xs
xsm
sm
md
lg

กบข.ปรับพอร์ตรับน้ำมัน-เงินเฟ้อพุ่ง ถือบอนด์ระยะสั้น-ลงทุนอินฟาสตรักเจอร์ตปท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กบข. ปรับแผนการลงทุนรับมือเศรษฐกิจโลกถดถอย จากภาวะราคาน้ำมันและเงินเฟ้อพุ่งสูงต่อเนื่อง ล่าสุด เตรียมลดการถือครองพันธบัตรระยะยาว หันมาถือครองพันธบัตรที่มีอายุสั้นมากขึ้น พร้อมทั้งกระจายการลงทุนไปยังหลักทรัพย์ประเภทนิติบุคคลเอกชนต่างประเทศ โดยเฉพาะกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เน้นสร้างผลตอบแทนสัมพันธ์กับอัตราเงินเฟ้อ

นายวิสิฐ ตันติสุนทร
นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาคณะกรรมการลงทุนของ กบข. ได้มีการติดตามสถานการณ์การลงทุนทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปีนี้คาดว่าจะมีการชะลอลงค่อนข้างมาก โดยในปี 2551 เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัว 3.8% ซึ่งชะลอลงจากการขยายตัว 5.0% ในปี 2550 เป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐสืบเนื่องจากสินเชื่อด้อยคุณภาพ และปัญหาสถาบันการเงิน ส่งผลให้นักลงทุนหันไปลงทุนในตราสารอื่นๆ มากขึ้น รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity)

ทั้งนี้ การที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศต่างปรับตัวสูงเป็นประวัติการณ์จากปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้น ขณะที่ล่าสุดตัวเลขเงินเฟ้อที่กระทรวงพาณิชย์รายงานเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาสูงถึง 7.6% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงสุดตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2541 และมีแนวโน้มว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีนี้จะอยู่ในระดับสูงกว่า 7-8% ขณะที่ปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา และมีการประเมินว่าในช่วง 1-2 เดือนนี้ ราคาน้ำมันในตลาดโลกอาจปรับตัวสูงถึง 150 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งทำให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจ ค่าครองชีพและรายจ่ายภาคครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้น และเป็นแรงกดดันให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นอีก

โดยจากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลให้ธนาคารกลางหลายประเทศ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งสัญญาณปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดแรงกดดันปัญหาเงินเฟ้อ โดยล่าสุดในส่วนของธนาคารพาณิชย์เองก็ได้มีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินฝาก เพื่อรองรับการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้กลยุทธ์การลงทุนในตราสารหนี้หรือพันธบัตรของ กบข.จำเป็นต้องมีการลดการถือครองพันธบัตรระยะยาว และหันมาถือครองพันธบัตรที่มีอายุสั้น เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับพอร์ตการลงทุน ในขณะที่ในครึ่งปีหลัง กบข.จะกระจายการลงทุนไปยังหลักทรัพย์ประเภทนิติบุคคลเอกชนต่างประเทศ โดยเฉพาะกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟาสตรักเจอร์ฟันด์) ที่ให้ผลตอบแทนสัมพันธ์กับอัตราเงินเฟ้อ

"การลงทุนในปีนี้เผชิญกับความผันผวนค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามจากการกระจายความเสี่ยงโดยการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความหลากหลาย และการติดตามสถานการณ์ลงทุนอย่างใกล้ชิดของคณะกรรมการการลงทุนของ กบข. ทำให้สามารถปรับนโยบายการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และลดความเสี่ยงการลงทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนการลงทุนระยะยาวให้สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ตามเป้าหมายให้กับสมาชิกที่ออมเพื่อวัยเกษียณ"นายวิสิฐกล่าว

ก่อนหน้านี้ นายวิสิฐกล่าวว่า แนวทางการลงทุน กบข. จะมีการกระจายความเสี่ยงการลงทุนในหลายๆหลักทรัพย์ โดยจะพิจารณาการลงทุนในหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยในปัจจุบัน กบข.ได้เริ่มศึกษาพิจารณาการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ซึ่งเป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทนสูง ในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ นอกจากนี้ ยังเป็นตลาดที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยของประเทศที่พัฒนาแล้วเช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนของ กบข. ในช่วง 2-3 เดือนนี้ จะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ พร้อมลดน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ลง และมองหาลู่ทางการลงทุนใหม่ๆ อย่างเช่น กองทุนที่ลงทุนในนิติบุคคลเอกชนต่างประเทศ (Private Equity Fund) หรือลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ เพื่อกระจายการลงทุนให้หลากหลาย ทั้งนี้ การลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ กบข. มีนโยบายการลงทุนเพิ่มเติม โดยจะเพิ่มสัดส่วนอีก 3% คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการลงทุนเพิ่มเป็น 12% เนื่องจากทิศทางตลาดหุ้นในต่างประเทศมีความผันผวนลดลง

ส่วนตลาดหุ้นไทย กบข.มองว่ายังคงมีความน่าสนใจ เนื่องจากราคาหุ้นยังคงอยู่ในระดับต่ำ และปรับลดลงน้อยกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสที่จะปรับเพิ่มขึ้น หลังจากปัจจัยลบต่างๆ ภายในประเทศเริ่มคลี่คลาย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของปัจจัยภายนอกประเทศยังคงเป็นตัวแปรหลักที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบันสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังคงน้ำหนักไว้ที่ระดับ 11.5% เนื่องจากมองว่าเป็นสัดส่วนที่เหมาะสม และความเสี่ยงในตลาดยอมรับได้ รวมทั้งผลตอบแทนที่ได้รับคุ้มค่าเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อ
กำลังโหลดความคิดเห็น