ก.ล.ต.ไฟเขียวหลายข้อเรียกร้องสมาคมบลจ. และสนับสนุนการเพิ่มความหลากหลายของสินค้าเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้ลงทุน พร้อมบังคับทุกบลจ.ใช้ดัชนีชี้วัดผลการดำเนินงานของกองทุนหุ้นและตราสารหนี้ในประเทศภายในเดือนตุลาคมนี้ ให้สอดคล้องกับนโยบายการลงทุน ส่วนดัชนีกองทุนเอฟไอเอฟ จะตั้งกรรมการขึ้นมาวางกรอบต่อไป
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการสำนักนักคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกันระหว่าง ก.ล.ต. กับสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคมบลจ.)ว่า การประชุมประจำไตรมาสกับสมาคมบริษัทจัดการลงทุนในครั้งนี้ ได้หารือกันหลายเรื่อง เพื่อหาทางเพิ่มความน่าสนใจของกองทุน รวมทั้งเพื่อให้กองทุนเป็นทางเลือกที่สามารถตอบสนองความต้องการในการลงทุนของผู้ลงทุนได้หลากหลายมากขึ้น
ทั้งนี้ ก.ล.ต. และสมาคมบลจ.มีความเห็นร่วมกันว่าสมควรสนับสนุนให้ผู้ออมสามารถลงทุนได้หลากหลายมากขึ้น โดยจะเปิดโอกาสให้ทั้งกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและ structured note ที่มีตัวแปรอ้างอิงกับสินค้าโภคภัณฑ์ได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ลงทุนมีสินค้ากองทุนรวมให้เลือกหลายรูปแบบ ในขณะเดียวกันก็ยังช่วยกระจาย
ความเสี่ยงในการลงทุนได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย โดยในขั้นตอนต่อไป ก.ล.ต. จะหารือในรายละเอียดกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับสินค้าเกษตรล่วงหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมและหารือแก้ไขอุปสรรคหากจะมีเกิดขึ้นสำหรับการลงทุนรูปแบบดังกล่าวต่อไป
ขณะเดียวกัน ก.ล.ต. และสมาคมมีความเห็นร่วมกันว่าสมควรเปิดให้ผู้ลงทุนรายใหญ่ประเภท high net worth สามารถลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณเงินลงทุนในตลาดทุนและขยายฐานผู้ลงทุนให้กว้างขวาง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ระดมทุนมีช่องทางในการระดมทุนมากขึ้น โดย ก.ล.ต. จะตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาและกำหนดแนวทางในการกำกับดูแลการออกและเสนอขายสินค้าที่เหมาะสมต่อไป
นอกจากนี้ สมาคมจะเริ่มบังคับให้สมาชิกทุกรายใช้ดัชนีชี้วัดผลการดำเนินงานของกองทุนรวมประเภทตราสารทุนและตราสารหนี้ในประเทศภายในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งดัชนีดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับนโยบายการลงทุน เพื่อเป็นเครื่องมือให้ผู้ลงทุนใช้เปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนรวมและประเมินความสามารถในการบริหารกองทุนรวมของผู้จัดการกองทุน
สำหรับดัชนีชี้วัดผลการดำเนินงานของกองทุนรวมที่มีความซับซ้อน เช่น กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) จะมีการตั้งคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาและวางแนวทางในเรื่องนี้ต่อไป
เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ขณะเดียวกัน ก.ล.ต. และสมาคมบลจ.เห็นร่วมกันที่จะดูแลให้การจัดตั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ลงทุนมากขึ้น โดยสมาคมจะออกแนวทางปฏิบัติให้บริษัทจัดการดำเนินการภายใต้หลักการดังต่อไปนี้ (1) กำหนดเงื่อนไขการลงทุนและการจัดหาผลประโยชน์ โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมต่อ กองทุนและประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ (2) ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบจนเชื่อมั่นว่า ข้อมูลของอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวที่เปิดเผยไว้ในรายละเอียดโครงการและหนังสือชี้ชวน ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่มีข้อมูลที่อาจมีผลกระทบต่อการพิจารณาของสำนักงานและต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุนที่ยังไม่ได้เปิดเผย
(3) พิจารณาอสังหาริมทรัพย์ที่จะลงทุนว่า มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อเสนอขายหน่วยลงทุนต่อประชาชน (4) คัดเลือกและเป็นผู้ว่าจ้างบริษัทประเมินค่า แทนที่จะให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์เป็นผู้ดำเนินการ รวมทั้งตรวจสอบสมมุติฐานและเหตุผลประกอบสมมุติฐานในการรายงานการประเมินค่า ซึ่งจะใช้เป็นราคาอ้างอิงที่กองทุนจะลงทุน ว่าสมเหตุสมผล นอกจากนี้ ในกรณีที่มีความซับซ้อนบริษัทจัดการอาจจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญที่เป็นบุคคลที่สามมาศึกษาและให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติม
“ในการประชุมครั้งนี้ สมาคมได้เสนอขอแก้ไขหลักเกณฑ์การรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ให้บริษัทจัดการสามารถเปิดรับซื้อได้ตลอดระยะเวลาที่บริษัทจัดการกำหนด จากปัจจุบันที่กำหนดช่วงเวลาในการเปิดรับซื้อคืนไม่เกินปีละ 2 ช่วง ซึ่ง ก.ล.ต. รับที่จะพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์เรื่องนี้ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนและบริษัทจัดการมากขึ้น”นายธีระชัย กล่าว
นางวรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า ทั้ง ก.ล.ต. และสมาคมมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันพัฒนาธุรกิจกองทุนให้เป็นทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจมากขึ้น โดยสมาคมมีแผนที่จะพัฒนากองทุนที่มีการลงทุนในตราสารที่หลากหลายขึ้น รวมทั้งจะให้ความสำคัญและเร่งกำหนดดัชนีชี้วัดผลการดำเนินงานของกองทุนรวมให้ครอบคลุมกองทุนทุกประเภท เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่
ผู้ลงทุนใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน นอกจากนี้ยังได้หารือกับ ก.ล.ต. เกี่ยวกับการปรับปรุงเกณฑ์ให้มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการลงทุน อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุนโดยรวมต่อไป