xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มพลังงานแกร่ง..แม้หุ้นทรุด ดีมานต์ทั่วโลกยังเติบโตต่อเนื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"หุ้นในกลุ่มประเภทพลังงานยังเป็นหุ้นที่มีความน่าลงทุน เพราะมีความต้องการใช้ทรัพย์พยากรด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประเทศไทยที่มีการอุปโภคบริโภคพลังงานในปริมาณที่มาก แม้ว่าในขณะนี้ราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานโดยรวมจะปรับตัวลดลงมา แต่คาดว่าในระยะสั้นๆนี้คงไม่ปรับตัวลดลงไปมากกว่านี้"

ในภาวะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทุกๆประเทศปรับตัวลดลงมาจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาลง ส่งผลให้หุ้นในหลายๆตัวได้รับผลกระทบไปตามๆกัน แม้กระทั่งหุ้นในกลุ่มพลังงานที่ขึ้นชื่อว่าแข็งแกร่งแล้ว ยังได้รับผลกระทบด้วย จึงเป็นช่วงที่นักลงทุนควรศึกษาและติดตามปัจจัยต่างๆอย่างใกล้ชิดเพื่อรับมือกับความผันผวนต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นกับการลงทุน

กรวุฒิ ลีนะบรรจง ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บลจ. ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความเห็นถึงภาวะการลงทุนในหุ่นกลุ่มพลังงานว่า ในขณะนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา เพราะได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพหรือซับไพร์ม ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้ความมั่นใจของนักลงทุนยังไม่กลับมาและเป็นผลต่อเนื่องที่ทำให้นักลงทุนหนีการลงทุนจากตลาดหุ้นไปลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทอื่น เช่น ทองคำ หรือเปลี่ยนมาถือเงินสดแทนเพื่อรอดูสถานการณ์ก่อนตัดสินใจ แต่การลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทอื่นก็ยังมีการปรับตัวขึ้นลงเช่นกันซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ

อย่างไรก็ตาม หุ้นในกลุ่มประเภทพลังงานยังเป็นหุ้นที่มีความน่าลงทุน เพราะมีความต้องการใช้ทรัพย์พยากรด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประเทศไทยที่มีการอุปโภคบริโภคพลังงานในปริมาณที่มาก แม้ว่าในขณะนี้ราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานโดยรวมจะปรับตัวลดลงมา แต่คาดว่าในระยะสั้นๆนี้คงไม่ปรับตัวลดลงไปมากกว่านี้อย่างแน่นอน ขณะเดียวกันในระยาวแล้วหุ้นในกลุ่มพลังงานยังสามารถที่จะปรับตัวไปในทิศทางเดียวกับตลาดโลกเช่นกัน

ด้าน อลัน แคม อดีตผู้บริหาร ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการลงทุน ให้คำแนะนำไว้อย่างน่าสนใจว่า ปัจจุบันพลังงานเป็นสิ่งที่สำคัญและมีความจำเป็นอย่างมาก ซึ่งในตลาดโลกยังมีความต้องการอยู่ในปริมาณที่มาก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น ประเทศสหรัฐอเมริกา จิน อินเดีย เป็นต้น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกามีความต้องการใช้นํ้ามันในปริมาณที่มากที่นุดนอกเหนือจากการใช้ในภาคอุตสาหรรมแล้ว เช่น การใช้นํ้ามันในช่วงฤดูร้อน ที่ประชาชนจะพากันออกไปท่องเที่ยวด้วยรถยนต์เป็นจำนวนมาก รวมถึงในช่วงฤดูหนาวที่มีต้องการใช้นํ้ามันเพื่อสร้างความอบอุ่น

ในขณะที่ประเทศจีนและอินเดีย ก็มีความต้องการใช้นํ้ามันในปริมาณที่มากในภาคอุตสาหกรรม อย่างได้ทราบกันโดยเฉพาะประเทศจีนที่มีแนวโน้มจะมีความต้องการใช้มากขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการลงทุนในหุ้นประเภทพลังงานมีความน่าลงทุนมาก แต่ในขณะเดียวกันก็มีความผันผวนเช่นกัน นาย อลัน แคม จึงให้คำแนะนำแก่นักลงทุนว่า นักลงทุนต้องดูที่ภาพรวมของการใช้พลังงานทั้งในส่วนของตลาดโลก ซึ่งนักลงทุนต้องมองไปที่ปริมาณความต้องการใช้ในต่างประเทศรวมถึงทิศทางของบริษัทพลังงานต่างๆด้วยว่ามีนโยบายการดำเนินงานไปในทิศทางใด เพราะปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวประกอบการตัดสินใจในการลงทุนได้

นอกจากนี้ สิ่งที่นักลงทุนต้องให้ความสำคัญ คือต้องมองถึงการลงทุนด้วยว่า ต้องการลงทุนแบบใด หากเป็นการลงทุนเพื่อการเก็งกำไรในระยะสั้นๆแล้วถือว่ามีความผันผวนและมีความเสี่ยงอยู่มาก ซึ่งไม่แนะนำให้นักลงทุนลงทุนเพื่อเก็งกำไร แต่หากลงทุนในระยะยาว (Long Term) เพื่อปันผลกำไรแล้วจะมีความน่าสนใจมากกว่า ทั้งนี้เป็นเพราะความผันผวนดังกล่าวนั้นหากเกิดขึ้นจะเกิดขึ้นทั่วโลก เพราะความต้องการใช้ที่มีมากขึ้น

ด้าน พัชร ธนวัฒโน นักวิเคราะห์หลักทรัพย์กลุ่มพลังงาน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มหุ้นกลุ่มพลังงาน ยังให้ผลตอบแทนที่ดีและสูงกว่าตลาด เพราะได้รับผลประโยชน์จากราคาน้ำมันและถ่านหินที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยหุ้นที่ได้รับประโยชน์ คือ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP
ขณะที่ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจะส่งผลดีต่อธุรกิจโรงกลั่น แม้ว่าจะไม่มากนัก เพราะไม่สามารถปรับเพิ่มค่าการกลั่นได้ทันกับราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าอนาคตจะได้ประโยชน์จากราคาน้ำมัน โดยไตรมาส 2/51 คาดว่าค่าการกลั่นเฉลี่ยที่ 8 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล สูงกว่าไตรมาส 1/51 และคาดว่าทั้งปี 51 ค่าการกลั่นจะอยู่ที่ระดับ 7-8 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

สำหรับหุ้นในกลุ่มโรงกลั่นที่น่าสนใจลงทุน คือ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)หรือ TOP จากที่บริษัทได้มีการเพิ่มกำลังการผลิตและธุรกิจด้านปิโตรเคมีที่พร้อมจะเปิดดำเนินงาน ซึ่งจะทำให้งบการเงินของบริษัทดีขึ้น และยังให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลถึง 10%

 การเมืองแทรกเลี่ยงลงทุนPTT

ขณะเดียวกัน นางสาวธนพร วิศรุตพงษ์ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์กลุ่มพลังงาน บล. กสิกรไทย กล่าวว่า จากกรณีที่รัฐบาลให้บมจ. ปตท. (PTT) อุดหนุนก๊าซจากการที่ความต้องการใช้มากขึ้น ทำให้ปตท.จะต้องนำเข้าแก๊สLPG จากต่างประเทศเริ่มตั้งแต่เมษายนที่ผ่านมา และคาดว่าปีนี้ต้องนำเข้าจำนวน 2 แสนตัน และเพิ่มเป็น 8 แสนตันในปี 52 ซึ่งจะต้องใช้เงินจำนวน 1.7 หมื่นล้านบาท แต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐจะมีการชดเชยคืนให้เมื่อไร ทำให้หุ้นปตท.ไม่น่าสนใจเข้าไปลงทุน หากรัฐบาลมีความชัดเจนว่าจะแทรกแซงยังไง และจะมีการชดเชยคืนให้เมื่อไรนั้น ทำให้หุ้นปตท.น่าสนใจมากขึ้น

ทั้งนี้ จากการที่แนวโน้มค่าไฟมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น เชื่อว่า PTTEP จะเป็นรายต่อไปที่รัฐจะให้เข้ามาช่วยอุดหนุนค่า FT จากราคาก๊าซที่เพิ่มขึ้นและการผลิตไฟฟ้าใช้ก๊าซถึง 70% ซึ่งคาดว่าจะชดเชยประมาณ 4 เดือน หลังจากนั้นก็จะมีการพิจารณาปรับขึ้นค่าFTใหม่ ซึ่งจะไม่ค่อยประทบกับผลประกอบการของบริษัทมากนักแต่จะกระทบต่อจิตวิทยาการลงทุน

สำหรับหุ้นที่บริษัทแนะนำลงทุน คือ PTTEP ที่คาดว่าจะมียอดขายปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นเท่าตัว รวมถึงการเข้าลงทุนซื้อหุ้นยากูน่า แหล่งปิโตรเลียมที่กัมพูชา โดยประเมินราคาหุ้นเหมาะสม PTTEP ปีนี้ไว้ที่ 236 บาท และ BANPU จะได้ประโยชน์จากราคาถ่านหินที่สูงจนถึงปี 53 ประเมินราคาหุ้นเหมาะสมที่ 590 บาท

คาดราคาน้ำมันครึ่งหลังลดลง

วิริยา ลาภพรหมรัตน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์ บล.เกียรตินาคิน กล่าวว่า จากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นนั้นมีผลกระทบต่อหุ้นเคมีภัณฑ์ปรับตัวลดลงมาก จากการที่ราคานาฟทาซึ่งเป็นต้นทุนหลักของปิโตรเคมีมีราคาสูงขึ้นเป็น 1,000 เหรียญสหรัฐต่อ ตัน จากเดิมที่อยู่ 500 เหรียญสหรัฐต่อตัน โดยคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลงจากที่จะมีปริมาณการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นจากประเทศต่างรวม 9 แสนบาร์เรลต่อวัน เช่น จากโอเปกเพิ่มกำลังการผลิต 2 แสนบาร์เรลต่อวัน รัสเซียเพิ่มกำลังผลิตอีก 2.5 แสนบาร์เรลต่อวัน และจากโออีซีดี จำนวน 5 แสนบาร์เรลต่อวัน
 

วัฎจักรปิโตรเคมีขาลง

กิติชาญ สิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์ บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย)กล่าวถึงธุรกิจปิโตรเคมี ว่า วัฏจักรของธุรกิจปิโตรเคมีขณะนี้อยู่ในช่วงขาลง จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้มีราคาที่ผันผวน และจากการที่เศรษฐกิจชะลอตัวทำให้ความต้องการใช้ลดลง โดยเชื่อว่าธุรกิจปิโตรเคมี รวมถึงการที่จะมีปริมาณกำลังการผลิตใหม่ที่เพิ่มขึ้นในแถบตะวันออกกลางและเอเชีย จะปรับตัวดีขึ้นในอีก 11 ปีข้างหน้า ซึ่งบริษัทที่จะมีผลประกอบการที่ดีจะเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจปิโตรเคมีปลายน้ำ จากราคาส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบมีสูง
กำลังโหลดความคิดเห็น