xs
xsm
sm
md
lg

ความเคลื่อนไหวของตลาดตราสารหนี้ไทยครึ่งปีแรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แอสเซทพลัส จำกัด


อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 มีความผันผวนตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลก และอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ในช่วงต้นปี กระแสความเชื่อมั่นว่าอัตราดอกเบี้ยน่าจะปรับตัวลงจากผลกระทบของปัญหาซับไพรม์ในประเทศสหรัฐฯ และลามไปสู่ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งด้วยกัน ทำให้หลายฝ่ายมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลงเช่นกัน ซึ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงในช่วงต้นปีเมื่อเทียบกับอัตราผลตอบแทน ณ สิ้นปี 2550
 
แต่อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทย โดยเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ค.ได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับร้อยละ 7.6เนื่องจากราคาน้ำมัน ซึ่งอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวถือเป็นเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบหลายปี ทำให้ทิศทางการมองแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยปรับเปลี่ยนไปจากเดิม และมีความเป็นไปได้สูงที่ว่า ธปท. จะใช้มาตรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้ง และปรับขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้อัตราผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2551 เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2550 พบว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล อายุ 1 เดือนถึง 6 เดือน ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 8 ถึง 20 basis point อายุ 1 ถึง 5 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 55 ถึง 117 basis point อายุ 6 ถึง 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้น 105 ถึง 118 basis point และอายุมากกว่า 10 ปี ขึ้นไป ปรับตัวเพิ่มขึ้น 99 ถึง 108 basis point

การลงทุนของกองทุน

เนื่องจากกองทุนตราสารหนี้ส่วนใหญ่เป็นกองทุนที่ลงทุนในตราสารระยะสั้น ไม่เกิน 1 ปี จึงทำให้ผลการดำเนินงานของกองทุนได้รับผลกระทบจากการปรับตัวสูงขึ้นของเส้นผลตอบแทน (Yield Curve) เล็กน้อย แม้จะมีความผันผวนของ NAV บ้างในระหว่างทาง แต่เนื่องจากผู้จัดการกองทุนถือตราสารจนครบกำหนดอายุไถ่ถอน (Hold to maturity) จึงได้รับผลตอบแทนจากการถือตราสารจนครบอายุไถ่ถอน (Yield to maturity)

แนวโน้มการลงทุน

ล่าสุด ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิถุนายน2551 ได้ปรับตัวขึ้นสูงถึง 8.9% ในขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งไม่รวมราคาอาหาร และน้ำมันได้ปรับสู่ระดับ 3.6% ซึ่งทะลุระดับเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 0-3.5% ของ ธปท. ไปเรียบร้อยแล้ว ทาง บลจ.ฯ จึงคาดการณ์ว่า ธปท. น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย RP-1D 0.50%-0.75% ในปี 2551 เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ดังนั้นผู้จัดการกองทุนจึงปรับลดอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ (Portfolio Duration) เหลือ 0.5-1.0 ปี เพื่อรองรับสถานะการณ์ดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น