xs
xsm
sm
md
lg

ชะตากรรมกองทุนรวมFIF ฮิต ฮอต ร่วง ตามกระแสการลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กล่าวถึงกันบ่อยทีเดียวสำหรับกองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) จนกลายเป็นเรื่องเก่าไปแล้ว แต่ที่จะนำเสนอต่อไปนี้เป็นบทวิจัยเกี่ยวกับความคืบหน้าของกองทุนประเภทนี้ว่า ณ ปัจจุบันมันกำลังดำเนินไปในทิศทาง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้เปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ในปี 2550 กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ถือเป็นกองทุนที่มีอัตราการขยายตัวสูงมากที่สุดในบรรดากองทุนประเภทต่างๆ โดยมีอัตราการขยายตัวของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ถึงร้อยละ 624.6 จากสิ้นปี 2549 โดยมียอดการลงทุนในกองทุนนี้สูงถึง 209,274 ล้านบาท ณ.สิ้นปี 2550 โดยในปีนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ยังได้อนุมัติวงเงินลงทุนเพิ่มเติมให้ ก.ล.ต. นำไปจัดสรรเพิ่มเติมอีกถึง 12,000 ล้านดอลลาร์

แต่เมื่อพิจารณามูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน FIF จากสิ้นปีจนถึงวันที่ 11 เมษายน กลับพบว่า มีการปรับตัวลดลงไปถึงร้อยละ 17 จากเดิม 209,274 ล้านบาท มาอยู่ที่ 173,637 ล้านบาท ก่อนที่จะขยับขึ้นสู่ 199,673 ล้านบาท ณ.วันที่ 18 เมษายน

นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน FIF เป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมทั่วไปทั้งหมดปรับตัวลดลงไปเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.6 นับจากสิ้นปี 2550 จนถึงวันที่ 18 เมษายน

โดยเมื่อพิจารณากองทุนรวมประเภทต่างๆจำแนกเป็นรายประเภทแล้วจะเห็นได้ว่า กองทุนรวมประเภทหน่วยลงทุน (Fund of funds) หรือ กองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนอื่น มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิซึ่งลดลงมากที่สุดจาก ณ.สิ้นปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 8.8 ซึ่งจำนวนกองทุนรวมหน่วยลงทุนทั้งหมด ล้วนเป็นกองทุน Feeder Fund (กองทุนที่มีการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนในต่างประเทศกองเดียว ซึ่งเรียกกองทุนในต่างประเทศที่เป็นกองทุนหลักดังกล่าวว่า Master Fund) โดยจะต้องดำรงสัดส่วนการลงทุนในกองทุนหลักตั้งแต่ร้อยละ 80 ของ NAV เป็นต้นไป

FIFกองหุ้นเอ็นเอวีวูบ
การที่ตลาดหุ้นต่างๆทั่วโลกปรับตัวลดลงไปเมื่อเทียบจากสิ้นปีที่ผ่านมา อันเป็นผลจากความกังวลผลกระทบของปัญหาในตลาดซับไพร์มของสหรัฐฯ ซึ่งได้ลุกลามไปยังภาคการเงินและภาคธุรกิจอื่นๆ และทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอย ในขณะที่ปัญหาดังกล่าวยังส่งผลไปยังประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษและประเทศในกลุ่มยูโรอย่างหลีกเลี่ยง และปัญหาต่างๆ เหล่านี้เอง จะมีส่วนต่อ NAV ของกองทุน FIF ซึ่งลงทุนในกอง Master Fund ที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารทุนเป็นหลักลดลง

อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นสำหรับกองทุน FIF ที่ลงทุนในกองทุนต่างประเทศซึ่งมีนโยบายลงทุนเกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ลงทุนในหุ้นของบริษัทในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ หรือ ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเป็นกลุ่มที่ให้อัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้นมากที่สุดในปีนี้ ซึ่งได้แรงหนุนจากการทะยานขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ทองคำ โลหะหรือสินค้าโภคภัณฑ์เกษตร เป็นต้น

ขณะที่ การครบกำหนดไถ่ถอนของกอง ECP และการปรับลดดอกเบี้ยรุนแรงของเฟด...กระทบ NAV ของกอง FIF ตราสารหนี้

การขยายตัวของกองทุน FIF ในปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งได้ปัจจัยสนับสนุนจากการออกทุนที่ลงทุนในตราสาร ECP (Euro Commercial Paper) หรือ ตั๋วแลกเงินที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี ซึ่งออกโดยธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทในต่างประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูงเพื่อใช้ระดมทุน โดยเฉพาะในช่วงปลายไตรมาส 3 – ไตรมาส 4 ปี 2550 ที่ บลจ.ต่างๆได้ออกกองทุนประเภทนี้จำนวนมาก จากส่วนต่างอัตราผลตอบแทนที่ได้รับซึ่งสูงกว่าตราสารหนี้ในประเทศ

โดยกองทุนประเภทนี้ ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของกองทุนระยะสั้นอายุกองทุนตั้งแต่3 เดือน 6 เดือน จนถึง 9 เดือน ทั้งนี้ การที่กองทุนดังกล่าวทยอยครบกำหนดอายุไถ่ถอนไปเมื่อต้นปีได้ส่งผลให้มูลค่า NAV ของกองทุน FIF ปรับตัวลดลง

นอกจากการออกกองทุนใหม่เพื่อมาทดแทนเผชิญกับความลำบากขึ้น หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องนับจากเดือน กันยายน 2550 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ ที่เฟดได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วจากร้อยละ 4.25 ณ.สิ้นปี 2550 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.25 (วันที่ 18 มีนาคม ) ซึ่งเป็นการลดความน่าสนใจของตราสาร ECP ลง โดยอัตราผลตอบแทนตราสารประเภท ECP ได้ปรับตัวลดลงจนอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าพันธบัตรรัฐบาลในประเทศ ในขณะที่ความผันผวนในตลาดการเงินทั่วโลกและปัญหาในสถาบันการเงินขนาดใหญ่หลายแห่งทำให้นักลงทุนมีมุมมองที่ระมัดระวังในการลงทุน และหันมาสนใจสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง เช่น เงินฝากธนาคารพาณิชย์หรือ พันธบัตรรัฐบาล

สรุปแล้วแม้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกอง FIF จนถึงขณะนี้จะปรับตัวลดลงจากสิ้นปีที่แล้ว แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังมองว่ากองทุนดังกล่าวน่าจะกลับมามีการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นได้ในช่วงที่ยังเหลือของปีนี้ โดยมองว่าการลงทุนในกองทุน FIF นั้น ถือเป็นทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจ นอกจากจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการที่อาจจะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าลงทุนในประเทศให้กับนักลงทุนแล้ว การกระจายการลงทุนไปยังหลายประเทศยังช่วยลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนในประเทศเพียงอย่างเดียว

เป็นอย่างนี้แล้วนักลงทุนคงจะต้องหาช่องทางลงทุนในต่างประเทศเพิ่ม เพราะทั้งตลาดหุ้น และตราสารหนี้ ต่างก็มีผลกระทบทั้งสิ้น แต่อย่างพึ่งตกใจไป พรุ่งนี้เราจะนำเสนอแนวโน้มกองทุนต่างประเทศใหม่ๆ ที่น่าจะสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ รวมถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่จะมีผลต่อการลงทุนต่างประเทศต่อจากนี้ด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น