xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดหุ้นQ2ผันผวนหนัก ลุ้นปัจจัยบวกดันดัชนีปรับตัวครึ่งปีหลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยในไตรมาสที่ 2 ปรับตัวผันผวนอย่างหนักตามที่เราคาดการณ์ไว้ ดัชนีสามารถทำจุดสูงสุดของไตรมาสที่ 885.35 จุด และลงไปทำจุดต่ำสุดของไตรมาสที่ 742.46 จุด โดยมีปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนตลาดจากปัจจัยทางการเมือง ราคาน้ำมัน และตัวเลขเงินเฟ้อ ดัชนีปิด ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ที่ 768.59 จุด ลดลง 48.44 จุด และ 89.51 จุดจากไตรมาสที่1 และจากสิ้นปี 2550 คิดเป็นอัตรา -5.93% QoQ และ -10.43% YTD

เดือนเมษายน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวผันผวนในขาขึ้นตลอดทั้งเดือน ตามแรงซื้อกลับของนักลงทุนและการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นทั่วโลก หลังจากที่นักลงทุนคาดว่าปัจจัยร้ายต่างๆ ได้สะท้อนในราคาหุ้นแล้ว และคาดว่านโยบายการปรับลดดอกเบี้ยลงมาตลอดตั้งแต่ช่วงต้นปีของธนาคารกลางสหรัฐจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง นอกจากตลาดหุ้นจะปรับตัวดีขึ้น ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐก็มีแนวโน้มที่จะปรับค่าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ในทิศทางตรงกันข้าม ในส่วนของตลาดทองคำ และน้ำมัน เริ่มที่จะมีแรงเทขายทำกำไร หลังจากที่ราคาน้ำมันทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่ที่ 119.37 ดอลลาร์/บาร์เรล อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเงินเฟ้อในหลายๆประเทศที่เริ่มประกาศออกมาในอัตราที่ค่อนข้างสูง เริ่มเข้ามาเป็นปัจจัยหลักที่นักลงทุนเริ่มเป็นกังวลมากขึ้น ทำให้ตลาดผันผวนมีแรงขายสลับกับแรงซื้อตลอดทั้งเดือน โดยรวมแล้ว ดัชนีสามารถปรับตัวขึ้นไปได้ 15.42 จุดมาปิดที่ 832.45 จุด ณ สิ้นเดือนเมษายน โดยมีนักลงทุนต่างประเทศ และนักลงทุนสถาบันมียอดขายสุดทธิ 91.88 ล้านบาท และ 591.32 ล้านบาทตามลำดับ ในขณะที่นักลงทุนรายย่อยมียอดซื้อสุทธิเท่ากับ 683.20 ล้านบาท

เดือนพฤษภาคม ในช่วงครึ่งเดือนแรก ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ได้รับปัจจัยบวกจากการประกาศผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 1 ของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ อีกทั้ง ราคาน้ำมันที่ทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 135 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ได้เป็นตัวฉุดให้ราคาหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้น เป็นผลให้ดัชนีปรับตัวขึ้นและทำจุดสูงสุดในวันที่ 23 พ.ค. ที่ 885.35 จุด ในช่วงอาทิตย์สุดท้ายของเดือน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์กลับต้องไหลรูดลงมาอย่างรวดเร็ว เหตุเพราะปัจจัยทางการเมืองเริ่มเข้ามากดดัน หลังจากที่กลุ่มพันธมิตรเริ่มจัดการชุมนุมเพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ของรัฐบาล และยืดเยื้อจนเป็นการชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาล ทำให้นักลงทุนต่างเทขายหุ้นเพื่อลดความเสี่ยง ดัชนีจึงปรับลดลงถึง 51.7 จุดหรือ 5.84% ภายในช่วงอาทิตย์เดียว นอกจากนี้ ตลาดยังต้องเผชิญกับความกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจ เช่นตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงและตัวเลขการขาดดุลอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย อาจจะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยในอีกไม่ช้าไม่นานนี้ ดัชนีจึงไหลลงมาปิดสิ้นเดือนที่ 833.65 จุด เพิ่มขึ้น 1.2 จุดจากเดือนเมษายน

เดือนมิถุนายน ตลาดหลักทรัพย์ไทยและตลาดหุ้นทั่วโลก ได้รับแรงกดดันอย่างหนัก จากราคาน้ำมันที่มีความผันผวนอย่างมาก ตัวเลขเงินเฟ้อที่ออกมาสูงกว่าความคาดหมาย อีกทั้งปัจจัยทางการเมืองในประเทศที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยลบที่ฉุดดัชนีลงมาซื้อขายที่ระดับต่ำกว่า 800 จุด นักวิเคราะห์ส่วนมากมองว่า ราคาน้ำมันน่าจะเพิ่มขึ้นได้อีกไม่มากนัก นอกจากนี้ ในหลายๆประเทศที่เคยให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน (subsidy) ราคาน้ำมันในประเทศ ก็ทยอยปรับขึ้นราคาน้ำมัน ทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันน่าจะลดลงได้ในอนาคต ทำให้มีแรงเทขายหุ้นกลุ่มน้ำมันออกมาในช่วงสั้น

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันก็ไม่ได้ปรับตัวลงอย่างที่คาด ทำให้นักลงทุนต้องเข้ามาซื้อหุ้นกลุ่มน้ำมันกลับขึ้นมาอีกครั้ง ปัจจัยเงินเฟ้อ และการคาดการณ์ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตอันสั้น เป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นออกมาอย่างหนัก ทำให้ดัชนีไหลลงมาทำจุดต่ำสุดของเดือนและของไตรมาสที่ 742.46 จุด ก่อนที่ดัชนีจะดีดกลับในระยะสั้น มาปิดไตรมาสที่ 768.59 จุด ลดลง 7.80% จากเดือนก่อนหน้า

แนวโน้มตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาส 3
ถึงแม้ว่าในช่วงเดือนสุดท้ายของไตรมาสที่สอง ตลาดหลักทรัพย์ไทย ต้องเผชิญกับแรงเทขายอย่างหนักจากนักลงทุนต่างชาติ โดยมีปัจจัยหลักจากความตึงเครียดทางการเมืองและตัวเลขเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มว่าจะอ่อนแรงลงจากปัจจัยเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น เราเชื่อว่าผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวได้รับรู้ไปในราคาเป็นบางส่วนแล้ว แต่กระนั้น ก็ใช่ว่าดัชนีจะสามารถปรับตัวขึ้นแรงได้ในเร็ววัน

ทั้งนี้ เนื่องมาจากว่า ในไตรมาสที่ 3 เศรษฐกิจโลกยังต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นทั้งจากราคาอาหารและราคาน้ำมัน เศรษฐกิจอเมริกายังคงมีปัญหาต่อเนื่องจากซับไพร์ม (Subprime) ทำให้สถาบันการเงินหลายแห่งในสหรัฐอาจจะต้องการเงินเพิ่มทุนเพื่อจะรองรับการตั้งสำรองหนี้เสียที่เกิดขึ้นจากวิกฤตซับไพร์ม (Subprime) นอกจากนี้ ปัจจัยในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางการเมือง เงินเฟ้อ และการคาดการณ์ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับขึ้น policy rate ภายในอีกไม่นานนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นทั้งสิ้น

ถึงแม้ว่า ปัจจัยลบยังคงเห็นได้อยู่ในระยะสั้น เรายังคงมีมุมมองที่เป็นบวกกับตลาดหุ้นในระยะกลางและระยะยาวโดยเราเชื่อว่า ดัชนีตลาดที่ไหลรูดลงมา ณ ขณะนี้ นักลงทุนและนักวิเคราะห์ได้รับทราบถึงปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดในระยะอันใกล้ไปค่อนข้างมากแล้ว ซึ่งสะท้อนออกมาจากแรงเทขายจากนักลงทุนในช่วงเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่มียอดขายสุทธิกว่า 4 หมื่นล้านบาททำให้การถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติอยู่ในระดับเกือบต่ำสุดในรอบ 30 เดือน รวมทั้งการปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียนโดยนักวิเคราะห์ต่างๆ ดังนั้น หากมีปัจจัยบวกเข้ามาเมื่อไหร่ นั่นย่อมจะเป็นจุดเปลี่ยนให้ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นได้

โดยปัจจัยบวกที่เราเชื่อว่าจะได้เห็นในระยะกลาง เช่น แรงเทขายจากนักลงทุนต่างชาติที่จะค่อยๆชะลอตัวลง การประกาศตัวเลขเศรษฐกิจ และการประกาศกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ การปรับตัวลดลงของตัวเลขเงินเฟ้อซึ่งอาจจะได้เห็นในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ

ดังนั้น ที่ระดับดัชนีที่ 760 จุด หากเมื่อเทียบความเสี่ยงกับผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับในอนาคต เรามองว่าที่ระดับนี้เป็นจุดที่น่าเข้าไปลงทุนโดยเลือกซื้อหุ้นขนาดใหญ่ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี เนื่องจากว่า ณ ปัจจุบัน หุ้นเหล่านี้ได้ถูกเทขายออกมามากแล้ว หากดัชนีจะปรับตัวขึ้น หุ้นเหล่านี้น่าจะเป็นตัวนำตลาด เรายังคงตั้งเป้าหมาย SET index สำหรับปีนี้ไว้ที่ 900 จุดเช่นเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น