เป็นที่ทราบกันแล้วว่า เม็ดเงินอันมหาศาล 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (23 ล้านล้านบาท) ที่เสนอเข้าสู่สภาคองเกรส เพื่อกอบกู้วิกฤติสถาบันการเงินอันใหญ่โตในสหรัฐฯ นั้น ไม่ผ่านความเห็นชอบและเป็นอันต้องตกไปด้วยเสียงคัดค้าน 228 ต่อ 205 เสียง ส่งผลให้ร่างกฎหมายฟื้นฟูภาคการเงินต้องชะงักไปทันที โดยเหตุผลของการไม่รับร่างกฎหมายฉบันนี้ เนื่องจากส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจต่อแผนการดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม แผนการนี้จะถูกผลักดันจาก ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช เข้าสู่สภาคองเกรสเพื่อให้มีการพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งงบประมาณอันมากมายนี้ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันว่า เป็นการเอาเงินภาษีของประชาชนชาวสหรัฐอเมริกา มาใช้ในทางที่ไม่สมควรนัก เพราะเงินจำนวนดังกล่าวนี้สามารถนำไปพัฒนาประเทศให้เกิดประโยชน์ได้ในหลายด้าน
ผลที่ตามมาในทันทีทันใดหลังจากมติดังกล่าวไม่ผ่านการเห็นชอบจากสภา ก็คือ ตลาดหุ้นทั่วโลกพากันร่วงลงอย่างหนัก ทั้งตลาดหุ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง รวมถึงตลาดหุ้นในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น ที่ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงค์โปร ซึ่งเป็นสัญญาญที่บ่งบอกถึงความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุนในการนำเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น เช่นเดียวกับประเทศไทยตลาดหุ้นวานนี้ (29 ก.ย.) ตกลงมาอย่างหนักตั้งแต่ช่วงเช้าถึง 33 จุด ก่อนจะรีบาวน์ขึ้นมาปิดตลาด -4.75 จุด
ไม่เพียงแต่ความไม่เชื่อมั่นในภาคของตลาดทุนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ ในภาคส่วนของเศรษฐกิจประเทศย่อมมีผลกระทบด้วยเช่นกัน เพราะเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ถือว่าเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ผลกระทบย่อมมีมากอย่างแน่นอน เมื่อเกิดวิกฤต เห็นได้ชัดเจนในขณะนี้คือ ประเทศยุโรป ที่สถาบันการเงินเริ่มหลายแห่งได้รับผลกระทบกันไป จนธนาคารกลางของหลายประเทศต้องมีการอัดฉีดเงินเข้าระบบ เพื่อพยุงสถาบันการเงินทั้งหลาย รวมถึงการออกมาของ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย และนายกรัฐมนตรีของอังกฤษในช่วงก่อนหน้าที่สภาสภาคองเกรสจะพิจารณา โดยออกมาเรียกร้อง ให้สภาคองเกรสสหรัฐอนุมัติแผนกู้วิกฤตการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในตลาดและให้ทำทุกวิถีทางเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาด
ทางด้านของประเทศไทยนั้น ย่อมหลีกหนีไม่พ้นอย่างแน่นอนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ความรุนแรงที่จะมาถึงประเทศไทยนั้นจะมีมากขนาดไหน และกระทบไปถึงส่วนใดบ้าง รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศาสตร์ (GSPA NIDA) ได้เล่าถึงผลกระทบที่จะเกิดกับประเทศไทยไว้อย่างน่าสนใจว่า ผลกระทบที่จะมาถึงประเทศไทยนั้น ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนนัก แต่หากวิกฤตทางการเงินสหรัฐฯ ยังไม่ยุติลงแล้ว สิ่งที่จะลุกลามมาถึงเศรษฐกิจของประเทศไทยก็คือ ในภาคการผลิตที่จะได้รับผลกระทบ เพราะเมื่อเศรษฐกิจของสหรัฐถดถอยลง การนำเข้าสินค้าจากไทยซึ่งปัจจุบันประเทศไทยนั้น มีการเกินดุลการค้าจากสหรัฐฯ อยู่ถึง 4 แสนล้านบาท อาจจะเริ่มมีการนำเข้าจากสหรัฐลดลงไป
ทั้งนี้ หากปัญหาลุกลามไปถึงธุรกิจของภาคเอกชนสหรัฐ ซึ่งเอกชนเหล่านี้มีการกู้เงินจากสถาบันการเงินที่โดนวิกฤต มาลงทุนก็จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องมา โดยภาคเอกชนเหล่านั้น อาจจะต้องลดการจ้างงานลง และจะส่งผลไปถึงการบริโภคภายในประเทศต่อเนื่องกันไป แต่ปัญหานี้อาจจะยังไม่เกิดขึ้นในทันทีทันใด โดยอาจจะเห็นผลได้ภายในช่วงระยะเวลา 6 เดือนหากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายลง
แต่ผลกระทบที่จะเกิดในทันทีคือ ผลกระทบต่อตลาดทุน ซึ่งแน่นอนว่านักลงทุนจะมีการโยกย้ายเงินลงทุนออกไป ในเรื่องนี้ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน และจะกระทบต่อเนื่องไปถึงผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุนอย่าง "ชนชั้นกลาง" ในประเทศที่อาจจะมีการใช้จ่ายลดลงไป ดังนั้น หากมีการโยกย้ายเงินลงทุนออกไปจากตลาดทุนแล้ว ทางด้านของธนาคารกลางแห่งประเทศไทยอาจจะต้องมีมาตรการออกมารับมือในเรื่อนี้ เช่นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อให้มีเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนในระยะสั้น
ส่วนผลกระทบที่ลามไปถึงประเทศในยุโรปนั้น จะกระทบในส่วนของสถาบันการเงินที่เข้าไปลงทุนอยู่ในตราสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง ซับไพรม์ ในสหรัฐฯรวมไปถึงประเทศญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน ซึ่งผลกระทบในเรื่องการลงทุนในตราสารนั้นประเทศไทยไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ แต่อาจจะโดนปัญหาในทางอ้อมคือ การโยกย้ายสินทรัพย์ในประเทศไทยไปลงทุนในแหล่งลงทุนอื่น
อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่า การแก้ปัญหาในเรื่องของวิกฤตการทางการเงินนี้ สหรัฐอเมริกาเข้ามาแก้ไขปัญหาได้ค่อนข้างรวดเร็ว ขณะเดียวกันยังเชื่อว่า สหรัฐอเมริกาเองน่าจะมีมาตรการใหม่ๆ ออกมาเสริมในการแก้ปัญหานี้ และเชื่อว่าในระยะเวลาไม่นานต่อจากนี้ สหรัฐฯ น่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งประเทศไทยก็คงจะปรับลดลงด้วยเช่นกัน
ทางด้านของ ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้มองถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยว่า ขณะนี้เรื่องการแก้ไขปัญหาวิกฤตทางการเงินของสหรัฐฯ นั้นยังไม่ชัดเจน ว่าจะผ่านสภาหรือไม่ หรืออาจจะมีการใช้มาตรการอื่นเข้ามาแก้ไขปัญหา ซึ่งยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ ในส่วนของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อ คือ เรื่องของความเชื่อมั่นในการลงทุน โดยปัญหาซับไพรม์ที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ จะยังสร้างความไม่มั่นใจให้กับนักกลงทุนอยู่ จะส่งผลให้ตลาดหุ้นตกลงอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึง ตลาดบ้านในสหรัฐฯ ด้วย และผลกระทบที่อาจจะตามมาต่อจากนั้นคือ แบงก์ขนาดเล็ก ในสหรัฐฯ ได้ล้มละลายลง ซึ่งจะลุกลามไปถึงประเทศต่างๆในยุโรปด้วย
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็จะได้รับผลกระทบในด้านของเศรษฐกิจประเทศที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ถดถอยลง สิ่งที่จะตามาคือเรื่องของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่จะอ่อนค่าลง ทำให้ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้น ซึ่งโยงไปถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยด้วย
"สิ่งที่จะต้องจับตาดูในขณะนี้คือ จะมีการถอนเงินลงทุนออกจากประเทศไทยหรือไม่ เพราะข่าวในสถานการณ์เช่นนี้ เป็นข่างในเชิงลบ ซึ่งฟื้นตัวได้ช้าและต้องใช้เวลา" ดร. ธนวรรธน์ กล่าว
ถือว่าเป็นมุมมองที่ดี ในการที่จะบอกให้ทราบว่าสถานการณ์ของประเทศไทยจะไปในทิศทางไหนบ้าง จะโดนผลกระทบอย่างไรต่อไป ประชาชนทุกหมู่เหล่าจะต้องปรับตัวเพื่อรับมือกันอย่างไร และนักลงทุนควรจะปรับกลยุทธ์กันอย่างไรเพื่อให้ผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้อย่างไม่เจ็บตัว หรือเจ็บตัวน้อยที่สุด