xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึกเศรษฐกิจ...ค้นหุ้นเด่นครึ่งปีหลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เชื่อว่าหลายคนคงจะเคยได้ยินคำว่า "ยุคข้าวยากหมากแพง" เป็นอย่างดี...ผ่านมาถึงวันนี้ 10 ปีกว่าแล้ว คำพูดนี้กลับมาให้เราได้ยินได้ฟังกันอีกครั้ง แม้สถานการณ์ปัจจุบันจะไม่เลวร้ายอย่างครั้งก่อน แต่หลายคนก็ยังกังวล เพราะไม่ว่าจะจับจ่ายใช้สอยอะไร ราคาก็แพงไปหมด ควักกระเป๋าทีคิดแล้วคิดอีก

แต่หากมองในอีกแง่มุมหนึ่ง...ราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นมา ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศในทางบวกพอสมควร โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรที่เป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ ซึ่งจากราคาที่สูงขึ้นนี่เอง ทำให้นักวิเคราะห์เริ่มมั่นใจว่าปีนี้ เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ดีถึงระดับ 6 % แต่ปัจจัยที่น่ากังวลตอนนี้ คือ อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเรื่อยๆ มาถึงระดับ 6% กว่าๆ ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา...จากความกังวลทั้งหลายทั้งปวงนี้ หลายคนอยากรู้ว่า แล้วหลังจากนี้แนวโน้มจะเป็นอย่างไร "ผู้จัดการกองทุนรวม" มีข้อมูลดีๆ จากงานสัมมนาเรื่อง "เจาะลึกเศรษฐกิจ ค้นหุ้นเด่นครึ่งปีหลัง" ในงาน Money Expo 2008 ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

อมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แม้ภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีโอกาสที่จะผันผวนจากปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐ แต่สำหรับไทยแล้ว เชื่อว่าปีนี้เศรษฐกิจน่าจะยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นในไตรมาสแรกของปีนี้ สะท้อนว่าเศรษฐกิจไตรมาส 1 น่าจะขยายตัวได้ถึงระดับ 6% โดยได้อานิสงส์จากทั้งการผลิตพืชผลเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น การขยายตัวอุตสาหกรรมและการส่งออก ส่วนการบริโภคและการลงทุนในไตรมาสแรกเองก็ขยายตัวได้ดีเช่นเดียวกันกับการส่งออกที่แม้ว่าจะชะลอตัวลง แต่ปริมาณการส่งออก ยังคงขยายตัวได้ ขณะที่การนำเข้าที่ปรับเพิ่มขึ้น ก็สอดคล้องการลงทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเงินเฟ้อ สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับเศรษฐกิจปีนี้ เพราะในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาเร่งตัวเพิ่มขึ้นมาก โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ขยายตัวถึง 6.2% ส่งผ่านไปยังเงินเฟ้อพื้นฐานมากขึ้น เห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่ขยายตัวในไตรมาสแรกของปีนี้ถึง 2.1% จากไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้ประมาณการอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นไว้ในการประมาณการแล้ว ทำให้เชื่อว่า เศรษฐกิจยังน่าจะขยายตัวได้ในระดับที่คาดไว้ที่ 4.8-6%

"ถ้าดูจากฐานจีดีพีปีก่อนที่สูง น่าจะทำให้เศรษฐกิจโตได้ ประมาณ 5% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่ง กนง.ก็ต้องดูว่าเงินเฟ้อที่เร่งขึ้น มีผลต่อการบริโภคหรือไม่ ถ้าเห็นไม่เป็นผลกดดันรอบสองก็ไม่จำเป็นที่ กนง.ต้องขึ้นดอกเบี้ย แต่สุดท้ายแล้ว กนง.ก็ต้องพิจารณาจากทั้งราคาน้ำมัน สินค้าเกษตรและเศรษฐกิจโลกว่าอะไรมีน้ำหนักมากกว่ากัน"

สำหรับทิศทางแนวโน้มเงินเฟ้อในอนาคต มองว่าโอกาสที่ราคาน้ำมันจะปรับลดลงมาอยู่ในระดับต่ำมากนั้นก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจโลกหดตัวลงมาก แต่หากเศรษฐกิจโลกไม่ได้หดตัวลงอย่างรุนแรง ก็ไม่น่าจะทำให้ราคาน้ำมันปรับมาอยู่ในระดับต่ำได้มากนัก ซึ่งก็จะมีผลต่อสินค้าเกษตร ที่น่าจะมีราคาอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม หากราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับสูงไม่ได้เร่งตัวขึ้นก็ไม่น่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากนัก

อย่างไรก็ตาม ต้องรอให้สภาพัฒน์ประกาศตัวเลขการเติบโตของ GDP อย่างเป็นทางการ แต่ไตรมาส 1/51 เศรษฐกิจน่าจะขยายตัวได้ถึง 5.7% ซึ่งถือว่าดีกว่าไตรมาส 4/50 และมีทิศทางที่จะดีต่อเนื่องจากภาวะราคาสินค้าเกษตรที่ขยายตัว รวมทั้งเชื่อว่าจะมีการลงทุนของภาคธุรกิจจะเติบโต รวมถึงภาคการบริโภคของประชาชนก็จะเติบโตตามไปด้วย ส่วนปัจจัยการเมือง ก็หวังว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันมากนัก รวมทั้งปัจจัยภายนอก เช่น ราคาน้ำมัน น่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงและยังเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ ส่งผลต่อปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อ ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ ธปท.ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจไตรมาส 1 เติบโตได้ 6% เพราะความเชื่อมั่นของประชาชน นักลงทุน ภาคเอกชนดีขึ้น หลังจากรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ และมีการประกาศเรื่องการลงทุนขนาดใหญ่ ทำให้ทิศทางเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขยายตัวโตขึ้น โดยในไตรมาส 1 ปัญหาเรื่องเงินเฟ้อยังไม่รุนแรง อยู่ในอัตรา 4-5% จากนั้นไตรมาส 2 เดือนเม.ย.2551 เงินเฟ้อสูงขึ้นมาเป็น 6% ซึ่งเป็นไปตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีผลกระทบต่อการบริโภคอยู่บ้าง เพราะคนรู้สึกว่าต้องประหยัดขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะเร่งมาตรการต่อไป โดยการเพิ่มรายได้ ซึ่งถ้าสามารถทำควบคู่กับการดูแลเงินเฟ้อ และมาตรการประหยัดพลังงาน จะช่วยทำให้การเติบโตอยู่ในระดับที่คาดหวังได้ที่ 6% ซึ่งต้องอยู่บนพื้นฐานราคาน้ำมันที่ไม่เพิ่มขึ้นมากนัก ถึงแม้ว่าจะมีการคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบจะขึ้นไปถึง 200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ก็เชื่อว่าจะไม่ใช่ในปีนี้ 
 
ส่วนการดูแลเงินเฟ้อโดยใช้อัตราดอกเบี้ย จะต้องเป็นในกรณีเรื่องที่เกิดจากความต้องการสินค้ามาก ไม่ใช่ปัญหาของต้นทุน แต่เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นปัจจุบัน เกิดจากปัญหาของต้นทุน ไม่ใช่มาจากความต้องการสินค้า จึงไม่สามารถใช้อัตราดอกเบี้ยแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อในตอนนี้ได้ ซึ่งเรื่องนี้ ธปท.ดูแลอยู่แล้ว จากการหารือเบื้องต้นก็ยังไม่มีปัญหาเรื่องนี้

หุ้นกลุ่มบริการหนทางชนะเงินเฟ้อ

กวี ชูกิจเกษมผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย มองว่าอัตราการเติบโตของไทยน่าจะอยู่ระดับ 4.5-6% โดยเห็นว่าปีนี้ประเทศไทยได้รับผลดีจากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ประชาชนรากหญ้ามีเงินจะส่งผลต่อการใช้จ่ายภายในประเทศที่จะสูงขึ้น และมองว่าสินค้า commodity เช่น ทองคำ ยังมีผลตอบแทนที่ดี

"การที่ราคาสินค้าเกษตรปรับสูงขึ้นทำให้คนต่างจังหวัดรากหญ้ามีเงินสามารถใช้จ่ายตามที่ต้องการได้และเป็นการใช้จ่ายจริงซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมของประเทศแต่ภาวะน้ำมันก็ยังกดดันและมองว่าครึ่งปีหลังเศรษฐกิจของประเทศอาจจะไม่ดีเท่าครึ่งปีแรก"

ดังนั้น การลงทุนในตลาดหุ้นมองว่ายังน่าสนใจแต่ต้องเลือกหลักทรัพย์ที่จะต้องลงทุน เช่น หุ้นเกษตร TVO กลุ่มโรงพยาบาล โรงแรม และสื่อสาร ส่วนหุ้นที่ควรหลีกเลี่ยง คือ แบงก์ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ และหากแบงก์ชาติจะปรับขึ้นดอกเบี้ย หุ้นแบงก์ก็จะได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้น

อาภาพร แสวงพรรค ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส(ประเทศไทย) กล่าวว่า ทางดีบีเอสฯ ก็ยังคาดว่าประเทศไทยยังมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 4-5% แต่ไม่ใช่ภาวะกระทิง แม้ว่าจะเร่งเบิกจ่ายเพื่อกระตุ้นการบริโภคและมีปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งด้านอสังหาริมทรัพย์และเมกะโปรเจกต์ แต่ก็ไม่ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตมาก เนื่องจากยังมีความกังวลในแง่ของการเมืองที่ยังไม่มีความชัดเจน รวมทั้งปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อและราคาน้ำมัน

แต่ตลาดหุ้นไทยยังมีความน่าสนใจในการลงทุนในหลายกลุ่ม โดยกลุ่มที่น่าสนใจ เช่น แบงก์ สื่อสาร โรงพยาบาล ที่อยู่อาศัย ที่ได้รับผลดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
กำลังโหลดความคิดเห็น