xs
xsm
sm
md
lg

Enterprise Risk Management

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์คุยกับผู้จัดการกองทุน
โดย ดร.ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล
ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมความเสี่ยง
บลจ.อยุธยา จำกัด


ในการลงทุน นอกจากท่านนักลงทุนจะต้องดูในรายละเอียดของผลประกอบการของบริษัท ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรแล้ว สิ่งที่ท่านนักลงทุนไม่ควรมองข้ามก็คือ บริษัทที่ท่านลงทุนอยู่หรือกำลังจะตัดสินใจลงทุนมีการบริหารความเสี่ยงดีพอหรือไม่ เพราะการที่ท่านนักลงทุนละเลยถึงการบริหารความเสี่ยงของบริษัทที่ท่านลงทุนอยู่ ผลตอบแทนการลงทุนของท่านก็อาจอยู่ในภาวะที่มีความเสี่ยงเช่นกัน ดังที่ท่านได้เห็นสถาบันการเงินของสหรัฐฯหลายแห่งกำลังประสบปัญหาอยู่ในปัจจุบัน

การบริหารความเสี่ยงขององค์กร (Enterprise Risk Management) เป็นแนวคิดที่ค่อนข้างใหม่ (เริ่มมีมาเป็นเรื่องเป็นราวไม่เกิน 10 ปี) ถึงแม้ว่าที่ผ่านมา องค์กรต่างๆได้มีการบริหารความเสี่ยงกันมาตลอด เช่น มีการซื้อประกันภัย หรือใช้ตราสารอนุพันธ์ในการบริหารอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น แต่แนวคิดในเรื่องการบริหารความเสี่ยงขององค์กรได้ครอบคลุมถึงการบริหารความเสี่ยงในทุกๆด้าน เช่น ชื่อเสียงขององค์กร กระบวนการปฏิบัติงานรายวัน ขั้นตอนการผลิต การบริหารจัดการที่ดี การบริหารบุคลากร เป็นต้น ขั้นตอนคร่าวๆของการบริหารความเสี่ยงขององค์กรเริ่มจากการดูว่าความเสี่ยงขององค์กรมีอะไรบ้าง จะจัดการกับความเสี่ยงเหล่านั้นอย่างไร และวางแผนจัดการเกี่ยวกับความเสี่ยงนั้นๆ ทั้งนี้ ทางองค์กรควรจะมีการทบทวนการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นย่อมเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

สำหรับกรอบการบริหารความเสี่ยงขององค์กร ในปัจจุบันมีอยู่ 2 แนวทาง โดยแนวทางแรกกำหนดโดย COSO (The Committee of Sponsoring Organizations of the Treadway Commission) ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2004 โดยให้ความหมายของ Enterprise Risk Management ว่า เป็นกระบวนการวางกลยุทธ์โดยผู้บริหารและพนักงานในองค์กรเพื่อระบุว่ามีเหตุการณ์ใดบ้างที่อาจส่งผลกระทบต่อองค์กร หากลยุทธ์ในการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม และประเมินว่ากลยุทธ์ที่ใช้บรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่ สำหรับอีกแนวทางหนึ่งกำหนดโดย RIMS (The Risk and Insurance Management Society) ที่ให้ความหมายของ Enterprise Risk Management ว่าเป็น วัฒนธรรม กระบวนการ และเครื่องมือในการกำหนดกลยุทธ์ที่จะสร้างโอกาสและลดความไม่แน่นอน

ในการบริหารความเสี่ยงขององค์กร สิ่งที่ต้องคำนึงถึงไม่ใช่เพียงแต่ความเสี่ยงในด้านลบ (downside risk) แต่ต้องคำนึงถึงการบริหารความเสี่ยงในด้านบวก (upside risk) ด้วย ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อพูดถึงความเสี่ยง คนทั่วไปมักจะนึกถึงแต่ในแง่ร้าย เช่น การขาดทุน การสูญเสียต่างๆ เป็นต้น โดยไม่ได้มองว่าแท้จริงแล้ว ความเสี่ยงในด้านบวกก็มีอยู่มาก เช่น โอกาสในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เหมาะกับภาวะเศรษฐกิจขาลง โอกาสในการลงทุนในสินทรัพย์ในราคาที่ถูกกว่าเดิม เป็นต้น

การจะดูว่าบริษัทหนึ่งบริษัทใดมีการบริหารความเสี่ยงหรือไม่ ท่านนักลงทุนอาจจะดูง่ายๆว่าบริษัทนั้นๆ มีผู้ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงอยู่หรือไม่ เช่น เจ้าหน้าที่บริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ ฝ่ายบริหารภาพลักษณ์องค์กร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทนั้นๆมีเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงอยู่ในบริษัท ก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทนั้นจะมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดีหรือไม่มีความเสี่ยง ดังเช่นธนาคารในสหรัฐฯหลายๆธนาคารที่ได้ชื่อว่ามีระบบบริหารความเสี่ยงที่ดีมาก แต่ก็มีหลายธนาคารที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาที่เกิดขึ้นในตลาดสินเชื่อได้ แต่การบริหารความเสี่ยงที่ดีจะช่วยลดผลกระทบจากการเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน

ท่านนักลงทุนจะสังเกตได้ว่า วิกฤตการณ์ตลาดสินเชื่อของสหรัฐฯในครั้งนี้ ธนาคารสหรัฐฯต่างได้รับผลกระทบในระดับที่แตกต่างกันไป โดยธนาคารที่มีการลงทุนในสินเชื่อด้อยคุณภาพเป็นจำนวนมาก ได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่าธนาคารที่ลงทุนในสินเชื่อด้อยคุณภาพน้อย ดังนั้น การดูว่าบริษัทนั้นๆมีผู้ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงอยู่ในองค์กร อาจจะไม่เพียงพอ ท่านนักลงทุนอาจจะดูจากรายงานของบริษัทว่ามีการทำธุรกรรมที่ลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนหรือไม่ หรือมีแผนการที่จะขยายธุรกิจที่เหมาะสมหรือไม่ และต้องทำการวิเคราะห์ดูว่าการบริหารความเสี่ยงของบริษัทมีความเหมาะสมหรือไม่ หรือหากท่านนักลงทุนมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมบริษัท ท่านนักลงทุนอาจจะสอบถามจากผู้มีหน้าที่ให้ข้อมูล เช่น ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ ว่าทางบริษัทบริหารความเสี่ยงอย่างไรบ้าง

สำหรับการลงทุนของกองทุนก็เช่นเดียวกัน กองทุนที่ดีควรมีการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม และเป็นไปตามกรอบนโยบายการลงทุน เพื่อที่ท่านนักลงทุนจะสามารถมั่นใจได้ว่ากองทุนที่ท่านเลือกลงทุนสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวโดยมีระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม ดังนั้นก่อนการตัดสินใจลงทุน ทั้งลงทุนเองโดยตรง หรือลงทุนผ่านกองทุนรวม ท่านนักลงทุนควรศึกษาดูว่าบริษัท หรือกองทุนนั้นๆ มีการบริหารความเสี่ยงที่ดีพอหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น