xs
xsm
sm
md
lg

เงินเฟ้อกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์คุยกับผู้จัดการกองทุน
ดร.ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล
นักวิเคราะห์การลงทุนอาวุโส
บลจ.อยุธยา จำกัด


เมื่อวานนี้ทางคณะกรรมการนโยบายการเงินได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ตามที่ตลาดคาดไว้ โดยทางคณะกรรมการได้ให้เหตุผลในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยว่า ต้นทุนการผลิตและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นกำลังบั่นทอนความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการฯ ยังคงมองว่าเงินเฟ้อยังมีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นต่อไปตามราคาน้ำมันและอาหารที่เพิ่มขึ้น และทางคณะกรรมการฯพร้อมที่จะดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมหากอัตราเงินเฟ้อยังคงเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่ามีโอกาสที่คณะกรรมการฯ จะประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก

สำหรับสาเหตุของการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในครั้งนี้ คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่ามาจากราคาน้ำมันและอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าสูงขึ้น หรือกล่าวได้ว่า ต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้นก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ (Cost-push inflation) ซึ่งต่างจากการเกิดเงินเฟ้อในภาวการณ์ปกติ ที่มักจะเกิดขึ้นจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ผู้บริโภคมีความสามารถในการใช้จ่ายมากขึ้น ความต้องการบริโภคสินค้าจึงมีมากขึ้น ส่งผลให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น และก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อตามมา (Demand-pull inflation) ดังนั้น หลายฝ่ายจึงมีความกังวลว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ธปท. อาจจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจที่แย่อยู่แล้ว ให้ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก

หลายท่านอาจสงสัยว่าทำไม ธปท. ถึงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อมากกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตัวผมเองก็ไม่ได้จบมาทางด้านเศรษฐศาสตร์โดยตรง แต่พอจำได้ว่าอาจารย์ผมเคยบอกว่า ปัญหาเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่อาจสร้างความเสียหายได้อย่างรุนแรงและส่งผลต่อเนื่องอย่างยาวนาน เพราะปัญหาเงินเฟ้อจะนำมาซึ่งปัญหาสังคม ที่อาจแก้ไขได้ยาก ดังจะเห็นได้จากในปัจจุบัน ที่มีธุรกิจหลายอย่างต้องปิดตัวลง เพราะไม่สามารถสู้กับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นได้ การปิดกิจการ ก็หมายความว่า จะต้องมีคนตกงาน การที่คนๆนึงตกงานไม่ได้สร้างปัญหาให้กับคนเพียงคนเดียว แต่อาจส่งผลกระทบต่อภรรยาและบุตรของคนๆนั้นด้วย ซึ่งหากบุตรของคนๆนั้นต้องออกจากโรงเรียนเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียน ปัญหาที่จะตามมาก็คือเด็กคนนั้นก็อาจจะพลาดโอกาสที่จะมีอนาคตที่สดใสไปด้วย นอกจากนี้ ปัญหาเงินเฟ้อยังอาจเป็นจุดกำเนิดของอาชญากรรมที่ตามมา เพราะคนบางคน เมื่อไม่สามารถหารายได้ให้พอกับค่าใช้จ่ายได้ จึงตัดสินใจลักเล็กขโมยน้อย หรืออาจถึงขั้นฉกชิงวิ่งราว เพื่อหาเงินให้พอกับรายจ่ายก็เป็นได้

สำหรับในมุมมองส่วนตัวของผมเองแล้ว ผมเห็นด้วยว่าสำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน การแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่ควรทำมากกว่าจะเน้นให้เศรษฐกิจขยายตัว แต่ผมไม่ได้มองในมุมองของปัญหาสังคมที่จะตามมา แต่ผมมองว่า หากเศรษฐกิจขยายตัวได้ดี แต่คนมีความสามารถในการใช้จ่ายน้อยลง การขยายตัวของเศรษฐกิจก็จะเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น สมมุติว่าเศรษฐกิจไม่มีการขยายตัว และรายได้ของผู้บริโภคไม่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาสินค้าก็ไม่เพิ่มขึ้นด้วย ผู้บริโภคก็จะไม่ได้รับผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจไม่ขยายตัวมากนัก เพราะความสามารถในการใช้จ่ายยังคงเท่าเดิม แต่ถ้าหากว่าเศรษฐกิจขยายตัวได้ 5% รายได้ของผู้บริโภคก็เพิ่มขึ้น 5% แต่ราคาสินค้ากลับเพิ่มขึ้น 10% ภาพรวมอาจมองได้ว่าเศรษฐกิจขยายตัวได้ดี แต่ผู้บริโภคจะได้รับความเดือดร้อนจากการที่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นมากกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้

ในปัจจุบัน ธนาคารกลางของหลายๆประเทศใช้การกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเป็นหลักในการดำเนินนโยบายทางการเงิน ซึ่งวัตถุประสงค์หลักๆก็คือ พยายามรักษาเสถียรภาพด้านราคา และสำหรับปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในหลายๆประเทศ ทำให้ธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ ตัดสินใจประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาไว้ ซึ่งอาจเป็นการบ่งชี้ว่า ธนาคารกลางของหลายๆประเทศให้ความสำคัญต่อปัญหาเงินเฟ้อมากกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม สำหรับธนาคารกลางของบางประเทศที่ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ ก็ไม่ได้หมายความว่าทางธนาคารให้ความสำคัญด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจมากกว่า แต่ทางธนาคารมองว่า อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง และเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวลง อัตราเงินเฟ้อก็จะลดลงเอง กล่าวคือ ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ผู้บริโภคจะใช้จ่ายน้อยลง ส่งผลให้ปริมาณสินค้าในตลาดมีมากกว่าความต้องการบริโภค และจะส่งผลให้ราคาสินค้าลดลง ซึ่งเป็นไปตามหลักอุปสงค์-อุปทาน (demand-supply)

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ คงไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวว่าจะต้องดำเนินการแบบใด เพราะต้องพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมหลายปัจจัย รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดตามมา ในขณะที่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ระบุไว้ในหนังสือหลายๆเล่มก็อาจจะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ทางผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการต่อไปก็คือ การติดตามปัญหาอย่างใกล้ชิด และหาแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น