xs
xsm
sm
md
lg

Q&A corner : เครดิตลิงค์โน๊ตVSสตรักเจอร์โน๊ต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำถาม - ขอรบกวนสอบถามหน่อยเถิดว่า ระหว่าง เครดิตลิงค์โน๊ต และ สตรักเจอร์โน๊ต1.คืออะไร ขอช่วยอธิบายอย่างชัด ๆ2.ข้อแตกต่าง คืออะไร 3.ที่กองทุนชอบไปลงทุนกัน ทั้ง 2 อย่าง มีผลอย่างไรบ้าง อย่างไหนมีข้อดีกว่าและ อย่างไหนมีข้อเสียมากกว่า อย่างไหนมีความเสี่ยงกว่า อย่างไหนให้ผลตอบแทนดีกว่า ในรูปแบบใด ผลตอบแทนมาจากไหน เกี่ยวข้องกับ สัญญา FUTURE หรือ OPTION หรือไม่อย่างไร ช่วยตอบคำถามให้หายสงสัยด้วยนะครับ ขอบคุณมากครับ ชยพล ประเสริฐกมลชัย

ตอบ - ทางทีมงาน ได้ให้ทางบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี เป็นผู้ตอบคำถามของคุณ ชยพลนะครับ Structured Note หมายถึง ตราสารที่ผลตอบแทนอ้างอิงอยู่กับตัวแปรบางตัว ไม่ได้กำหนดดอกเบี้ยเป็นอัตราคงที่เหมือนตราสารหนี้ธรรมดาทั่วไป สำหรับในประเทศไทย ส่วนใหญ่แล้วมักเป็นการลงทุนใน Structured Note ที่คู่สัญญาจะจ่ายเงินต้นเต็มจำนวนเมื่อครบกำหนด ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงมีความเสี่ยงเฉพาะส่วนผลตอบแทนเพิ่มเติมเท่านั้น

Credit Linked Note เป็น Structured Note ชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่ที่ลงทุนกันนั้น เป็นตราสารที่ออกโดยสถาบันการเงิน โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าผู้ออกตราสารหนี้ที่อ้างอิงสามารถชำระหนี้ตามภาระผูกพันได้ ผู้ลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันไว้ แต่หากผู้ออกตราสารหนี้ที่อ้างอิงไม่สามารถชำระหนี้ตามภาระผูกพันได้ Credit Linked Note ก็จะถูกหักค่าความเสียหายเท่ากับมูลค่าที่ลดลงของตราสารหนี้อ้างอิง

การลงทุนใน Credit Linked Note นี้ มีลักษณะคล้ายกับการลงทุนในตราสารหนี้ที่อ้างอิงโดยตรง แต่ให้ผู้ออก Credit Linked Note เป็นผู้ถือครองตราสารหนี้ที่อ้างอิงแทนผู้ลงทุนโดยผู้ลงทุนเป็นผู้รับความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของตราสารหนี้ที่อ้างอิง ที่ต้องทำเช่นนี้ เนื่องจากผู้ลงทุนอาจไม่ต้องการลงทุนในตราสารหนี้ที่อ้างอิงโดยตรง ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น อายุตราสารหนี้ที่อ้างอิงยาวกว่าระยะเวลาการลงทุนที่ต้องการ ตราสารหนี้ที่อ้างอิงมีสภาพคล่องน้อย หรือผู้ลงทุนมีข้อจำกัดทางกฎหมายในการถือครองตราสารหนี้ที่อ้างอิง เป็นต้น ดังนั้น การลงทุนผ่าน Credit Linked Note จึงมีความสะดวกกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ที่อ้างอิงโดยตรง

อย่างไรก็ตาม Credit Linked Note นี้ยังมีความเสี่ยงด้านอื่นๆอีก เปรียบเทียบความเสี่ยงของทั้ง 2 ชนิด คือ 1.ความเสี่ยงที่เหมือนกัน มีความเสี่ยง Credit Risk ของผู้ออกตราสาร คือการที่ผู้ออกตราสารอาจไม่สามารถปฏิบัติตามภาระผูกพันได้ 2.ความเสี่ยงที่แตกต่างกัน Structured Note มีความเสี่ยงที่ตัวแปนอ้างอิงอาจขึ้นลงจนทำให้ไม่ได้รับผลตอบแทนได้

Credit Linked Note มีประเด็นความเสี่ยงหลักดังนี้ 1. ผู้ออกตราสารหนี้ที่อ้างอิงไม่สามารถชำระหนี้ตามภาระผูกพันได้ ซึ่งหมายถึงไม่สามารถชำระหนี้ที่ถึงกำหนดชำระได้ ปฏิเสธการชำระหนี้ หรือเลื่อนกำหนดชำระหนี้ ตามภาระผูกพันบางส่วนหรือทั้งหมด มีการปรับโครงสร้างหนี้เเละมีการชำระหนี้คืนก่อนกำหนด

2. มีการควบคุมการแลกเปลี่ยนหรือนำเงินออกนอกประเทศ ทำให้ผู้ออกตราสารไม่สามารถแลกเปลี่ยนเงินที่ได้จากการขายหรือรับชำระหนี้จากตราสารที่อ้างอิง เพื่อนำเงินออกนอกประเทศผู้ออกตราสารหนี้ที่อ้างอิงได้ตามปกติ ทั้งโดยนิตินัยหรือพฤตินัย เช่น การห้ามนำเงินตราต่างประเทศออกจากประเทศ การตั้งสำรองการนำเงินทุนออกจากประเทศ เป็นต้น

3. ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงในภาระภาษีหรือการปรับลดจำนวนเงินที่เกี่ยวกับตราสารหนี้ที่อ้างอิง ซึ่งมีผลกระทบทางลบต่อผู้ออกตราสาร ผู้ออกตราสารสามารถปรับลดเงินต้นหรือดอกเบี้ยที่ผู้ออกจะจ่ายให้แก่กองทุนตามผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ เช่น ปัจจุบันดอกเบี้ยพันธบัตรมีภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% ถ้าต่อมามีการเพิ่มภาษีนี้เป็น 20% ผู้ออกตราสารก็จะลดจำนวนเงินที่จะจ่ายให้กองทุนตามผลที่เกิดขึ้น เป็นต้น

4. Hedging Disruption ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบหรือการเปลี่ยนแปลงอื่นใด ที่ทำให้ผู้ออกตราสารไม่สามารถถือครองหรือซื้อขายตราสารอ้างอิงได้ ผู้ออกตราสารสามารถไถ่ถอนตราสารก่อนกำหนด ทั้งนี้ ในกรณีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องภาษีหรือกฎระเบียบ ผู้ออกตราสารก็สามารถไถ่ถอนตราสารก่อนกำหนดได้เช่นกัน

สรุปสำหรับการลงทุนใน Credit Linked Note ผู้ลงทุนอาจสูญเสีบเงินต้นได้หากผู้ออกตราสารหนี้ที่อ้างอิงไม่สามารถชำระหนี้ตามภาระผูกพันได้

สำหรับการลงทุนใน Structured Note อื่นๆ แม้ว่าตัวแปรอ้างอิงจะเปลี่ยนแปลงจนไม่ได้รับผลตอบแทนเพิ่มเติมแต่ผู้ลงทุนก็ยังได้รับเงินต้นคืนเต็มจำนวน อย่างไรก็ตามการลงทุนในทั้ง 2 ตราสาร หากผู้ออกตราสารไม่สามารถชำระหนี้ตามภาระผูกพันได้ ผู้ลงทุนก็อาจไม่ได้รับเงินต้นและผลตอบแทนตามที่ตกลงไว้

ท่านผู้อ่านท่านใดที่มีข้อสงสัยเรื่องกองทุนรวม สามารถส่งคำถามมาได้ที่ fund@manager.co.th หรือโพสต์ข้อความไว้ที่หน้า กองทุนรวม www.manager.co.th ทางเรายินดีที่จะตอบคำถามและหาคำตอบดีๆจากบลจ.ต่างๆให้ครับ ต้องขอบคุณบลจ.ยูโอบี มาณ ที่นี้ด้วยนะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น