xs
xsm
sm
md
lg

ยกBECLกรณีศึกษาความเสี่ยงรัฐ ค่าผ่านทางไม่ขึ้นฉุดกองทุนตปท.ถอยหนี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการกองทุนยก “ทางด่วนกรุงเทพ”เป็นกรณีตัวอย่างความเสี่ยงจากภาครัฐ ต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน หากไม่สามารถขึ้นราคาค่าผ่านทางตามที่ตกลงไว้ในสัญญาได้ โบรกเกอร์มองรายได้อาจหายไป 1.6 ล้านบาทต่อวัน จับตา กองทุนประกันสังคม - กองทุนไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาวปันผล 70/30 และกองทุนเปิด บัวหลวงหุ้นระยะยาว จะปรับพอร์ตตามกองทุนต่างชาติที่ลดน้ำหนักหลัง MSCIถอดหุ้นออกจากคำนวณหรือไม่

บทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นถึงหุ้นบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL ว่าราคาหุ้น BECL ลดลงอย่างแรงในช่วงที่ผ่านมา จากความกังวลว่า BECL จะไม่ได้ปรับขึ้นค่าผ่านทาง และการถูกถอดออกจากดัชนี MSCI ทำให้กองทุนต่างประเทศปรับพอร์ตการลงทุนในหุ้นดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม บล.กิมเอ็ง เชื่อว่าในที่สุดแล้ว BECL จะสามารถปรับขึ้นค่าผ่านทางได้ตามสัญญา เพราะหากคิดตามอัตราเงินเฟ้อแล้ว ค่าผ่านทางจะต้องปรับขึ้นเป็น 47.50 บาท เมื่อปัดเศษลงจะเท่ากับ 45.00 บาท เว้นเสียแต่ว่าทางรัฐบาลจะขอความร่วมมือให้เลื่อนการปรับขึ้นค่าผ่านทางออกไป ซึ่งจะทำให้ BECL สูญเสียรายได้ประมาณ 1.6 ล้านบาทต่อวัน (ส่วนแบ่งรายได้ของ BECL เท่ากับ 50%)
 
ทั้งนี้ หาก BECL ต้องเลื่อนการปรับขึ้นค่าผ่านทางออกไป 6 เดือน (ซึ่งน่าจะเป็นกรณีเลวร้ายที่สุด) จะทำให้บริษัทสูญเสียรายได้ 287 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 0.37 บาทต่อหุ้นเท่านั้น ทั้งนี้หาก BECL ต้องเลื่อนการปรับขึ้นค่าผ่านทาง จะทำให้ยอดการใช้ทางไม่ลดลงมากอย่างที่คาด โดยปัจจุบันคาดว่ายอดการใช้ทางปีนี้จะลดลง 4.8%

นอกจากนี้ BECL จะบันทึกกำไรจากการขายหุ้น TTW จำนวน 29 ล้านบาทในไตรมาส 2/51 โดย BECL ขายหุ้น TTW ในการทำ IPO ในไตรมาส 2/51 จำนวน 37.5 ล้านหุ้น ซึ่งราคา IPO ของ TTW อยู่ที่ 4.2 บาท เนื่องจากต้นทุนเฉลี่ยของ TTW ที่ BECL ถือเท่ากับ 3.08 บาทต่อหุ้น ดังนั้น BECL จะบันทึกกำไร 29 ล้านบาทหลังหักภาษี

ขณะเดียวกัน หลังจากที่สถานการณ์ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นชัดเจน ทำให้เชื่อว่า BECL จะออกหุ้นกู้อีก 7.5 พันล้านบาทในไตรมาส 4/51 เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย โดยการออกหุ้นกู้เพื่อชำระคืนหนี้เดิม จะทำให้ BECL ต้องจ่ายค่าปรับในการคืนหนี้ก่อนกำหนดเป็นจำนวน 2% ของยอดเงินที่ชำระคืนก่อนกำหนด ซึ่งเท่ากับ 150 ล้านบาท จึงปรับลดประมาณการกำไรปี 2551 เป็น 1.29 พันล้านบาท หรือ 1.68 บาทต่อหุ้น

เนื่องจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเป็นขึ้น จึงปรับอัตราคิดลด (Discount rate) ในการประเมินราคาที่เหมาะสมของ BECL ขึ้นเป็น 9.4% และทำให้ราคาที่เหมาะสมปรับลดลงเป็น 22.20 บาท โดยเชื่อว่าราคาหุ้นปัจจุบันได้สะท้อนผลกระทบทางลบหมดแล้ว โดยมี P/BV ที่ต่ำเพียง 0.66 เท่า และมีอัตราเงินปันผลที่สูงถึง 5.8% สำหรับปี 2551 พร้อมปรับคำแนะนำเป็น "ซื้อ"

ผู้จัดการกองทุนรายหนึ่ง กล่าวถึงหุ้นBECL ว่า นี่ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างสำหรับกรณีที่โดนภาครัฐเข้ามาแทรกแซงการดำเนินงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานที่ควรจะมีการขยายตัวไปตามทิศทางของธุรกิจ ทั้งนี้เห็นได้จากอัตราสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน เป็นผลให้ประชาชนประสบปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่าย และค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้พยายามหามาตรการหรือนโยบายต่างๆออกมาช่วยเหลือ

ขณะเดียวกัน การเข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียน ย่อมสร้างผลกระทบต่อภาพรวมตลาดการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความรู้สึก และความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นสถานบัน หรือรายบุคคล จนเกิดการลดสัดส่วนการถือหลักทรัพย์ดังกล่าวลง หรืออาจปล่อยขายหุ้นดังกล่าวทั้งหมด
นอกจากนี้ กรณีดังกล่าว ยังเป็นเหมือนสิ่งสะท้อนถึง โครงการด้านระบบสาธารณูปโภคของภาครัฐในหลายๆโครงการที่มีแนวคิดจะให้สัมปทานแก่ภาคเอกชน หรือให้เอกชนเข้าไปร่วมลงทุน หรือเอกชนลงทุนเองทั้งหมดว่า หากเข้าทำสัญญาแล้วในอนาคตอาจเกิดปัญหาขึ้น โดยเฉพาะในปัญหาจากเรื่องรายได้-ผลตอบแทนที่ไม่สามารถปรับตัวขึ้นได้ตามที่ระบบไว้ในสัญญา

“เรื่องนี้ หากมองทั่วไปต่างชาติจะลดความเชื่อมั่นในหุ้น BECL ลดลง หลังจากMSCI ถอดหุ้นออก เพราะอาจถูกภาครัฐชะลอการปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทาง ซึ่งไม่เป็นไปตามทิศทางเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ นอกจากนี้แล้วยังสะท้อนถึงความไม่เหมาะสมหากจะมีบริษัทจัดการลงทุนรายใด จัดตั้งกองทุนที่ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในประเทศขึ้น เพราะจะต้องมีความเสี่ยงจากสัญญาของภาครัฐเกิดขึ้นในอนาคต แม้การลงทุนดังกล่าวจะได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว แต่ผลตอบแทนนั้นอาจไม่มีการเติบโต ซึ่งหากเปรียบเทียบกับระบบโครงสร้างพื้นฐานในต่างประเทศแล้ว ยังถือว่ามีความเสี่ยงที่น้อยกว่า รวมทั้งยังสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าอีกด้วย”แหล่งข่าวกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของตลาดหลักทัพย์ ณ วันที่ 31 มี.ค. 2551 พบว่านอกเหนือจาก บมจ.ช.การช่าง แล้ว ยังมีสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศหลายแห่งเข้าถือหุ้นร่วมอยู่ นอกจากนี้ยังพบกองทุนประกันสังคมเข้าถือหุ้นดังกล่าวอยู่ด้วยจำนวน 9,449,700 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 1.23% เช่นเดียวกับกองทุนเปิด ไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาวปันผล 70/30 ที่มี 5,788,400 หุ้น หรือ 0.75% และกองทุนเปิด บัวหลวงหุ้นระยะยาวที่มี 4,484,000 หุ้น หรือ0.58%

ก่อนหน้านี้ บริษัท มอร์แกน สแตนเลย์ แคปปิตอล อินเตอร์เนชั่นแนล (MSCI) ประกาศว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ได้เพิ่มหุ้นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวน 4 บริษัท ในการคำนวณดัชนี MSCI ซึ่งประกอบด้วย บริษัท ไทยออยล์ (TOP) ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC)

ขณะเดียวกัน MFCI ถอนชื่อบริษัทจดทะเบียนออก 9 บริษัท คือบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) บริษัท ผลิตไฟฟ้า (EGCO) บริษัท ฮานา ไมโคร อิเล็คโทรนิคส (HANA) บริษัท พรีเชียส ชิพปิ้ง (PSL) บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง (SCCC) บริษัท สยามแม็คโคร (MAKRO) บริษัท การบินไทย (THAI) บริษัท ทุนธนชาต (TCAP) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) เพราะหุ้นที่ MFCI ถอนออกจากการคำนวณดัชนีปรับตัวลงแรงถ้วนหน้า ซึ่งสวนทางกับตลาดโดยรวมที่ดีขึ้น เพราะนักลงทุนต่างชาติ และสถาบันในประเทศขายหุ้นเหล่านี้ออกเพื่อปรับพอร์ตให้สอดคล้องกับดัชนี MSCI
กำลังโหลดความคิดเห็น