xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนส่วนบุคคลไปต่างประเทศ เตรียมความพร้อมก่อนลงทุน...

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระเเสการเมืองในบ้านเราที่ร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ ถือว่าส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนบ้านเรา รวมถึงนักลงทุนต่างประเทศด้วย เพราะ ณ ตอนนี้ หลายคนยังมองไม่ออกว่าสุดท้ายแล้ว ทางออกของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ในสายตาของนักลงทุนในประเทศ ถึงเวลานี้ หลายคนเริ่มมองว่าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันไปแล้ว แต่ความกังวลที่ลึกๆ แล้วทุกคนยังมีอยู่ ทำให้การตัดสินใจเก็บเงินสดเอาไว้ จึงเป็นทางเลือกอันดับแรกที่หลายคนเห็นพ้องกัน...

แต่ในช่วงที่เงินเฟ้อสูงเช่นนี้ แน่นอนว่าการเก็บเงินสดไว้กับตัว หรือแม้กระทั้งการฝากเงินเอง ไม่สามารถทำให้เงินของเราเอาชนะเงินเฟ้อได้เลย ซึ่งการที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงมาในทิศทางเดียวกัน แต่ความกังวลทางด้านการเมืองมีน้อยกว่าในบ้านเราตอนนี้ จึงน่าจะเป็นโอกาสอีกโอกาสหนึ่งในการเอาชนะเงินเฟ้อได้...ซึ่งนอกเหนือจากการลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศแล้ว ปัจจุบันกองทุนส่วนบุคคลก็สามารถออกไปลงทุนต่างประเทศได้แล้วเช่นกัน

วันนี้ ผู้จัดการกองทุนรวม จึงหยิบเอาข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับกระบวนการ ขั้นตอน และการเตรียมความพร้อม ก่อนจะนำเงินไปลงทุนผ่านกองทุนส่วนบุคคลมาฝากกัน

ว่าด้วยกองทุนส่วนบุคคล
ก่อนที่เราจะไปลงทุนต่างประเทศผ่านกองทุนส่วนบุคคล เรามาทำความรู้จักกับกองทุนดังกล่าวก่อน การจัดการกองทุนส่วนบุคคลหรือกองทุนส่วนบุคคล มีความหมายตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ว่า การจัดการเงินทุน ของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ได้มอบหมายให้จัดการลงทุนเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากหลักทรัพย์ไม่ว่าจะมีการลงทุนในทรัพย์สินอื่นด้วยหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำเป็นทางการค้าปกติ โดยได้รับค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนอื่น ขอขยายความเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้น การจัดการกองทุนส่วนบุคคลเป็นธุรกิจการรับบริหารเงินหรือทรัพย์สินให้กับบุคคลหรือคณะบุคคลที่ต้องการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายการลงทุนของตนเอง

โดยบริษัทจัดการจะลงทุนภายใต้กรอบ และข้อจำกัดของการลงทุนตามที่ได้ตกลงสัญญาไว้กับลูกค้า ทั้งนี้บริษัทจัดการจะขอข้อมูลของลูกค้าเกี่ยวกับฐานะทางการเงิน ภาระทางการเงิน ระยะเวลาในการลงทุน ประสบการณ์ในการลงทุน ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้และผลตอบแทนที่คาดหวัง เพื่อทำความรู้จักสถานะของลูกค้า (know your customer) และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อกำหนดนโยบายการลงทุนให้เหมาะสมกับลูกค้า (suitability) โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจะเป็นผู้ที่มีจำนวนเงินทุนมากพอสมควร ซึ่งจะเป็นบุคคลหรือคณะบุคคลก็ได้ ทั้งนี้ บุคคล หมายถึง บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล เเละคณะบุคคล หมายถึง กลุ่มบุคคลตั้งแต่ 2 ถึง 35 ราย (โดยในคณะบุคคลใดคณะบุคคลหนึ่งนั้น จะประกอบด้วยบุคคลธรรมดาทั้งหมด นิติบุคคลทั้งหมด หรือบุคคลธรรมดากับนิติบุคคลคละกันก็ได้)

การจัดตั้งกองทุนส่วนบุคคล จะเป็นการทำสัญญากันระหว่างลูกค้ากับบริษัทจัดการ หรือสถาบันการเงินที่ได้รับใบอนุญาตจัดการกองทุนส่วนบุคคล ฉะนั้นกองทุนส่วนบุคคลจึงไม่ได้มีสภาพเป็นนิติบุคคล กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังคงเป็นของลูกค้า ชื่อเจ้าของทรัพย์สินก็ยังคงเป็นชื่อของลูกค้า โดยมีการระบุชื่อของบริษัทจัดการควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าทรัพย์สินของลูกค้าที่บริหารโดยบริษัทจัดการใด และเนื่องจากกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเป็นของลูกค้า สัญชาติของกองทุนส่วนบุคคลจึงเป็นไปตามสัญชาติของลูกค้าด้วย ดังนั้นเมื่อหลักทรัพย์ในกองทุนส่วนบุคคลได้รับผลประโยชน์ เช่น หุ้นที่ลงทุนไว้มีการจ่ายเงินปันผล (dividend) หรือขายหุ้นแล้วได้ส่วนเกินจากมูลค่าเงินลงทุน (capital gain) ลูกค้าก็จะต้องเสียภาษีในผลประโยชน์ที่ตนได้รับในอัตราภาษี เช่นเดียวกับที่ลงทุนโดยตรงในหลักทรัพย์นั้น

ไปนอกด้วยกองทุนส่วนบุคคล
เมื่อเรารู้จักกับกองทุนส่วนบุคคลไปเเล้ว ขั้นตอนต่อมา เราจะมาดูกันว่า ถ้าเราจะไปลงทุนต่างประเทศนั้น ง่ายเหมือนกับลงทุนในประเทศหรือไม่...สำหรับการลงทุนในต่างประเทศด้วยกองทุนส่วนบุคคลนั้น ค่อนข้างง่ายกว่าการที่นักลงทุนจะไปลงทุนด้วยตนเอง โดยผ่านโบรกเกอร์ ซึ่งขั้นตอนของบริษัหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือ บลจ.ที่เป็นผู้ดูเเลกองทุนส่วนบุคคลนั้น นอกจากจะวิเคราะห์เพื่อกำหนดนโยบายการลงทุนให้เหมาะสมกับลูกค้าเเลัว ยังมีหน้าที่เสริมเข้ามาอีกดังนี้ 1.ให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ลงทุนเกี่ยวกับการลงทุนในประเทศ 2.กำหนดวงเงินลงทุนที่เหมาะสมของลูกค้า 3.บลจ.ต้องเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงที่ลูกค้าได้รับ โดยบลจ.มีสิทธิที่จะปฏิเสธผู้ลงทุนกรณีที่ทลูกค้าไม่มีความรู้เรื่องความเสี่ยงที่ได้รับจากการลงทุน เช่นความเสี่ยงในหลักทรัพย์ต่างประเทศ หรือความเสี่ยงจากการทำผิดพระราชบัญญัติควบคุมการเเลกเปลี่ยนเงิน เป็นต้น 4.ผู้ลงทุนต้องรับรองด้วยว่าเงินที่นำมาลงทุนนั้นต้องไม่ได้มาจากกู้ยืมธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่นใด

เมื่อบลจ.ดำเนินงานในขั้นตอนขอการวิเคราะห์เเละทำสัญญากับผู้ถือหน่วยลงทุน ขั้นต่อมาทางบลจ.จะนำเรื่องส่งไปยังสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อพิจารณาโดยใช้เวลาในการพิจารณาเพียง 3 วัน หลังจากนั้น สำนักงานก.ล.ต. จะนำเรื่องดังกล่าวส่งต่อไปยัง ธนาคารเเห่งประเทศไทย (ธปท) ซึ่งทางธปท. อาจใช้เวลาในการพิจรณา 1 อาทิตย์ เมื่อพิจารณาเสร็จสิ้น ทางธปท. จะส่งเรื่องไปยังบลจ.อีกครั้ง เพื่อให้บลจ.ขอเงินผ่านระบบ FIA เพื่อรับ approved code ขั้นต่อมาคือ บลจ.จะนำapproved code ที่ได้บวกกับเอกสารจากธปท.ไปยังธนาคารพาณิชย์เพื่อเเลกเงิน หลังจากนั้น บลจ.ก็สามารถนำเงินไปลงทุนยังต่างประเทศได้ เเต่ขั้นตอนของบลจ.ยังไม่เสร็จสิ้น ซึ่งบลจ.ต้องทำรายงานส่งไปยัง ธปท. เเละก.ล.ต. ทุกเดือน เช่น ยอดคงค้างการลงทุน หรือรายงานการนำเงินเข้าออกเพื่อไปลงทุนเป็นต้น

วงเงินลงทุนในต่างประเทศ
วงเงินลงทุนที่ก.ล.ต.อนุญาตเเบ่งออกเป็น 2 ประเภทดังนี้ 1.นิติบุคคลที่มีทรัพย์สินตั้งเเต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป กำหนดวงเงินต่อรายไม่เกิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งวงงินที่จะออกไปลงทุนนั้นต้องไม่เกิน 5 ล้านเหรียญสหรัฐเเละมีอายุวงเงินไม่เกิน 30 วัน เเต่ทางสำนักงาน ก.ล.ต.กำลังเเก้ไขข้อบังคับดังกล่าวให้การขอวงเงินที่จะไปลงทุนต่อครั้ง จากเดิมไม่เกิน 5 ล้านเหรียญสหรัฐเป็นไม่จำกัดวงเงินเเต่เงินที่ไม่จำกัดวงเงินจะมีอายุไม่เกิน 7 วัน โดยข้อบังคับใหม่นี้จะเริ่มใช้ภายในเดือนกันยายน นี้

ส่วนประเภทที่ 2. คือ บุคคลธรรมดาเเละผู้ลงทุนอื่นๆนอกเหนือจากข้อที่ 1. กำหนดวงเงินไม่เกิน 5 ล้านเหรียญสหรัฐ เเละวงงินที่จะออกไปลงทุนนั้นต้องไม่เกิน 5 ล้านเหรียญสหรัฐเเละมีอายุวงเงินไม่เกิน 30 วัน ซึ่งสำนักงานก.ล.ต.ก็อยู่ระหว่างการเเก้ไขกฏให้เป็นไปตามข้อหนึ่งเช่นกัน

หลักทรัพย์ที่สามารถลงทุนได้
หลักทรัพย์ที่กองทุนส่วนบุคคลสามารถลงทุนได้คือ 1.หุ้น 2.ตราสารหนี้ 3.หน่วยลงทุนของกองทุนรวม 4. Structured Note เเละ5.Derivatives ซึ่งขณะนี้สำนักงานก.ล.ต.อยู่ระหว่างการพิจาณาขยายประเภททรัพย์สินที่กองทุนส่วนบุคคลสามารถลงทุนในต่างประเทศได้ โดยทางก.ล.ต.ได้ตั้งคณะทำงานที่มีตัวเเทนจาก บลจ. ธนาคารต่างประเทศ เเละผู้เชี่ยวชาญ เข้าร่วมหารือ เมื่อการประชุมเสร็จสิ้นทางก.ล.ต.จะทยอยประกาศเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเภทสินทรัพย์ เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ลงทุน

ที่มา AIMC เเละสำนักงานก.ล.ต.
กำลังโหลดความคิดเห็น