xs
xsm
sm
md
lg

โพรวิเดนฟันด์Q1โตหมื่นล้าน ทิสโก้ตั้งเป้าโตเกินอุตสาหกรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไตรมาสแรก ปี 51 อุตสาหกรรมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโตกว่า 11,475.42 ล้านบาท จำนวนเงินทั้งระบบเพิ่มเป็น 4.53 แสนล้านบาท จากปลายปีก่อนที่มีจำนวนเงินกองทุนเพียง 4.41 แสนล้านบาท ด้าน "บลจ.ทิสโก้" รั้งแชมป์จำนวนเงินสูงสุดประจำเดือนมีนาคม ผู้บริหารระบุเหตุ เม็ดเงินลูกค้าเก่า - ลูกค้าใหม่ - กำไรจากการลงทุน ตั้งเป้าปีหนูจำนวนเงินกองทุนของบริษัทโตเกินอุตสาหกรรม

รายงานข่าวจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยถึงจำนวนเงินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) ทั้งระบบ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2551 ว่า ทั้งระบบมีจำนวนเงินกองทุนรวมทั้งสิ้น 453,195.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2550 ที่ทั้งระบบมีจำนวนเงินกองทุน 441,720.26 ล้านบาท กว่า 11,475.42 ล้านบาท หรือ 2.60%

โดย 10 บริษัทจัดการที่มีจำนวนเงินกองทุน ณ สิ้นเดือน มีนาคม 2551 สูงที่สุด ได้แก่ อันดับ 1 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ จำกัด มีจำนวนเงินกองทุน ณ สิ้นไตรมาส 1 จำนวน 64,394.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,668.37 ล้านบาท หรือ 2.66% จากสิ้นปี 2550 ที่มีจำนวนเงินกองทุน 62,725.88 ล้านบาท , อันดับ 2 บลจ. กรุงไทย สิ้นเดือนมีนาคม มีจำนวนเงินกองทุน 62,747.57 ล้านบาท ลดลง 8,626.24 ล้านบาท หรือ 12.09% จากสิ้นปีที่มีจำนวนเงินกองทุน 71,373.81 ล้านบาท

อันดับ 3 บลจ. เอ็มเอฟซี มีจำนวนเงินกองทุนเมื่อสิ้นเดือนมีนาคม 54,008.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,266.29 ล้านบาท หรือ 4.38% จากสิ้นเดือนมีนาคม 2550 ที่มีจำนวนเงินกองทุน 51,742.13 ล้านบาท , อันดับ 4 บลจ. กสิกรไทย มีจำนวนเงินกองทุน ณ สิ้นไตรมาส 1 จำนวน 50,827.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,901.35 ล้านบาท หรือ 6.05% จากสิ้นปี 2550 ที่มีจำนวนเงินกองทุน 47,926.12 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน อันดับ 5 บลจ. ไทยพาณิชย์ สิ้นเดือนมีนาคม มีจำนวนเงินกองทุน 46,624.15 ล้านบาท ลดลง 5,115.53 ล้านบาท หรือ 9.89% จากสิ้นปีที่มีจำนวนเงินกองทุน 51,739.68 ล้านบาท , อันดับ 6 บลจ. ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) สิ้นเดือนมีนาคม มีจำนวนเงินกองทุน 41,934.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,385.21 ล้านบาท หรือ 14.73% จากสิ้นปีที่มีจำนวนเงินกองทุน 36,549.76 ล้านบาท

ส่วนอันดับ 7 คือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ซึ่งมีจำนวนเงินกองทุนสิ้นเดือนมีนาคม 2551 จำนวน 39,869.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17,645.70 ล้านบาท กว่า 79.40% จากสิ้นเดือนธันวาคม 2550 ที่มีจำนวนเงินกองทุน 22,224.21 ล้านบาท และ อันดับ 8 บลจ. ฟินันซ่า มีจำนวนเงินกองทุนเมื่อสิ้นเดือนมีนาคม 18,481.85 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 679.58 ล้านบาท หรือ 3.82% จากสิ้นเดือนมีนาคม 2550 ที่มีจำนวนเงินกองทุน 17,802.27 ล้านบาท

อันดับ 9 บลจ. บีที มีจำนวนเงินกองทุน ณ สิ้นไตรมาส 1 จำนวน 17,583.92 ล้านบาท ลดลง 4,813.79 ล้านบาท หรือ 21.49% จากสิ้นปี 2550 ที่มีจำนวนเงินกองทุน 22,397.71 ล้านบาท และอันดับ 10 บริษัท อเมริกันอินเตอร์เนชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด (AIA) ที่สิ้นเดือนมีนาคม มีจำนวนเงินกองทุน 16,109.19 ล้านบาท ลดลง 3,716.67 ล้านบาท หรือ 18.75% จากสิ้นปีที่มีจำนวนเงินกองทุน 19,825.86 ล้านบาท

นางสาวอารยา ธีระโกเมน รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า สำหรับในไตรมาสที่ผ่านมา สาเหตุที่บริษัทมีจำนวนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มสูงขึ้นจากปลายปีก่อน มาจาก 3 ส่วน ประกอบไปด้วย เม็ดเงินที่เพิ่มมาจากการลงทุนของกองทุน , เม็ดเงินลงทุนของกลุ่มลูกค้าเก่า และเม็ดเงินลงทุนของลูกค้าใหม่ โดยในส่วนของแผนงานในปี 2551 นั้น บริษัทตั้งเป้าหมายว่าบริษัทจะพยายามให้เม็ดเงินลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทเพิ่มมากขึ้นกว่าระดับของอุตสาหกรรมที่คาดว่าในปีนี้น่าจะขยายตัวประมาณ 15-20%

"สำหรับในปี 2550 และไตรมาสที่ผ่านมา ลูกค้าก็ยังคงพอใจกับการบริหารงานของบริษัท โดยส่วนของกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นนั้น แม้ว่าภาวะตลาดหุ้นโดยรวมจะให้ผลตอบแทนเป็นลบ แต่กองทุนยังสามารถบริหารกองทุนให้ผลตอบแทนเป็นบวกได้ ซึ่งเราคาดว่าจากผลตอบแทนที่ดีน่าจะมีส่วนช่วยการการเพิ่มลูกค้าใหม่หลังจากนี้ได้อย่างต่อเนื่อง" นางสาวอารยา กล่าว

อย่างไรก็ตามในส่วนของอุตสาหกรรมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คาดว่าน่าจะเติบโตอย่างคอยเป็นคอยไป มากกว่าการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เหมือนอุตสาหกรรมกองทุนรวม เนื่องมาจากการจัดตั้งกองทุนนั้นต้องมีการตัดสินใจจากหลายฝ่าย ประกอบกับมีการบริหารจัดการกองทุนที่ซับซ้อนมากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น