xs
xsm
sm
md
lg

พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝาก ..คุณพร้อมแล้วหรือยัง?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

   ใกล้เข้ามาเต็มทีแล้ว สำหรับการประกาศใช้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 11 สิงหาคมนี้ ดังนั้นจึงไมใช่เรื่องที่แปลกท่นผู้อ่านจะได้เห็นข้อมูลข่าวสารของเรื่องดังกล่าว ถูกนำมาตีพิมพ์และเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆมากมายในช่วงนี้
ทั้งนี้เนื่องจาก มีหลายหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบจากพ.ร.บ.ดังกล่าว ได้ทำการนำเสนอข้อมูลผ่านการแถลงข่าว การจัดงานเสวนา ซึ่งหากมองโลกในแง่ดีแล้ว นับว่าถือเป็นเรื่องที่ดีที่หลายฝ่ายต่างตื่นตัว และโหมประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารประเภทนี้ไปสู่สาธารณชนให้ได้รับรื้ และเตรียมตัวรับมือกับเรื่องดังกล่าวได้อย่างถูกวิธี เนื่องจากยังมีประชาชนส่วนมากที่ยังไม่เคยระแคะระคาย กับผลของพ.ร.บ.ฉบับนี้หากมีการประกาศใช้จริง โดยเฉพาะประชาชนทั่วไปที่อยู่ในต่างจังหวัด0
สำหรับกลุ่มคนที่อยู่ในแวดวงการลงทุน หรือติดตามข่าวสารด้านเศรษฐกิจการเงิน เรื่องนี้คงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมีการนำเสนอข่าวสารเรื่องพ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากกันอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะๆ แต่กับกลุ่มคนที่เพิ่งรับทราบ และกับกลุ่มคนที่ไม่อาจตัดสินใจว่าจะหาช่องทางไหนรับมือกับเรื่องนี้ได้ วันนี้ “ผู้จัดการ”มีข้อเสนอแนะดีๆ จากศูนย์วิจัยกสิกรไทย มานำเสนอ เพื่อช่วยให้คุณสามารถตัดสินใจ หรือมองเห็นรองทางรองรับเรื่องดังกล่าวได้อย่างไม่ต้องกังวลใจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ตั้งชื่อหัวข้อไว้อย่างน่าสนใจว่า “จะเตรียมตัวอย่างไร?” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการเตรียมตัวของฝ่ายประชาชนเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังรวมถึงการเตรียมของฝ่ายสถาบันการเงิน และภาครัฐอีกด้วย
โดยการเตรียมตัวในฝ่ายผู้ฝากเงิน (ประชาชน) นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเริ่มให้คำแนะนำถึงผู้ฝากเงินไว้ ขั้นแรก ผู้ฝากเงินควรทำความเข้าใจกับระบบคุ้มครองเงินฝากใหม่ให้ถ่องแท้ ขั้นต่อมา จะต้องติดตามข้อมูลข่าวสารของสถาบันการเงินมากขึ้น เพื่อช่วยในการประเมินความเสี่ยงของแต่ละสถาบันการเงิน สุดท้าย  จะต้องศึกษาทางเลือกในการลงทุนประเภทอื่นๆ ซึ่งมีความหลากหลาย โดยการลงทุนแต่ละประเภทย่อมมีความเสี่ยง อัตราผลตอบแทน สภาพคล่องที่แตกต่างกัน
ขณะที่ การเตรียมตัวของฝ่ายสถาบันการเงิน  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า 1.จะต้องติดตามความเคลื่อนไหวของเงินฝากอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยให้สามารถปรับกลยุทธ์การบริหารเงินและการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนข้อที่2. คือ  ต้องศึกษาความต้องการของลูกค้าเงินฝากแต่ละกลุ่ม เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์ และนำเสนอผลิตภัณฑ์การออม/การลงทุนใหม่ๆ ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าเหล่านั้น รวมถึงคุณภาพของการให้บริการ และสุดท้าย ข้อที่3. ควรเพิ่มประสิทธิ์ภาพของการบริหารความเสี่ยง ให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และดำเนินงานตามหลักธรรมาธิบาลที่ดี
ส่วน การเตรียมตัวของภาครัฐ  ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย แนะนำว่า  ภาครัฐควรเร่งประชาสัมพันธ์ เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบคุ้มครองเงินฝากแบบใหม่ในวงกว้าง ขณะเดียวกันภาครัฐ ควรเพิ่มประสิทธิภาพ ศักยภาพในการแข่งขัน และแก้ไขความอ่อนแอในภาคสถาบันการเงิน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้ฝากเงิน สุดท้ายภาครัฐ ต้องพัฒนาตลาดการเงินและตลาดทุน เพื่อรองรับความต้องการลงทุนจากนักลงทุนรายย่อยที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตามข้อเสนอแนะของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในส่วนของสถาบันการเงิน และในส่วนภาครัฐบาลนั้นดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายต่างให้ความสำคัญ และมีแผนที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่ขอนำมาขยายความ จะต้องกลับมามองกันต่อที่ภาคส่วนของผู้ฝากเงิน หรือ ประชาชนทั่วไปนั่นเอง
โดยในขั้นแรก ผู้ฝากเงินควรทำความเข้าใจกับระบบคุ้มครองเงินฝากใหม่ให้ถ่องแท้ ในส่วนนี้ หมายถึง เราทุกคน หรือผู้ฝากเงินทุกท่าน ควรอย่างยิ่งที่จะต้องหาข้อมูลในเรื่องพ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะสาเหตุในการออกพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว บทพระราชบัญญัติได้ระบุไว้
แต่ที่นี้ ทีมงานขอสรุปว่า พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก จะให้ความคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนในปีแรก จากนั้นจะทยอยลดจำนวนเงินฝากที่คุ้มครองลงเรื่อยๆ จนกระทั่งวันที่ 11 ส.ค. 2555 เป็นต้นไป จะให้ความคุ้มครองเงินฝากเหลือเพียง 1 ล้านบาทต่อราย ต่อสถาบันการเงิน
โดยการคุ้มครองบัญชีของนิติบุคคลจะเทียบเท่ากับบัญชีของบุคคลธรรมดา ดังนั้นถ้าผู้ฝากเงินรายหนึ่ง มีเงินฝากหลายบัญชีกับสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง สถาบันคุ้มครองเงินฝาก จะรับคุ้มครองโดยนับยอดเงินฝากในทุกบัญชีรวมกัน ขณะเดียวกันหากฝากเงินไว้กับสถาบันการเงินหลายแห่งก็จะได้รับการคุ้มครองในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาททุกแห่ง

 ระยะเวลาการเริ่มมีผลบังคับใช้
ปีที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 51-10 ส.ค. 52 คุ้มครองเต็มจำนวน
ปีที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 52-10 ส.ค. 53 คุ้มครอง 100 ล้านบาท
ปีที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 53-10 ส.ค. 54 คุ้มครอง 50 ล้านบาท
ปีที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 54-10 ส.ค. 55 คุ้มครอง 10 ล้านบาท
ปีที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 55 เป็นต้นไป คุ้มครอง 1 ล้านบาท

 อย่างไรก็ตาม การให้ความคุ้มครองนั้น จะเป็นเฉพาะเงินฝากและดอกเบี้ยที่เป็นเงินบาท ซึ่งเจ้าของบัญชีเป็นชาวไทย หรือมีถิ่นฐานพำนักในประเทศไทย (Thai Resident) เท่านั้น ดังนั้น เงินฝากในสกุลเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit: FCD) และบัญชีของผู้มีถิ่นฐานอยู่นอกประเทศ หรือ Non-Resident: NR จะไม่ได้รับความคุ้มครอง
ดังนั้น เมื่อสถาบันการเงินมีปัญหา เช่น ถูกสั่งให้เลิกกิจการ หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตตามกฎหมาย คณะกรรมการควบคุมหรือผู้แทนนิติบุคคลของสถาบันการเงินนั้นจะเป็น ผู้ส่งมอบเงินและทรัพย์สิน ตลอดจนเอกสารทั้งหมดให้แก่สถาบัน คุ้มครองเงินฝากในฐานะผู้ชำระบัญชีภายใน 7 วัน นับตั้งแต่ถูก เพิกถอนใบอนุญาตหลังจากนั้น สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะประกาศกำหนดให้ผู้ฝากเงินมายื่นของรับเงินภายใน 40 วัน นับแต่วันที่สถาบันการเงินแห่งนั้นถูกเพิกถอนใบอนุญาต ผู้ฝากเงินจะต้องยื่นคำขอและแสดงพยานหลักฐานเพื่อขอรับเงินภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่สถาบันประกาศ และสามารถที่จะขยายระยะเวลาได้ 90 วัน อีก 2 ครั้ง รวมผู้ฝากเงินมีระยะเวลาประมาณ 270 วัน ในการยื่นขอรับเงิน
ทั้งนี้หากผู้ฝากเงินรายใดไม่ได้มายื่นขอรับเงินภายในระยะเวลาที่กำหนด จะถือว่าสิทธิในการได้รับเงินดังกล่าวเป็นอันระงับไป แต่ผู้ฝากเงินยังคงมีสิทธิในการยื่นของรับชำระหนี้ดังกล่าวจากกองทรัพย์สินของสถาบันการเงินตามกระบวนการชำระบัญชีได้
ขั้นต่อมา ติดตามข้อมูลข่าวสารของสถาบันการเงินมากขึ้น เพื่อช่วยในการประเมินความเสี่ยงของแต่ละสถาบันการเงิน เรื่องนี้ ถือว่าเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวก็ว่าได้ เพราะหากเรามีการติดตามข้อมูลข่าวาสารอย่างต่อเนื่อง จะยิ่งเพิ่มการตัดสินใจในเรื่องความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงินต่างๆได้ อีกทั้งจะทำให้เรารู้ถึงศักยภาพการดำเนินธุรกิจ และศักยภาพการเงินของสถาบันนั้น ว่าเหมาะและเพียงพอที่จะสร้างความอุ่นใจแก่เงินฝากของเราได้หรือไม่
ขั้นสุดท้าย ศึกษาทางเลือกในการลงทุนประเภทอื่นๆ ส่วนนี้ เรียกว่าผลตอบแทนของแต่ละคนจะมาก จะน้อยกว่ากันแค่ไหนอยู่ที่การตัดสินใจของบุคคลนั้น เพราะแต่ละคนแบกรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน อีกทั้งการลงทุนประเภทอื่นๆนอกเหนือจากการฝากเงินไว้กับแบงก์แล้ว ยังถือว่ามีความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ไปตามจำนวนตัวเลขผลตอบแทนและกำไรจากการลงทุนนั่นเอง
ปัจจุบันนี้ ทางเลือกด้านการลงทุน มีให้ผู้ฝากทุกคนมากมายหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนผ่านตราสารหนี้ การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรือตลาดซื้อขายล่วงหน้า การลงทุนผ่านกองทุนรวมประเภทต่างๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งการลงทุนในทองคำ หรือการลงทุนรูปแบบอสังหาริมทรัพย์ แต่ทุกสิ่งที่นำเสนอมานี้ จะเป็นที่ชื่นชอบและสร้างผลตอบแทนได้ระดับไหน เป็นเรื่องที่ผู้ฝากเงินต้องทำการบ้าน และทำการพิจารณา ก่อนถอนเงินไปลงทุนทั้งสิ้น
ทั้งนี้เพราะ..ไม่มีใครสามารถบอกทาง หรือฟันธงให้ได้ว่า เมื่อลงทุนแล้วจะได้รับผลตอบแทนดีตลอดไป หรือไม่มีการขาดทุน ..แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันน่ากลัว จนต้องจำใจเงินฝากไว้ในแบงก์ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น