สถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่มีความยืดเยื้อ ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่ทวีความรุนแรงจนรัฐบาลต้องประกาศบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งการประท้วงต่อต้านรัฐบาลขยายไปถึงการปิดสนามบินในบางจังหวัด การหยุดงานของพนักงานรัฐวิสาหกิจบางแห่งในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และแม้ว่าปัจจุบันพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจะถูกยกเลิกไปและสถานการณ์เริ่มคลายความตึงเครียดลงไปบ้าง แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าผลกระทบจากการเมืองอาจทำให้การลงทุนรวมในปีนี้ชะลอตัวลงเนื่องจากนักลงทุนอาจยังคงมีความไม่แน่ใจต่อทิศทางการเมืองตลอดจนเสถียรภาพและนโยบายของรัฐบาลในระยะต่อไป
ตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2551 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 294 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 26.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามในด้านจำนวนโครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนยังมีระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในส่วนของโครงการลงทุนจากต่างประเทศมูลค่าการลงทุนปรับลดลงกว่าร้อยละ 43.7 ส่วนในด้านการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน พบว่าในช่วง 8 เดือนแรกของปี ทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุนมีการลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างมาก ประมาณร้อยละ 21.3 และร้อยละ 45.8 ตามลำดับ การปรับลดของการอนุมัติให้การส่งเสริม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากหยุดชะงักของกระบวนการอนุมัติในช่วงที่ตำแหน่งประธานบอร์ดบีโอไอมีการว่างเว้น
เมื่อพิจารณาตามขนาดของการลงทุน การลงทุนที่ยังคงมีการขอรับส่งเสริมเพิ่มขึ้น เป็นการลงทุนขนาดเล็ก-กลาง ในขณะที่การลงทุนขนาดใหญ่ (มูลค่าการลงทุนมากกว่า 500 ล้านบาท) มีแนวโน้มลดลง ด้านการกระจายของเงินลงทุนตามประเภทกิจการ พบว่ากิจการส่วนใหญ่มีมูลค่าเงินลงทุนลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยประเภทกิจการหลัก คือ หมวดโลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มูลค่าเงินลงทุนลดลงร้อยละ 28.5 ขณะที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงร้อยละ 10.3 มีเพียงการลงทุนในอุตสาหกรรมเบาเท่านั้นที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ในส่วนของการลงทุนจากต่างประเทศ การขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากประเทศผู้ลงทุนหลักลดลงค่อนข้างมาก โดยมูลค่าการลงทุนจากญี่ปุ่นซึ่งเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของไทยลดลงร้อยละ 35.8 ขณะที่การลงทุนจากสหรัฐฯ และจีนลดลงมากกว่าร้อยละ 90 ส่วนภูมิภาคที่มีการลงทุนเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มประเทศ ANIEs (ไต้หวัน ฮ่องกง และเกาหลีใต้) และกลุ่มประเทศยุโรป
การเมือง.. ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการลงทุนในระยะที่เหลือของปี
สถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่ยืดเยื้อ และขยายขอบเขตการประท้วงไปถึงการหยุดเดินรถไฟและปิดสนามบิน ตลอดจนการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในช่วงที่ผ่านมา มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนชาติ โดยนักลงทุนแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ภายในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์ทางการเมืองน่าจะลดความรุนแรงลงและมีการคัดเลือกนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนนายสมัคร สุนทรเวช ที่พ้นจากตำแหน่งไป ซึ่งน่าจะช่วยประคับประคองสถานการณ์เศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ อย่างไรก็ตามสถานการณ์การเมืองไทยยังคงมีความไม่แน่นอนอีกอย่างน้อยในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้าไปจนกว่าที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยคดียุบพรรคการเมือง ซึ่งอาจจะเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอีกครั้ง นักลงทุนส่วนหนึ่งจึงอาจยังรอดูความชัดเจนของข้อสรุปกรณีดังกล่าว ทั้งนี้คาดว่าประเด็นทางการเมืองจะส่งผลต่อการลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะในส่วนของการลงทุนใหม่ซึ่งนักลงทุนอาจจะยังคงรอดูความชัดเจนทั้งในด้านเสถียรภาพและนโยบายของรัฐบาล ในขณะที่นักลงทุนกลุ่มที่มีการลงทุนอยู่ในไทยและมีความคุ้นเคยกับประเทศ ผลกระทบจากปัญหาการเมืองต่อความเชื่อมั่นจะมีน้อยกว่า
ความปั่นป่วนในตลาดการเงินโลก.. อาจกระทบการลงทุนโดยตรงในไทย
วิกฤติการเงินในสหรัฐฯ ซึ่งเกิดจากปัญหาซับไพร์ม ล่าสุดนำมาสู่การล้มละลายของบริษัทเลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิงส์ อิงค์ซึ่งเป็นบริษัทวาณิชธนกิจชั้นนำของสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อระบบการเงินในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก โดยในช่วงที่ผ่านรัฐบาลกลางของหลายๆ ประเทศได้ทำการอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อบรรเทาผลกระทบจากกรณีวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐฯ
โดยสำหรับประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศผู้ให้สินเชื่อหลักรายหนึ่งของบริษัทเลห์แมนและเป็นประเทศผู้ลงทุนหลักของไทยนั้น ได้มีการประเมินความเสี่ยงที่เกิดขึ้นต่อธนาคารและบริษัทประกันภัยในเบื้องต้นไว้ที่ประมาณ 245 พันล้านเยน (2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นก็ได้ทำการอัดฉีดสภาพคล่องให้แก่สถาบันในระบบรวมแล้วกว่า 8 ล้านล้านเยน (76 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ตลอดช่วง 3 วันนับตั้งแต่วันที่ 16-18 กันยายนที่ผ่านมา
สำหรับผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงในไทยนั้น เนื่องจากส่วนหนึ่งของเม็ดเงินที่บริษัทต่างชาตินำมาใช้ในการลงทุนได้มาจากการขอเครดิตจากสถาบันการเงินในประเทศแม่ ดังนั้นปัญหาในสหรัฐฯ ซึ่งนำไปสู่ภาวะตึงตัวของสินเชื่อของตลาดเงิน อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้การลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มการลงทุนใหม่มีการชะลอตัวลงไปในช่วงที่เหลือของปี
โดยสรุป การลงทุนจากต่างประเทศที่ชะลอตัวลงค่อนข้างมากกว่าร้อยละ 26.3 ในช่วงเดือนม.ค.-ส.ค. และยังคงเผชิญความเสี่ยงสูงขึ้นในช่วงเวลาที่เหลือของปี อาจส่งผลให้การขอรับการส่งเสริมการลงทุนโดยรวมของปี 2551 นี้ มีโอกาสสูงที่จะต่ำกว่าเป้าหมายที่ทางการตั้งไว้ที่ 600,000 ล้านบาท โดยปัจจัยเสี่ยงต่อการลงทุนในระยะข้างหน้านอกเหนือจากปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศซึ่งกระทบต่อความน่าลงทุนของไทยในระยะสั้นแล้ว การลงทุนจากต่างประเทศในไทยยังอาจได้รับปัจจัยลบจากปัญหาวิกฤติการเงินระลอกใหม่ของสหรัฐฯ ที่ส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงินทั่วโลก อีกทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคหลักของโลกอาจส่งผลต่อสถานะผลประกอบการของบริษัทข้ามชาติ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการชะลอตัวของการลงทุนจากต่างประเทศทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การเมืองของไทยมีความชัดเจนมากขึ้น โดยสามารถมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพในการบริหารประเทศ ก็คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะมีแรงขับเคลื่อนจากภายในประเทศที่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานของประเทศยังเอื้ออำนวยต่อการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุน ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลในระยะต่อๆไปน่าจะยังคงมุ่งเน้นการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ เร่งรัดโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นและผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้ตามเป้าหมาย
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ไทยยังคงมีความได้เปรียบในเรื่องของปัจจัยพื้นฐานของประเทศ อาทิ โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค การมีคลัสเตอร์อุตสาหกรรม การคุ้มครองการลงทุน ฯลฯ เมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศในภูมิภาค นอกจากนี้ในแง่ของความสะดวกในการทำธุรกิจ ไทยก็ได้มีการปรับปรุงดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากการจัดอันดับความง่ายในการทำธุรกิจของธนาคารโลกประจำปี 2552 ไทยมีอันดับเลื่อนขึ้นจากลำดับที่ 15 เป็นลำดับที่13 ซึ่งเป็นลำดับที่สูงกว่ามาเลเซีย (20) จีน (83) เวียดนาม (92) อินเดีย (122) อินโดนีเซีย (129) แสดงให้เห็นว่าในด้านปัจจัยที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขัน ไทยยังเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติในการเข้ามาลงทุนระยะยาว
สำหรับปัจจัยที่จะมีผลต่อการลงทุนในระยะปานกลางและระยะยาว ได้แก่ ความมีเสถียรภาพทางการเมือง นโยบายของรัฐบาล ทิศทางของนโยบายอุตสาหกรรม เช่น การพัฒนาพลังงานทางเลือก ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นการเกษตร พลังงาน ปิโตรเคมี และยานยนต์ จึงควรมีการวางเป้าหมายนโยบายของอุตสาหกรรมเหล่านี้ให้มีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับแผนการพัฒนาประเทศและแผนการส่งเสริมการลงทุนในระยะยาว
นอกจากนี้ รัฐควรให้ความสำคัญกับการเร่งการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้มีการชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งสืบเนื่องจากปัญหาในภาคการเมือง อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดทางด้านงบประมาณและสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน รัฐควรพิจารณาการลงทุนในโครงการที่มีความสำคัญในลำดับต้นๆ ก่อน อาทิ รถไฟรางคู่และการลงทุนในโครงการอื่นๆ เพื่อพัฒนาระบบขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศ การลงทุนด้านการเกษตรและการปรับปรุงระบบชลประทาน เป็นต้น ซึ่งการลงทุนของรัฐเหล่านี้จะมีผลช่วยกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนทั้งจากในและต่างประเทศในระยะต่อไปให้กลับมาฟื้นตัวได้