนี้ยังคงมีระดับสูง (สัดส่วนมูลค่าเศรษฐกิจของ G3 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 62 ของมูลค่าเศรษฐกิจโลก)

สำหรับแนวโน้มในปี 2552 มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่เศรษฐกิจ G3 จะขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 1 ขณะที่เศรษฐกิจเอเชีย ซึ่งหลายประเทศพึ่งพาการส่งออกเป็นแรงผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจคงมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามไปด้วย ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในกรณีพื้นฐานที่เศรษฐกิจในเอเชียชะลอตัวลงจากการชะลอตัวของการส่งออกเป็นหลัก และได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพคล่องในขอบเขตที่จำกัด (ไม่มีสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในเอเชียล้มตามสหรัฐฯ/ยุโรป) เศรษฐกิจโลกในปี 2552 ก็อาจจะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 3.0-3.5 ลดลงจากปี 2551 ที่ IMF คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3.9

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากวิกฤตการเงินครั้งนี้นำไปสู่ผล Domino Effect ที่กระทบต่อสภาพคล่อง ฐานะของสถาบันการเงิน ผลประกอบการของภาคธุรกิจแล้ว แรงขับเคลื่อนจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ลดน้อยลงดังกล่าว อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3.0 ซึ่งถ้ามองย้อนเหตุการณ์ในช่วงวิกฤตฟองสบู่แตกในอุตสาหกรรมไอทีสหรัฐฯ ในช่วงปี 2543 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.8 ในปี 2544 และเศรษฐกิจโลกขยายตัวเพียงร้อยละ 2.2 ขณะที่การส่งออกของไทยหดตัวลงถึงร้อยละ 7.1 ในปีนั้น

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากวิกฤตการเงินโลกในครั้งนี้ ภาคเศรษฐกิจที่จะถูกกระทบเป็นอันดับแรกคือ ภาคการส่งออก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสินค้าที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้าสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์กุ้ง นอกจากสินค้าที่มุ่งตลาดสหรัฐฯ แล้ว สินค้าอื่นๆ ที่มีการส่งออกเข้มข้นก็อาจจะได้รับผลกระทบไปด้วย เนื่องจากความอ่อนแอลงของอุปสงค์ในตลาดโลก ในขณะเดียวกัน ในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารซึ่งเป็นสินค้าจำเป็น แต่สินค้ากลุ่มนี้ก็อาจจะไม่ได้รับแรงหนุนจากปัจจัยด้านราคาเหมือนกับในปี 2551 ที่ผ่านมา

โดยรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าแนวโน้มการส่งออกในปี 2552 ในด้านปริมาณอาจจะขยายตัวต่ำลงมาอยู่ในช่วงประมาณร้อยละ 5.0-10.0 ชะลอตัวลงจากที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 11 ในปี 2551 ขณะที่ในด้านราคาสินค้าส่งออกนั้น คงได้รับแรงกดดันจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวทำให้ปรับเพิ่มขึ้นได้จำกัดหรืออาจปรับลดลงได้ โดยรวมแล้ว คาดว่าการส่งออกในปี 2552 อาจมีอัตราการขยายตัวอยู่ในช่วงประมาณร้อยละ 5.0-10.0 ชะลอลงจากที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 18.0 ในปี 2551

ภาวะการส่งออกที่ชะลอตัวลงดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปี 2552 โดยเมื่อพิจารณาปัจจัยภายในประเทศ เศรษฐกิจอาจยังเผชิญกับความไม่แน่นอนทางการเมือง จากความเสี่ยงเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้ประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2552 ไว้ในกรอบระหว่างร้อยละ 4.0-5.5 โดยโน้มเอียงไปที่กรอบล่างของประมาณการ หากวิกฤตการเงินโลกยืดเยื้อ และส่งผลกระทบในวงกว้าง

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย



กำลังโหลดความคิดเห็น