xs
xsm
sm
md
lg

ความสำคัญของหนังสือชี้ชวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ต้นกล้า”

“อ้าว...เข้ม!…ลมอะไรหอบนายมาถึงที่นี้”

“นายยุ่งอยู่หรือเปล่า” เข้มถามด้วยน้ำเสียงแผ่วเบา

“ไม่ยุ่ง...เข้ามาก่อนซิ”

เข้มเดินทำหน้าเซ็งเข้ามาในห้องทำงานของต้นกล้า...เขาทิ้งตัวนั่งลงบนโซฟา ทอดแขนทั้งสองข้างออกไปในท่าไม้กางเขน พร้อมกับเงยหน้ามองเพดาน...ต้นกล้าคิดในใจ แบบนี้ต้องผิดหวังกับอะไรซักอย่างมาแน่นอน

ต้นกล้านั่งลงข้างๆ “นายสบายดีนะ...?” เขาถามด้วยความเป็นห่วงเพื่อน

“ท่าทางฉันบอกว่ากำลังสบายดีอยู่เหรอ” เข้มขยับตัวนั่งในท่าปกติ ก่อนจะถอนหายใจยาวๆ ออกมาเฮือกหนึ่ง

“มีอะไรให้ฉันช่วยหรือเปล่า” ต้นกล้ารู้แล้วว่าเพื่อนกำลังมีปัญหา

“แน่นอนอยู่แล้ว…” เข้มเอามือทั้งสองข้างลูบในหน้าของตัวเอง “ฉันไม่น่าอวดฉลาดไปแนะนำคนอื่นเล้ย...ตัวเองก็เพิ่งจะเริ่มลงทุนแท้ๆ ดันไปชวนคนอื่นมาลงทุนกับฉันด้วย”

“เกิดอะไรขึ้นเหรอ?”

“ก็กองทุนที่ฉันแนะนำให้คนรู้จักซื้อไปนะซิ มันดันขาดทุนไปซะเยอะ ก็เป็นเพราะไอ้ตลาดหุ้นนั้นแหละ ดันร่วงซะขนาดนั้น เขาก็เลยโวยวายใหญ่ว่า ไม่น่าเชื่อฉันเลย เขาฝากเงินไว้อย่างเดิมก็ดีอยู่แล้ว...เฮ้อออ! ทำไมเขาไม่เข้าใจน้า ว่าการลงทุนมันมีความเสี่ยง”

“แล้วก่อนลงทุนเขาไม่ได้อ่านหนังสือชี้ชวนก่อนเหรอว่า กองทุนที่ซื้อไปนั้น ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทไหนบ้าง แล้วมันมีความเสี่ยงยังไง”

“ก็นี่แหละที่ฉันโกรธตัวเอง คิดว่าแค่อธิบายแล้วเขาจะเข้าใจ ก็เลยไม่ได้ใส่ใจ...ฉันนี่น้า ไม่น่าประมาทเลย รู้งี้ปรึกษานายตั้งแต่แรกก็ดี…อีกอย่างฉันก็ไม่คิดด้วยว่าไอ้หนังสือชี้ชวนมันสำคัญอะไรมากมาย...เฮ้ออออ” เข้มถอนหายใจอีกเฮือก “ว่าแต่นายช่วยอธิบายเป็นความรู้ให้ฉันหน่อยซิว่า ไอ้หนังสือชี้ชวนมันสำคัญยังไง คราวหน้าฉันจะได้ไม่ประมาทแบบนี้อีก”

ต้นกล้าเริ่มต้นอธิบายว่า “หนังสือชี้ชวน เป็นเอกสารที่บริษัทจัดการจะต้องจัดทำขึ้นและเผยแพร่ให้ผู้ลงทุนได้ทราบทุกครั้งที่มีการเสนอขายหน่วยลงทุน ซึ่งเนื้อหาข้างในจะมีรายละเอียดทั้งหมดของโครงการกองทุนรวมนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการลงทุน ความเสี่ยงในการลงทุน ตลอดจนค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เรียกเก็บจากผู้ซื้อหรือผู้ถือหน่วยลงทุน และยังมีคำเตือนต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่าการลงทุนในหน่วยลงทุนนั้น มีความเสี่ยง ผู้ลงทุนอาจจะได้รับเงินคืนมากกว่าหรือน้อยกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกก็ได้”

เขามองหน้าเข้ม แล้วพูดต่อว่า “นายรู้ไหมว่าตอนที่ฉันทำงานนี้ใหม่ๆ มีคำถามกลับมาเยอะแยะมากมาย บางคนบอกว่าไม่ได้อยากซื้อเลยนะ แต่เขาบอกว่าดี ก็เลยซื้อ บางคนก็บอกว่าซื้อเพราะความเกรงใจคนขาย เขาบอกให้ช่วยซื้อหน่อยก็เลยช่วยซื้อไว้...บางคนข้องใจว่าทำไมกองทุนรวมที่ซื้อไว้ถึงไม่จ่ายปันผลเลย แต่คำถามที่ได้ยินมากที่สุด คือ 2 คำถามนี้ “กองทุนรวมตราสารหนี้ มีความเสี่ยงด้วยหรือ ไม่เห็นมีใครบอกเลย” อีกคำถามคือ “ฉันกลัวการลงทุนในหุ้น แต่ทำไมกองทุนรวมที่ฉันซื้อไว้ถึงไปซื้อหุ้นนะ”...นายรู้ไหมว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนาย หรือคำถามที่ฉันพูดมาทั้งหมด จะไม่เกิดขึ้น ถ้าหากนักลงทุนให้เวลาในการศึกษาข้อมูลของกองทุนรวมกองนั้นๆ อย่างละเอียดผ่านหนังสือชี้ชวน”

“นี่ฉันพลาดเรื่องสำคัญไปเลยใช่ไหมเนี้ยะ…คิดแล้วก็เจ็บใจตัวเองจริงๆ” เข้มยังไม่เลิกโทษตัวเอง

“ที่จริงมันไม่ใช่ความผิดของนายคนเดียวหรอก...เพราะ**หัวใจสำคัญของการลงทุนอยู่ที่เรามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนนั้นมากน้อยแค่ไหน ฉันเคยพูดมาตลอดว่า...อย่าลงทุนในอะไรก็ตามที่ตัวเองไม่รู้หรือไม่เข้าใจ เพราะถ้าไม่เข้าใจ ก็จะเกิดเหตุการณ์อย่างที่นายเจอนี่แหละ...” ต้นกล้าพูดปลอบใจเพื่อน “อ้อ...

“แต่ฉันก็ยังรู้สึกผิดอยู่ดี...”

“เอาน่า...ยังไงมันก็แก้ไขอะไรไม่ได้ เพราะขาดทุนไปแล้ว...แต่เดี๋ยวผ่านไปสักพัก พอตลาดปรับตัวดี กองทุนนั้นเกิดมีกำไรขึ้นมา เขาก็จะเข้าใจเอง ของแบบนี้ต้องให้เวลาเขาได้เรียนรู้เอง...นายเองก็อย่าประมาทแล้วกัน”

“เข็ดแล้วครับเพื่อน...”

“สบายใจแล้วดิ”

“ก็ดีขึ้นนะ”

“เอางี้ไหม...เลิกงานแล้วไปหาอะไรกินกันไหม จะได้หายเครียด” ต้นกล้าทำพลาดแล้ว

“นายนี่ชอบเอาของกินมาล่อฉันเรื่อยเลย...แต่ถ้าจะให้ดี นายเลี้ยงฉันด้วยนะ” เข้มส่งยิ้มให้ต้นกล้า

“นี่ฉันช่วยปลอบใจนายแล้ว ยังต้องเสียตังเลี้ยงข้าวนายด้วยเหรอ…นายนี่จริงๆ เลย” ต้นกล้าส่ายหัว ก่อนจะลุกขึ้น แล้วเดินกลับไปนั่งที่โต๊ะทำงาน

เข้มเดินตามไปติดๆ “เอาน่า...ช่วงนี้ฉันกำลังกรอบ ไว้คราวหน้าฉันเลี้ยงนายคืน โอเคไหม?”

“สัญญา” ต้นกล้าถามย้ำ

“ด้วยเกียรติของลูกเสือสำรองครับเพื่อน” เข้มยึดตัวตรง แล้วทำท่าวันทยาหัตตามแบบฉบับของลูกเสือสำรอง

...อ่านต่อฉบับวันจันทร์หน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น