xs
xsm
sm
md
lg

จี้รัฐเร่งสกัดราคาสินค้า-ค่าแรง หวั่นกระทบต้นทุนดันเงินเฟ้อพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - ธปท.หวั่นเกิดวัฎจักรของการขึ้นค่าจ้างและราคาสินค้าแบบไม่สิ้นสุด หรือ Wage-price spiral ระบุผู้ประกอบการมีแนวโน้มแบกรับต้นทุนได้น้อยลงจากการปรับราคาสินค้ายาก ทำให้กำไรหด แนะรัฐใช้นโยบายด้านอุปทานแก้ไขแบบเร่งด่วนในระยะยาวควบคู่ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ยันแบงก์ชาติเดินถูกทางลดการคาดการณ์เงินเฟ้อไม่ให้เร่งตัวสูงเกินจริง

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แจ้งว่า สายนโยบายสถาบันการเงินของธปท.ได้เผยแพร่บทความหัวข้อ “ตลาดแรงงานกับแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ” โดยมองว่าภาวะตลาดแรงงานในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งล่าสุดช่วงไตรมาสแรกของปีนี้อยู่ที่ระดับ 1.3% ทำให้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อจากตลาดแรงงานสูงขึ้น เนื่องจากค่าตอบแทนที่ได้รับมากกว่าผลผลิตของแรงงาน เห็นได้จากต้นทุนการผลิตต่อหน่วยของแรงงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยช่วงไตรมาสแรกของปี 51เพิ่มขึ้นถึง 5% เทียบกับไตรมาส 3 และ 4 ของปี 50 แค่ 0.7% ดังนั้น หากการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างและการปรับขึ้นราคาสินค้าดำเนินต่อไปต่อเนื่องจะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงแบบงูกินหางที่มีการวิ่งไล่กันของค่าจ้างและราคาหรือวัฎจักรของการขึ้นค่าจ้างและราคาอย่างไม่สิ้นสุด(Wage-price spiral)

“หากผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นก็จะทำให้กำไรจากการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการลดลงและกดดันให้ผู้ประกอบการต้องขึ้นราคาสินค้า (Cost-push inflation) ส่วนอีกด้านหนึ่งหากขบวนการเรียกร้องขอปรับขึ้นค่าจ้างเกิดขึ้นถี่และจำนวนเงินอยู่ในระดับสูงอาจจะเพิ่มความเสี่ยงจะกระตุ้นให้เกิดเงินเฟ้อเชิงอุปสงค์ (Demand-pull inflation) ในระยะต่อไป ซึ่งหากค่าครองชีพสูงขึ้นในช่วงภาวะเศรษฐกิจขยายตัวอยู่ที่ 6% สำหรับไตรมาสแรกของปีนี้ แรงงานสามารถเรียกร้องให้ค่าตอบแทนขยายตัวได้ถึง 11.4%”

อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วงที่ผ่านมายังไม่เกิดภาวะ Wage-price spiral ในระดับรุนแรง เนื่องจากการส่งผ่านของต้นทุนไปยังราคาสินค้าและจากราคาไปสู่ค่าจ้างมีค่อนข้างจำกัด เพราะปัจจัยแวดล้อมของภาคธุรกิจยังดีอยู่ทั้งกำไรจากการดำเนินธุรกิจ การแข่งขันในตลาดและการคาดการณ์เงินเฟ้อไม่มากนัก รวมทั้งการควบคุมราคาสินค้าของทางการ แต่การที่ดัชนีราคาลดลงสะท้อนว่าผลประกอบการของผู้ประกอบการมีแนวโน้มลดลงอาจส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความสามารถในการแบกภาระต้นทุนได้น้อยลงในระยะต่อไป ขณะเดียวกันจากการที่ตลาดแรงงานในปัจจุบันตึงตัวค่อนข้างมาก ทำให้อำนาจในการต่อรองของลูกจ้างมีมากขึ้น เพื่อชดเชยกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้

นอกจากนี้ การที่ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและยืดเยื้อส่งผลให้หน่วยเศรษฐกิจต่างๆ คาดว่าต้นทุนและอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงต่อไป โดยจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมหลักจำนวน 865 ราย เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ผู้ประกอบการกว่า 50% ประเมินว่าต้นทุนจะเพิ่มขึ้นประมาณ 6% และผู้ประกอบการอีก 40% มองว่าอัตราเงินเฟ้อสูงกว่า 6% ถือเป็นแรงกดดันต่อการปรับขึ้นค่าจ้างในอนาคต และเพิ่มความเสี่ยงให้เกิด Wage-price spiral ได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทางการต้องหาแนวทางป้องกันหรือหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว

ดังนั้น ภาครัฐควรมีนโยบายเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของวัฎจักรของการขึ้นค่าจ้างและราคาอย่างไม่สิ้นสุด โดยมุ่งเน้นการใช้นโยบายด้านอุปทาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของประเทศและพัฒนาประสิทธิภาพของภาครัฐเองในระยะยาว ซึ่งต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการให้ความช่วยเหลือแก้ผู้มีรายได้น้อย ให้ความรู้ความเข้าใจและส่งเสริมให้ใช้พลังงานทางเลือกให้มากขึ้นในแต่ละภาคส่วนของประเทศให้มากที่สุด เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันธปท.ควรใช้นโยบายการเงินดูแลเงินเฟ้อโดยผ่านช่องทางเงินเฟ้อคาดการณ์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้วิกฤตพลังงานในครั้งนี้ได้ด้วยต้นทุนที่น้อยที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น