xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึก:สถานการณ์สินค้าเกษตรในAFET ราคาข้าว & ยางพารา = ยังน่าลงทุนหรือไม่?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากปัญหาสถานการณ์ความต้องการพืชผลทางเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาข้าว และน้ำตาล ณ ขณะนี้ เป็นปัจจัยที่หลายคนกำลังให้ความสนใจ ถึงภาวการณ์เคลื่อนไหว รวมถึงทิศทางของราคาพืชผลทางการเกษตรประเภทดังกล่าว จะเป็นไปในทิศทางใด

รายพิเศษ “ผู้จัดการกองทุน” ฉบับนี้ ได้มีข้อคิดเห็น และข้อมูลที่น่าสนใจมาฝากผู้ลงทุนอีกครั้ง ซึ่งเนื้อหาหรือข้อมูลดังกล่าวมาจากทีมงานของบริษัท “ ธนเกษตร” จำกัด ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ( AFET) ที่จะมาอธิบายถึงแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรในตลาดAFET รวมทั้งแนวโน้มและความเป็นไปได้จากการลงทุน สำหรับผู้สนใจ หรือชื่นชอลการลงทุนปเภทดังกล่าวอยู่ ณ ขณะนี้

ยางแผ่นรมควันชั้น 3

ราคายางแผ่นรมควันล่วงหน้าส่งมอบเดือนธันวาคมล่าสุดอยู่ที่ระดับ 89.10 บาท โดยราคาตลอดเดือนเมษายนที่ผ่านมาเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 86-90 บาทต่อกิโลกรัม การเคลื่อนไหวของราคายางตลอดเดือนเมษายนที่ผ่านมายังคงอยู่ในระดับที่สูง อันเนื่องมาจากปริมาณยางที่ออกสู่ตลาดยังคงมีอยู่อย่างจำกัดแต่ในขณะที่ความต้องการยังคงอยู่ในระดับปรกติ โดยแบ่งการวิเคราะห์ออกเป็นดังนี้

ยางออกสู่ตลาดอยู่ในระดับต่ำ

ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายนถือได้ว่าเป็นช่วงฤดูผลัดและเป็นฤดูแล้งของต้นยาง ทำให้เกิดการปิดกรีดของเกษตรกรชาวสวนยางและส่งผลถึงปริมาณยางธรรมชาติที่จะออกสู่ตลาด โดยภาพของปริมาณยางที่ออกสู่ตลาดน้อยสามารถดูได้จากปริมาณยางที่เข้าประมูลซื้อขายที่ตลาดกลางหาดใหญ่จากช่วงเดือนกุมภาพันธ์จะมีปริมาณยางเข้าตลาดอยู่ที่ระดับ 200-300 ตันต่อวันแต่เมื่อมาถึงช่วงเดือนเมษายนจะเหลืออยู่แค่ 20-50 ตันต่อวัน

 สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเปิดกรีดในช่วงเดือนพฤษภาคม

จากสภาพอากาศทางพื้นที่ภาคใต้ของไทยที่ทางกรมอุตุนิยมวิทยาของไทยได้แจ้งเตือนว่าจะมีปริมาณฝนตกหนักถึง 70% ของพื้นที่ภาคใต้ จากการที่ประเทศไทยได้เริ่มมีพายุไซโคล นาร์กีส แม้ว่าพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จะเป็นภาคเหนือและกลาง แต่ก็ส่งผลให้การกรีดน้ำยางสดของชาวสวนยางต้องลำบากมากขึ้น และทำให้ปริมาณผลผลิตยางในเดือนพฤษภาคมไม่น่าจะดีขึ้นกว่าเดือนเมษายนมากนัก
 
ความต้องการยางยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

เมื่อมองที่ความต้องการยางจะเห็นได้ว่าแม้ว่าผลประกอบการของผู้ผลิตยางรายใหญ่อย่าง Michelin ในไตรมาสแรกจะมีกำไรปรับลดลงแต่ก็เป็นเพียงแค่การปรับลดลงอันเนื่องมาจากราคาวัตถุดิบที่มีการปรับเพิ่มขึ้นสูง

แต่เมื่อพิจารณาที่ฐานการผลิตใหญ่ที่ประเทศจีน สต๊อกยางธรรมชาติของจีนได้ลดลงถึง 35% จากเมื่อต้นเดือนเมษายนที่จีนยังคงมียางอยู่ในสต็อกถึง 71,375 ตันแต่พอถึงสิ้นเดือนเมษายนกลับเหลือเพียง 46,110 ตัน ปริมาณสต็อกยางที่หายไปสะท้อนได้ถึงการบริโภคยางที่ยังคงอยู่ในระดับสูงของจีนได้เป็นอย่างดี

การบริโภคยางเริ่มชะลอตัวแต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูง

จากการที่ในช่วงปี 2548-2549 จีนได้มีการนำเข้ายางธรรมชาติเพิ่มจากเดิมถึง 2 เท่าแต่ในปัจจุบันการนำเข้าของปี 2550 กลับเพิ่มขึ้นเพียง 2.8% และจากที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้เริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ก็ได้ส่งให้อัตราการขยายตัวของการผลิตยางล้อรถยนต์เริ่มปรับตัวลดลง แต่ตัวเลขการส่งออกยางล้อรถยนต์ของจีนไปยังสหรัฐก็ยังปรับเพิ่มขึ้นในปี 2551 ส่งผลให้แม้ว่าอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงโดยรวมด้านการนำเข้าเป็นผลสะท้อนจากอุปสงค์ล้อยางที่ลดต่ำลงของตลาดในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ในกรณีของประเทศจีนนั้นเป็นผลมาจากการผลิตเพื่อใช้ทดแทน ทำให้การเติบโตด้านการนำเข้ายางธรรมชาติชะลอตัวลงทั้งๆที่ การผลิตล้อยางเพิ่มสูงขึ้น

ปัจจัยภายนอกเช่นราคาน้ำมันและค่าเงินเยนยังคงมีอิทธิพลต่อจิตวิทยาในการลงทุน

โดยราคาน้ำมันในปัจจุบันแม้ว่าจะยังไม่ได้ผ่าน 120 เหรียญต่อดอลลาร์ แต่ล่าสุดจากข่าวกองกำลังตุรกีบุกโจมตีฐานที่มั่นของกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนชาวเคิร์ดในอิรัก ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวได้จุดกระแสความวิตกกังวลต่อปริมาณน้ำมันในตลาดโลกขณะที่รายงานตัวเลขจ้างงานของสหรัฐที่ปรับตัวลดลงน้อยกว่า และน่าจะส่งผลให้เกิดแรงซื้อเก็งกำไรและทำให้ราคาน้ำมันพุ่งผ่าน 120 เหรียญต่อบาร์เรล
ทางด้านค่าเงินเยนก็เริ่มมีแนวโน้มที่จะกลับมาอ่อนค่าจนขึ้นมาที่ 105 เยนต่อดอลลาร์ จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐปรับลดดอกเบี้ยน้อยลงเกินคาดเพียง 0.25% และมาอยู่ที 2%

สรุปภาพรวมของสถานการณ์ยาง

คาดว่าราคายางในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าจะมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นไปยืนเหนือระดับ 90 บาทต่อกิโลกรัมในช่วงเดือนพฤษภาคม จากปริมาณยางที่ออกสู่ตลาดยังมีอยู่อย่างจำกัดในขณะที่ความต้องการยางและราคาน้ำมันรวมทั้งค่าเงินมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้น

ข้าวขาว 5%

ราคาข้าวขาว 5% ในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าส่งมอบเดือนมิถุนายน ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 27 บาทต่อกิโลกรัมโดยปรับลดลงจากเมื่อกลางเดือนเมษายนที่ระดับ 33.5 บาทต่อกิโลกรัม หรือราคาได้ปรับลดลงกว่า 6 บาทต่อกิโลกรัมภายในเวลาเพียงแค่ครึ่งเดือน

การปรับลดลงของราคาข้าว สาเหตุหลักน่าจะมาจากการลดความร้อนแรงของภาวะเก็งกำไรในราคาข้าวจากข่าวสารต่างๆที่ได้เริ่มเข้าสู่ตลาดดังนี้

ไทยไม่สามารถเข้าร่วมประมูลขายข้าวให้กับประเทศฟิลิปปินส์ได้

จากการที่ประเทศฟิลิปปินส์ ได้มีข้อกำหนดสำหรับผู้ที่จะเข้าร่วมประมูลขายข้าวให้กับทางฟิลิปปินส์ในเดือนพฤษภาคมกว่า 650,000 ตันว่าต้องเป็นรัฐวิสาหกิจหรือเป็นองค์กรในสังกัดของรัฐเท่านั้นที่จะสามารถยื่นซองประมูลได้ หรือถ้าจะเป็นเอกชนก็ต้องเป็นเอกชนที่ได้รับการรองรับจากการประกันโดยรัฐบาลของประเทศนั้น จากข้อกำหนดนี้ทำให้ประเทศไทยซึ่งส่วนใหญ่ผู้ส่งออกจะเป็นเอกชน และรัฐบาลไทยก็ไม่มีระเบียบในการรับประกันให้กับเอกชนไม่สามารถที่จะเข้าร่วมยืนซองประมูลได้ แต่ในขณะที่ประเทศเวียดนามซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกคู่แข่งสำคัญของไทย สามารถที่จะเข้าร่วมประมูลนี้ได้ เพราะบริษัทส่งออกข้าวส่วนใหญ่ของเวียดนามเป็นรัฐวิสาหกิจ แม้ว่าเวียดนามจะมีการจำกัดข้าวในการส่งออกไปจนถึงเดือนมิถุนายน แต่ก็เป็นแค่การจำกัดการส่งออกของเอกชนเท่านั้น จากเหตุดังกล่าวก็จะส่งให้ข้าวสารในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากข้าวนาปรังที่จะออกมาช่วงเดือน เมษายนถึงเดือนพฤษภาคม

ข้าวนาปรังเตรียมออกสู่ตลาดในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม
จากการคาดการณ์ว่า ข้าวนาปรังเตรียมที่จะออกตลาดในช่วงเดือนเมษายนเรื่อยไปจนถึงเดือนพฤษภาคมที่คาดว่าน่าจะมีปริมาณข้าวนาปรังออกสู่ตลาดกว่า 2,500,000 ตัน ก็น่าจะทำให้ปริมาณข้าวเพียงพอต่อความต้องการในประเทศและการส่งออก

**กระทรวงพาณิชย์ ได้นำข้าว 2.1 ล้านตันในสต็อกออกมาทำข้าวถุงธงฟ้าขาย **
การนำข้าวในสต็อกออกมาทำข้าวสารถุงธงฟ้าราคาถูกกว่าตลาดมาขายนั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อราคาข้าวในระยะสั้นและน่าจะทำให้ราคาข้าวในตลาดต้องเกิดการปรับลดลง แต่ก็ไม่น่าจะมีการปรับลดลงมากมายอะไรนัก เพราะกระทรวงพาณิชย์จะมีการรับซื้อคืนที่ตันละ 11,000-14,000 บาทต่อตัน ซึ่งมาตรการของกระทรวงพาณิชย์คือการนำข้าวในสต็อกมาออกจำหน่ายเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชนในขณะที่จะมีการรับซื้อคืนในอัตรา 11,000-14,000 บาทต่อตันเพื่อเป็นการรับประกันไม่ให้ราคาข้าวต้องลงต่ำ

ประเทศญี่ปุ่นล้มประมูลข้าว 60,000 ตันแต่ในขณะที่ประเทศไนจีเรียได้สั่งข้าว 500,000 ตันจากไทย

ประเทศญี่ปุ่นได้มีการล้มประมูลข้าว 60,000 ตัน เพราะราคาที่ได้มีการยื่นประมูลเข้ามานั้น ประเทศเวียดนามได้ยื่นประมูลข้าวขาว 25% ที่กว่า 1,200 เหรียญต่อตัน ซึ่งถ้ามีการรับซื้อเกิดขึ้นจะทำให้ราคาข้าวนี้กลายเป็นดัชนีที่จะดันให้ราคาในภาพรวมต้องปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งญี่ปุ่นไม่ต้องการให้ราคาข้าวในตลาดปรับเพิ่มขึ้นสูงไปถึงขนาดนั้น

แต่ล่าสุดทางการของประเทศไนจีเรียก็ได้มีการประกาศว่าได้มีการสั่งซื้อข้าวจากไทยถึง 500,000 ตัน ซึ่งจากข่าวนี้ก็ยังคงทำให้ราคาข้าวจะยังคงอย่ในระดับสูงต่อไป

ปัจจัยที่ทำให้ราคาข้าวมีราคาสูงในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นผลจากทางจิตวิทยา

ราคาข้าวที่สูงขึ้นปัจจุบันเป็นผลด้านจิตวิทยา การตลาดที่เกิดจากสต็อกข้าวโลกลดลงเหลือแค่ 70 ล้านตัน จากเดิมที่เคยมีสต็อกข้าว 100-140 ล้านตัน ทำให้สต็อกข้าวที่มีอยู่ไม่สอดคล้องกับการบริโภคข้าวของประชากรโลกที่มีถึงวันละ 1 ล้านตัน และต้องมีสต็อกข้าวรองรับอย่างน้อย 100 ล้านตัน ประกอบกับประเทศผู้ผลิตข้าวหลักของโลก เช่น จีน อินเดีย เวียดนาม เกิดภัยธรรมชาติ ส่งผลให้มีปริมาณข้าวออกสู่ตลาดลด ขณะที่ต้นทุนการผลิตข้าวไทยสูงขึ้น เช่น ค่าปุ๋ย ราคาน้ำมัน จึงเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ข้าวราคาแพง

ทั้งนี้ การที่ราคาข้าวสูงขึ้นจากปัจจัยจิตวิทยาทำให้มีโอกาสที่ราคาข้าวจะลดลงเร็วเช่นกัน หากโลกหายกังวลกับราคาข้าวแพง จะทำให้ผู้ที่กักข้าวไว้ขณะนี้ต้องเร่งเทขายข้าวออกมา และทำให้ราคาข้าวลดลงอย่างรวดเร็ว ปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคหายกังวลกับราคาข้าวแพง อยู่ที่ผลผลิตข้าวนาปรังของเวียดนาม ที่จะเก็บเกี่ยวในเดือนมิถุนายนนี้ ถ้าเวียดนามประกาศขายข้าวออกมา จะทำให้ความกังวลเรื่องราคาข้าวลดลง

สรุปภาพรวมของสถานการณ์ข้าว

คาดว่าราคาในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าน่าจะยังต้องปรับลดลงต่อไป อันเนื่องมาจากส่วนต่างระหว่างราคาในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าและตลาดกลางจริงยังคงมีส่วนต่างที่มาก และอันเนื่องมาจากสภาวะข่าวสารที่เข้ารองด้านเพื่อกดให้ราคาต้องปรับลดลงก็ยังคงมีแนวโน้มที่จะเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ก็น่าจะยังมีส่วนทำให้ราคาต้องเกิดการปรับลดลง ซึ่งข่าวสารที่น่าจะต้องจับตามองก็คือ ผลของการประมูลข้าวของทางการฟิลิปปินส์ว่ารัฐบาลฟิลิปปินส์จะมีการรับซื้อที่ระดับราคาที่เท่าไหร่

ที่มา : บริษัท ธนเกษตร จำกัด
กำลังโหลดความคิดเห็น