xs
xsm
sm
md
lg

ยกกลไกตลาดคุมโฆษณากองทุนก.ล.ต.เผยรับเรื่องร้องเรียนเข้ามาบ้างแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ก.ล.ต.วางใจผู้ประกอบการบลจ. ไม่โฆษณากองทุนรวมเกินจริง แม้จะออกประกาศผ่อนปรน ทุกกองทุนไม่ต้องยื่นให้สำนักงานพิจารณาก่อน ยกเว้นกองที่มีการระบุการจ่ายผลตอบแทนในอนาคต เหตุมีลูกค้าและการแข่งขันในธุรกิจเป็นกลไกคอยควบคุมอยู่แล้ว แจงผู้ลงทุนสามารถร้องเรียนได้หากถูกเอาหลอก พร้อมระบุที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาบ้างเป็นระยะ แต่ยังไม่ถึงขั้นรุนแรง


นายประเวช องอาจสิทธิกุล ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต. สนับสนุนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่ได้รับรางวัลต่างๆ สามารถนำมาโฆษณาได้อยู่แล้ว รวมถึงสนับสนุนการจัดจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (เรตติ้ง) ด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดี ที่สามารถสรางความเชื่อมั่นให้ผู้ลงทุนที่มีต่อบริษัทนั้นๆ ได้ แต่กระแสข่าวที่ออกมาในช่วงที่ผ่านมา เป็นความเข้าใจที่สับสนกันมากกว่า ซึ่งแท้จริงแล้ว เป็นเรื่องของการกำกับดูแลในส่วนของหลักเกณฑ์ของสมาคมบริษัทจัดการลงทุนมากกว่า โดยในส่วนของสำนักงานก.ล.ต. เองไม่ได้ห้ามแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการโฆษณากองทุนรวม หากจะออกเสนอต่อประชาชนจะต้องผ่านการพิจารณาจากสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อตรวจสอบก่อน โดยเฉพาะโฆษณากองทุนที่มีการระบุการจ่ายผลตอบแทนในอนาคต นอกเหนือจากนั้น สามารถกระทำได้โดยบริษัทหลักทรัพย์ไม่ต้องขอความเห็นชอบจากสำนักงานก่อน แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานด้วย

"ก่อนหน้านี้ มีจำนวนกองทุนที่ส่งมาให้สำนักงานพิจารณาเป็นจำนวนมากกว่า 500 กองทุน ซึ่งหากจะต้องตรวจสอบเพื่ออนุมัติทั้งหมดคงเป็นเรื่องที่ยาก ดังนั้นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เราจึงได้มีการออกกฎเกณฑ์ในเรื่องของการโฆษณาชวนเชื่อที่เกินความเป็นจริง ก็จะมีการลงโทษดังกล่าว"นายประเวชกล่าว

ทั้งนี้ กฎที่ออกมาไม่ได้ไปบังคับแต่ บลจ.นั้นๆ ต้องมีการตรวจสอบก่อนที่จะมีโฆษณาออกมา ซึ่งสำนักงานเองไม่ได้ห้ามไม่ให้โฆษณา แต่ก็มีหลาย บลจ.ที่มาให้เราตรวจสอบก่อน จริงๆ แล้วเราให้สมาคม บลจ. กำกับดูแลกันเองมากกว่า แต่ปัจจุบันก็ดีอย่าง เพราะมีคนช่วยกันตรวจสอบเพราะมีลูกค้าร้องเรียนเข้ามาหาเรา หรือบางครั้งการที่ธุรกิจแข่งกัน ถ้าอีกฝ่ายทำอะไรไม่ดีก็จะมีการร้องเรียนเข้ามาให้เราไปตรวจสอบเอง

อย่างไรก็ตาม การโฆษณาที่เกินจริงก่อนที่จะเปิดเสนอขายกองทุน ไม่ว่าจะเป็นการบอกผลตอบแทนผ่านสื่อ หรือมีเอกสารแจกให้กับผู้ลงทุน สามารถนำมาร้องเรียนให้กับ ก.ล.ต. ได้ ซึ่งธุรกิจกองทุนรวมนักลงทุนสามารถติดต่อกับผู้ขายกองทุนนั้นได้โดยตรง เพราะฉะนั้นเมื่อทำอะไรที่ไม่ถูกต้องจะมีคนมาร้องเรียน โดยในเบื้องต้น ก.ล.ต. จะแจ้งเตือนให้ บลจ. นั้นทราบก่อน หากกระทำผิดซ้ำอีก ก็จะลงโทษโดยให้บลจ.นั้น ต้องส่งโฆษณาของกองทุนมาให้สำนักงานพิจารณาทั้งหมด

"ที่ผ่านมาก็มีผู้ลงทุนร้องเรียงเข้ามาเป็นระยะๆ ซึ่งมีทั้งเรื่องของผลตอบแทนด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีเรื่องร้องเรียนใดที่รุนแรงหรือต้องลงโทษทางกฎหมาย"นายประเวชกล่าว

ก่อนหน้านี้ สำนักงานก.ล.ต. ได้ออกประกาศ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการโฆษณาเพื่อส่งเสริมการขายหน่วยลงทุนและการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกองทุน โดยมีเนื้อหาสำคัญอยู่ที่การปรับปรุงให้การโฆษณา สามารถกระทำได้โดยบริษัทหลักทรัพย์ไม่ต้องขอความเห็นชอบจากสำนักงานก่อนการโฆษณา เว้นแต่การโฆษณาที่เกี่ยวกับประมาณการผลตอบแทนในอนาคตต้องขอความเห็นชอบจากสำนักงานก่อน จากเดิมที่ต้องยื่นให้สำนักงานพิจารณาทั้งหมด โดยประกาศดังกล่าว ได้ขยายขอบเขตการกำกับดูแลให้ครอบคลุมถึงการโฆษณาของตัวแทนขายหน่วยลงทุน (LBDU) ให้ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามประกาศนี้ด้วย

ทั้งนี้ ในการโฆษณา บริษัทต้องตระหนักถึงความถูกต้องและความเหมาะสมของข้อมูลที่ใช้ในโฆษณาไม่ให้เป็นเท็จ เกินความจริง หรือก่อให้เกิดความเข้าใจผิด รวมทั้งต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดอื่น ๆ เช่น การระบุคำเตือน การโฆษณาระหว่างการพิจารณาคำขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม หรือการโฆษณาที่มีข้อความที่คัดลอกหรืออ้างอิงจากบทความอื่น เป็นต้น

โดยสำนักงาน ได้กำหนดบทลงโทษเชิง administrative sanction เอาไว้ว่า หากบริษัทหลักทรัพย์ไม่ปฏิบัติตามประกาศโฆษณา สำนักงานจะใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาลงโทษบริษัทหลักทรัพย์ทางอาญา หรือทาง administrative sanction ซึ่งตัวอย่างการลงโทษในกรณีหลังนี้ ได้แก่ การสั่งให้หยุดการโฆษณา การกำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์ต้องขอความเห็นชอบ การโฆษณาครั้งต่อ ๆ ไปภายในระยะเวลาที่กำหนด เป็นต้น

ทั้งนี้ การประมาณการผลตอบแทนในอนาคตนั้น ได้กำหนดเงื่อนไขเอาไว้ 2 รูปแบบ คือ การระบุตัวเลขผลตอบแทนที่แน่นอน และระบุอัตรารับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามคำสั่งล่วงหน้าซึ่งระบุเวลาที่แน่นอน (auto redemption) ที่บริษัทจัดการมีเจตนาจ่ายคืนผู้ถือหน่วยลงทุนจากผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุน โดยการประมาณการผลตอบแทนในอนาคตต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสมเหตุสมผลตามหลักวิชาการ โดยข้อมูลที่นำมาใช้ในการประมาณการดังกล่าวต้องเป็นข้อมูลล่าสุดและเป็นที่ยอมรับเป็นการทั่วไป

ขณะเดียวกัน การประมาณการผลตอบแทนข้างต้น สามารถกระทำได้สำหรับกองทุนรวมหรือกองทุนส่วนบุคคลที่พอร์ตการลงทุนไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดอายุโครงการหรือรอบการลงทุนเท่านั้น กล่าวคือ มีการถือทรัพย์สินที่ลงทุนตลอดอายุโครงการหรือรอบการลงทุน โดยต้องเปิดเผยรายละเอียด พอร์ตการลงทุน เช่น ประเภททรัพย์สินที่จะลงทุน สัดส่วนการลงทุน ระยะเวลาลงทุน ผลตอบแทนของทรัพย์สิน ที่จะลงทุน และค่าใช้จ่าย เป็นต้น ไว้ในโฆษณา รวมทั้งในโครงการและหนังสือชี้ชวนหรือในสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลการลงทุนได้

อย่างไรก็ตาม การประมาณการผลตอบแทนซึ่งยังไม่เกิดขึ้นจริง มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้ผลตอบแทนตามที่ระบุไว้ หากสภาวการณ์เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น เพื่อให้ผู้ลงทุนตระหนักว่าบริษัทหลักทรัพย์มิได้รับประกันผลตอบแทนแต่อย่างใด จึงต้องจัดให้มีคำเตือนเพื่อให้ผู้ลงทุนรับทราบว่าผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับผลตอบแทนหรืออัตรารับซื้อคืนหน่วยลงทุน แล้วแต่กรณี ตามที่โฆษณาไว้ โดยบริษัทจัดการต้องเป็นผู้จัดทำข้อมูลประกอบการประมาณการผลตอบแทนเพื่อขอความเห็นชอบต่อสำนักงานก่อนการโฆษณาเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น