xs
xsm
sm
md
lg

อุตสาหกรรมกองทุนรวมกับอุปสรรคที่หลีกหนีไม่พ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กองทุนรวมยังต้องเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยงที่คล้ายคลึงกับในช่วง 7 เดือนแรก ที่จะส่งผลกระทบต่อความต้องการลงทุน อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยบวกที่จะเข้ามาช่วยให้ธุรกิจกองทุนรวมบางประเภทยังสามารถเติบโตไปได้ โดยในช่วงที่เหลือของปีนี้นักลงทุนควรกระจายความเสี่ยงในการลงทุนไปในสินทรัพย์ต่างๆ อย่างเหมาะสม

เจ็ดเดือนที่ผ่านมา คงปฎิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทยลุ่มๆดอนๆ แค่ไหน และในส่วนของอุตสาหกรรมกองทุนรวมเองก็ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ไปไม่ใช่น้อยเหมือนกัน โดยบทวิจัยของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า สภาวะการลงทุนในกองทุนรวมช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้อาจจะไม่ค่อยสดใสเท่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ แม้ว่าบรรยากาศการเปิดขายกองทุนรวมของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ต่างๆหลายแห่งจะคึกคักมาตั้งแต่ช่วงต้นปี ด้วยการเปิดขายกองทุนรูปแบบใหม่ๆ ทั้งกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ ตราสารการเงินของสถาบันการเงินต่างประเทศ (Euro Commercial Paper: ECP) หรือแม้กระทั่งกองทุนที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์และธุรกิจพลังงาน ก็ไม่ได้ช่วยให้ธุรกิจกองทุนรวมขยายตัวมากเท่าไรนัก

โดยในช่วง 7 เดือนแรกที่ผ่านมามูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมทั่วไป มีมูลค่าทรัพย์สิน 1,460,886.8 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.40% จากสิ้นปี 2550 ที่มีมูลค่าทรัพย์สิน 1,426,626.9 ล้านบาท ขณะที่งวดเดียวกันของปีก่อนมูลค่าสินทรัพย์สุทธิขยายตัวถึง 25.83% เลยทีเดียว แม้ว่าในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551จะมีจำนวนกองทุนเพิ่มขึ้นมาถึง 134 กองก็ตาม

ทั้งนี้หากแยกประเภทกองทุนพบว่ากองทุนรวมประเภทตราสารทุน มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 118,243.5 ล้านบาท คิดเป็นการลดลงกว่า 10.47% จากปลายปีก่อน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากนักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ การทะยานขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงความวิตกของนักลงทุนต่อความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯ

ขณะที่กองทุนรวมประเภทตราสารหนี้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้นประมาณ 4% เป็น 995,640.7 ล้านบาท แต่ถ้าเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนการเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นอัตราที่ชะลอลง ทั้งนี้สาเหตุน่าจะมาจากการลดลงของราคาพันธบัตรตามภาวะความกดดันของเงินเฟ้อภายในประเทศและการคาดการณ์ของตลาดเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท. ประกอบกับช่วง 7 เดือนแรกที่ผ่านมา เป็นจังหวะที่กองทุน Euro Commercial Paper (ECP) ทยอยหมดอายุเป็นจำนวนมาก

ด้านกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เองจากการสำรวจพบว่ามีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 61,253.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2550 กว่า 8.20% นับว่าเป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่ากองทุนอื่นๆ อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบแล้ว การเติบโตยังชะลอตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการเติบโตกว่า 18.92% โดยสาเหตุมาจากปัญหาด้านต้นทุนของราคาวัสดุก่อสร้าง การทะยานตัวของราคาน้ำมัน ความกังวลเรื่องการเมืองภายในประเทศและการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ

ส่วนกองทุนรวมที่ใช้ลดหย่อนภาษีอย่างกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) นั้น ล่าสุดมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 44,412.27 ล้านบาท ลดลง 10.11% จากปลายปี 2550 และ 36,686.41 ล้านบาท ลดลง 3.50%จากจากปลายปีที่ผ่านมาตามลำดับ ซึ่งการลดลงเป็นเพราะดัชนีหุ้นไทยดิ่งอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี แม้ว่ารัฐบาลเพิ่มสิทธิการลดหย่อนภาษีให้กับผู้ที่ซื้อกองทุน LTF และ RMF โดยขยายเพดานการหักลดหย่อนภาษีเป็นไปที่ 500,000 บาทต่อปี แต่ไม่ได้ช่วยให้กองทุน LTF และ RMF โตขึ้นมาในช่วง 7 เดือนแรก

กองทุนที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ศูนย์วิจัยกสิกรไทยให้มุมมองว่าช่วง 7 เดือนแรกมีมูลค่า 220,055.46 ล้านบาท ขยายตัว 5.15% จากปีที่แล้ว ซึ่งสาเหตุที่ทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน FIF ขยายตัวเป็นผลมาจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย โดยเฉพาะกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากรวมถึงกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ทางการเงินของสถาบันการเงินต่างประเทศ (ECP) ซึ่งแม้ว่าจะทยอยครบกำหนดไถ่ถอนไปช่วงต้นปีที่ผ่านมาแต่ก็มีการออกขายเพิ่มเติมเช่นเดียวกัน

"ผลกระทบจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทำให้ธุรกิจกองทุนรวมชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2550 ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลลบต่อการลงทุนในกองทุนรวมของไทยคือ ความไม่แน่นอนในทิศทางการเมืองของไทย การปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เพื่อระดมเงินฝาก ปัญหาความขัดแย้งของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนปัจจัยภายนอกประเทศที่กำลังเผชิญอยู่ตอนนี้คือ ความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯและทั่วโลก ปัญหาวิกฤตราคาน้ำมัน

หลากปัจจัยท้าทายกดดันการเติบโต

มองไปยังอดีตกันแล้ว หันกลับมามองอนาคตบ้าง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าสำหรับช่วงที่เหลือของปี 2551 คาดว่าธุรกิจกองทุนรวมยังต้องเผชิญหลากปัจจัยท้าท้าย ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มเงินเฟ้อที่จะยังคงอยู่ในระดับสูง ความไม่แน่นอนของการเมืองภายในประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ยังมีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวมถึงออกผลิตภัณฑ์เงินออมอัตราดอกเบี้ยจูงใจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นคู่แข่งกับผลิตภัณฑ์กองทุนรวมโดยตรง

ทั้งนี้ยังคงมีปัจจัยบวกอยู่ ได้แก่ สิทธิประโยชน์ในการหักลดหย่อนภาษีของกองทุน RMF และ LTF ที่ปัจจุบันเพิ่มเพดานการลดหย่อนถึง 500,000 บาทต่อปี หรือการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งคาดว่าจะทำใด้มีการเคลื่อนย้ายเงินฝากไปลงทุนในธุรกิจกองทุนรวมมากขึ้น อีกทั้งการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรยังคงให้ผลตอบแทนมากกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก

อย่างไรก็ตามภายใต้เงื่อนไขเศรษฐกิจและตัวแปรต่างๆ ธุรกิจกองทุนรวมบางประเภทอาจยังคงได้รับผลกระทบ ขณะที่บางกองทุนจะได้รับผลดีจากปัจจัยด้านฤดูกาล โดย กองทุน RMF และ LTF น่าจะได้รับแรงหนุนของการที่รัฐบาลให้ขยายเพดานการหักลดหย่อนภาษีเพิ่มทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนน่าจะฟื้นตัวขึ้น ขณะที่กองทุน FIF เองมีแนวโน้มที่จะเน้นไปลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศและตราสารทางการเงินของสถาบันการเงินต่างประเทศ (ECP) อย่างต่อเนื่องเพราะอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศที่สูงกว่าของไทย ขณะเดียวกันกองทุนดังกล่าวยังได้รับแรงบวกจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขยายวงเงินลงทุนต่างประเทศไปเป็น 30,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าหลังจากนี้ บลจ. ต่างๆจะขอโควต้าวงเงินเพื่อขยายฐานการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น

"นอกจากนี้ตอนนี้กองทุน FIF เน้นกลยุทธ์ดึงดูดนักลงทุนด้วยการสร้างอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อภายใต้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เช่น กองทุนรวมที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจากปัจจัยต่างๆ น่าจะทำให้กองทุน FIF ยังคงมีความน่าสนใจในช่วง 5 เดือนที่เหลือของปี"

ส่วนกองทุนรวมประเภทตราสารทุนคาดว่าจะมีปัจจัยหนุนจากความต้องการลงทุนใน RMF และ LTF ที่เพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี แม้ว่าตลาดหุ้นมีแนวโน้มจะประสบกับภาวะผันผวนทั่วทุกภูมิภาค จากปัจจัยทางเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนของปัญหาการเมืองซึ่งอาจทำให้ตลาดหุ้นไทยอยู่ใน “ภาวะหมี” ต่อไปอีกสักระยะหนึ่งก็ตาม

ขณะที่แนวโน้มกองทุนรวมประเภทตราสารหนี้หลังจากนี้น่าจะเติบโตต่อไปและการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2551 เป็นต้นไป ทำให้น่าจะเห็นการเคลื่อนย้ายเงินฝากไปลงทุนในธุรกิจกองทุนรวมมากขึ้น โดยเฉพาะกองทนรวมประเภทตราสารหนี้ที่มีความมั่นคงใกล้เคียงกับการฝากเงิน นอกจากนี้แนวโน้มการลงทุนในช่วง 5 เดือนที่เหลือกองทุนตราสารหนี้น่าจะให้ความสนใจไปยังตราสารหนี้ระยะสั้นมากขึ้น

สุดท้ายคือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ยังมีแนวโน้มที่ขยายตัวต่อไปได้ เพราะความผันผวนของการลงทุนสายหลัก ทำให้นักลงทุนหันมาลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้างรายได้ที่ค่อนข้างมั่นคงจากรายได้ประจำจากการเช่าที่สามารถปรับขึ้นได้ในอนาคตและการใช้บริการในอสังหาริมทรัพย์อย่างสม่ำเสมอ เพราะบลจ.ส่วนใหญ่จะเลือกลงทุนในโครงการที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จและอยู่ในทำเลที่ดี เพื่อที่จะดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในกองทุนดังกล่าว

"หลังจากนี้เชื่อว่ากองทุนรวมยังต้องเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยงที่คล้ายคลึงกับในช่วง 7 เดือนแรก ที่จะส่งผลกระทบต่อความต้องการลงทุน อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยบวกที่จะเข้ามาช่วยให้ธุรกิจกองทุนรวมบางประเภทยังสามารถเติบโตไปได้ โดยในช่วงที่เหลือของปีนี้นักลงทุนควรกระจายความเสี่ยงในการลงทุนไปในสินทรัพย์ต่างๆ อย่างเหมาะสม และควรพิจารณาให้สอดคล้องกับความจำเป็นด้านสภาพคล่องของผู้ลงทุน รวมถึงระดับอัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง ตลอดจนระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนสามารถรับได้"
กำลังโหลดความคิดเห็น