...ต่อจากฉบับที่แล้ว
“ต้นกล้า”
“ครับผม”
“ผู้จัดการเรียกให้ไปพบที่ห้องแนะ เห็นบอกว่ามีความลูกค้าคนสำคัญต้องการความช่วยเหลือ...ที่ห้องผู้จัดการนะ”
“ครับผม...ขอบคุณมากครับพี่” ต้นกล้าวางมือจากงานที่สุมอยู่บนโต๊ะทันที “งานเข้าอีกแล้วเรา” เขาคิดในใจ...ต้นกล้าเดินตรงไปที่ห้องผู้จัดการ เขามองเข้าไปที่ห้องผู้จัดการผ่านผนังบานกระจก เห็นเจ้านายกำลังคุยอยู่กับผู้หญิงคนหนึ่งอยู่ที่โซฟารับแขก เธอน่าจะอายุประมาณ 30 ต้นๆ ต้นกล้าเดา แต่เขาเองรู้สึกคุ้นหน้าผู้หญิงคนนี้ เหมือนเคนเจอที่ไหนมาก่อน
ต้นกล้าเคาะประตูกระจก 3 ครั้ง...เจ้านายส่งสัญญาณให้เขาเข้าไปข้างใน
“นั่งซิต้นกล้า”
“ขอบคุณครับ”
“นี่คุณกมลทิพย์ เป็นลูกค้าคนสำคัญของเรา”
“สวัสดีครับ”
“สวัสดีค่ะ” เธอยกมือรับไหว้
หลังจากได้เห็นหน้าชัดเจนชนิดประชิดตัว พร้อมกับชื่อที่เจ้านายพูดมา ต้นกล้าก็ถึงบางอ้อ...คุณกมลทิพย์ ลูกค้าประจำของที่นี่นั่นเอง
“ว่าแต่มีเรื่องอะไรให้เราช่วยนะ เพราะปกติจะคุยแต่กับเจ้านายคนเดียวเท่านั้น” ต้นกล้าคิดในใจ
“พอดีคุณกมลทิพย์ สนใจอยากจะทราบรายละเอียดเกี่ยวกับกองทุนแอลทีเอฟ ก็เลยอยากให้คุณต้นช่วยอธิบายให้ฟังหน่อย...เมื่อสักครู่ผมได้อธิบายรายละเอียดเรื่องการลงทุนไปบ้างแล้ว แต่อยากให้คุณต้นอธิบายเงื่อนไขและวิธีการคำนวณภาษีเพิ่มเติมอีกสักหน่อย” เจ้านายบอกถึงเหตุผลของการเรียกตัวต้นกล้ามาพบ
“ยินดีครับผม”
“รบกวนด้วยนะค่ะ” คุณกมลทิพย์เอ๋ยขึ้นมา
“ได้ครับ...งั้นผมเริ่มต้นที่คำถามนี้ก่อนเลยแล้วกัน คุณกมลทิพย์พอจะทราบข่าวไหมครับว่าตอนนี้ รัฐบาลเขาเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีสำหรับคนที่ลงทุนในกองทุนแอลทีเอฟจาก 300,000 บาทเป็น 500,000 บาทแล้ว”
“พอทราบค่ะ รวมถึงอาร์เอ็มเอฟด้วยใช่ไหมค่ะ”
“ครับผม...แล้วคุณกมลทิพย์เคยทราบข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนแอลทีเอฟมาก่อนหรือเปล่าครับ”
“ก็เพิ่งจะมาสนใจ หลังจากได้ยินข่าวการเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีเป็น 500,000 บาทนี่ละค่ะ เพราะตัวดิฉันเองก็ไม่รู้มาก่อนเลยว่า มีการลงทุนที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ด้วย ส่วนรายละเอียดการลงทุน ก็เพิ่งได้ยินจากผู้จัดการเมื่อสักครู่นี้”
“งั้นผมของเริ่มต้นจากที่มาที่ไปของกองทุนแอลทีเอฟก่อนแล้วกันนะครับ...กองทุนแอลทีเอฟ เริ่มต้นมาจากความต้องการของภาครัฐที่อยากจะเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศ ผ่านรูปแบบของการออมเงินระยะยาวในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่ตลาดหลักทรัพย์ฯและลดการพึ่งพาเงินลงทุนจากต่างชาติ โดยมีแรงจูงใจเป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษี นอกเหนือจากผลตอบแทนที่เกิดจากการลงทุนที่ผู้ลงทุนจะได้รับ...ซึ่งสิทธิประโยชน์ทางภาษีนี้เอง กำหนดไว้ว่า ผู้ลงทุนจะได้รับการลดหย่อนภาษีโดยไม่ต้องนำเงินลงทุนใน LTF ไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สูงสุดไม่เกิน 15 % ของเงินได้ในปีภาษีนั้น แต่ต้องไม่เกิน 500,000 บาท”
“ยังไงค่ะ ช่วยขยายความอีกนิดได้ไหมค่ะ” คุณกมลทิพย์ยังสับสนอยู่
“เออ...ปกติแล้วการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะต้องคำนวณจากรายได้ทั้งปีที่ได้รับใช่ไหมครับ แต่หากมีการลงทุนในกองทุนแอลทีเอฟด้วยแล้ว จะสามารถนำจำนวนเงินที่ลงทุนนั้นไปคำนวณเพื่อลดหย่อนภาษีได้ เช่น คุณกมลทิพย์มีรายได้ทั้งปี 600,000 บาท และมีฐานภาษีอยู่ที่ 10% แต่หลังจากหักค่าใช้จ่ายหรืออาจจะหักเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว ปรากฏว่าคุณกมลทิพย์มีรายได้ทั้งปีที่ต้องนำมาคำนวณภาษีอยู่ที่ 480,000 บาท...สมมติคุณต้องการลงทุนเต็ม 15% ของรายได้ ก็เท่ากับว่าในปีนั้น คุณสามารถซื้อกองทุนแอลทีเอฟได้สูงสุดที่ 90,000 บาท...ตามผมทันนะครับ”
“ค่ะ”
“แล้วเงิน 90,000 บาท ที่คุณนำไปซื้อกองทุน ก็สามารถนำไปลบกับเงินได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี นั่นคือ 480,000 บาท ซึ่งหลังจากหักลบกันออกไปแล้ว ก็จะเหลือเงินได้ทั้งปีที่ต้องนำมาคำนวณภาษีเพียง 390,000 บาท และ 390,000 นี่เองหลังจากคำนวณออกมาแล้ว ในปีนั้นคุณจะเสียภาษีเพียง 29,000 บาทเท่านั้น”
“แล้วถ้าไม่ได้ลงทุนในกองทุนแอลทีเอฟ เราจะต้องเสียภาษีเท่าไหร่ค่ะ”
“คำนวณดูแล้วคุณต้องเสียภาษีถึง 38,000 บาทครับ”
“เท่ากับว่าดิฉันลดภาษีได้ตั้ง 9,000 บาทนะซิค่ะ”
“ถูกต้องแล้วครับ”
“ทำไมดิฉันถึงไม่รู้อะไรแบบนี้เลยค่ะ”
“มันคงอยู่ที่การประชาสัมพันธ์นะครับ เพราะว่าเรื่องนี้เองก็ยังไม่เข้าถึงผู้ลงทุนในวงกว้างมากนัก…แต่ยังไม่จบเท่านี้นะครับ”
“ยังมีอะไรต่อหรือค่ะ”
“ก็การที่เราจะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษี เราต้องถือหน่วยลงทุนของกองทุนแอลทีเอฟไม่น้อยกว่า 5 ปีปฏิทิน โดยเริ่มนับจากปีที่มีการลงทุนเป็นครั้งแรก”
“หมายความว่าไงค่ะ 5 ปีปฎิทิน”
“สมมติว่าคุณซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนแอลทีเอฟในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2551 และวันที่ครบกำหนดที่สามารถไถ่ถอนได้คือวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2555 ก็เท่ากับว่าคุณได้ถือหน่วยลงทุนมา 5 ปีแล้ว เพราะถ้านับตามปีปฏิทินที่เริ่มลงทุนเป็นครั้งแรก การที่คุณเลือกลงทุนวันใดวันหนึ่งในปี พ.ศ. 2551 ก็นับเป็น 1 ปีปฏิทินแล้ว และการขายคืนหน่วยลงทุนในวันใดวันหนึ่งตามที่กองทุนได้กำหนดไว้ในปี พ.ศ. 2555 ก็นับเป็นอีก 1 ปีปฏิทินแล้วเช่นกัน รวมกับอีก 3 ปีที่ถือครองแล้วก็นับเป็นระยะเวลา 5 ปีปฏิทินพอดี...แต่ลองคำนวณดูนะครับว่า จริงๆแล้ว ระยะเวลาที่ต้องถือหน่วยลงทุนจริงๆกลับเท่ากับ 3 ปี กับ 2 วันเท่านั้น”
“อ๋ออออออ” คุณกมลทิพย์ลากเสียงยาว
“พอจะเข้าใจนะครับ”
“ค่ะเข้าใจแจ่มแจ้งเลยค่ะ…แต่ดิฉันเคยได้ยินคำพูดที่ว่า การลงทุนมีความเสี่ย แล้วกองทุนแอลทีเอฟมันเสี่ยงยังไงบ้างค่ะ”
“เป็นคำถามีที่ผมอยากตอบมากครับ เพราะก่อนลงทุน เราต้องรู้ตัวเองก่อนว่า สามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน...ซึ่งความเสี่ยงของกองทุนแอลทีเอฟเอง ก็อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นที่กองทุนเข้าไปลงทุน เพราะหากตลาดหุ้นผันผวนจนฉุดราคาหุ้นปรับลดลง ก็จะมีโอกาสที่มูลค่าเงินลงทุนจะลดลงตามไปด้วย...แต่ในทางกลับกัน โอกาสที่เราจะได้ผลตอบแทนที่ดีจากราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นก็มีนะครับ เพราะกองทุนนี้เป็นการลงทุนระยะยาว โอกาสได้รับผลตอบแทนเป็นบวกน่าจะมองเห็นได้มากกว่า”
“แล้วเราจะรู้ได้ยังไงค่ะว่า กองทุนไหนจะได้ผลตอบแทนดีไม่ดียังไง”
“คงต้องดูที่นโยบายการลงทุนของแต่ละกองครับว่า มีการจัดพอร์ตการลงทุนแบบไหน ปัจจุบันก็จะมีให้เลือกทั้งกองทุนที่ลงทุนในหุ้นที่มีอัตราการเติบโตสูง ลงทุนในหุ้นที่มีการจ่ายปันผลสม่ำเสมอ หรือกองทุนที่มีการลงทุนอย่างอื่นรวมอยู่ด้วย เช่น ตราสารหนี้ หรือการลงทุนในต่างประเทศ”
“ฟังดูแล้วมีแต่ได้กับได้นะค่ะ เพราะ”
“แต่ต้องอยู่ภายใต้การปฏิบัติตามเงื่อนไขเท่านั้นนะครับ เพราะถ้าผิดเงื่อนไข จะต้องจ่ายคืนภาษีย้อนหลังในปีนั้นทันที” ต้นกล้าพูดแทรกขึ้นมา
“ค่ะ นอกจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เราได้แน่นอนอยู่แล้ว แต่ต้องทำตามเงื่อนไขเท่านั้น...ยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนอีกด้วย”
“แต่อย่าลืมนะครับว่า...การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน”
“แหม...ถึงแม้จะไม่เคยลงทุนมาก่อน แต่คำนี้ก็ได้ยินจนติดหูแล้วค่ะ”
“ถึงอย่างนั้นก็เถอะครับ...เพราะผู้ลงทุนส่วนใหญ่ยังนิยมลงทุนในช่วงปลายปีมากกว่า ซึ่งเรื่องนี้ผมคิดว่าเป็นการเสียโอกาสที่เงินของเราน่าจะทำกำไรได้ตั้งแต่ต้นปี”
“อันนี้ดิฉันเห็นด้วยค่ะ...คุณต้นกล้านี่เก่งจังเลยนะค่ะ” ดูท่าคุณกมลทิพย์จะปลื้มต้นกล้าเข้าให้แล้ว
“ไม่หรอกครับ มันเป็นหน้าที่ของผมอยู่แล้ว”
“ได้ประโยชน์สองต่อแบบนี้ เห็นทีคงต้องควักกระเป๋าเอาเงินมาลงทุนบ้างแล้วละค่ะ”
“ยินดีครับ...” ผู้จัดการพูดแทรกขึ้นมาในทันที หลังจากนั่งฟังการสนทนาของทั้งสองคนอยู่นาน
“งั้นผมเอากองทุนมาให้คุณกมลทิพย์เลือกดูก่อนแล้วกันนะครับ...ลองดูว่ากองทุนไหนที่คุณกมลทิพย์สามารถรับความเสี่ยงได้ กองนั้นน่าจะเหมาะสมที่สุด” ต้นกล้าแนะนำ
“ไม่เสียแรงจริงๆ ที่เรียกต้นกล้ามา” ผู้จัดการคิดในใจ
.....อ่านต่อฉบับหน้า