xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติปูทางอนาคตคนไทยสู่วัยเกษียณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คุณมีความพร้อมรับวัยเกษียณแค่ไหน?

มั่นใจได้อย่างไรว่าการลงทุนตลอดชีวิตของคุณพอเพียงกับเงินที่ต้องใช้ในปั้นปลาย?

คนไทยกับการออมยังเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยจะเดินไปไหนทางเดียวกันนัก แม้ตอนนี้คนรุ่นหนุ่มสาวจะให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นจากในอดีต แต่ถ้าจะเทียบกับจำนวนประชากรของประเทศไทยแล้ว ก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยนิดเท่านั้น และผลจากแนวโน้มดังกล่าวทำให้รัฐบาลเริ่มตระหนักและหาวิธีที่จะเพิ่มสัดส่วนการออมของประชาชนในวัยทำงานมากขึ้น ด้วยการออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) ซึ่งสามารถให้ผลที่น่าพอใจได้ในระดับหนึ่ง แต่อีกหนึ่งมาตราการหนึ่งที่มีการร่าง แต่ยังไม่เห็นความคืบหน้าเท่าที่ควร นั้นก็คือ "กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.)"

สำหรับกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาตินั้น ภาครัฐจัดตั้งขึ้นว่าวาดหวังให้ระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุของประเทศไทยเป็นระบบบำเหน็จบำนาญแบบหลายชั้น (Multi-Pillar) ครอบคลุมแรงงานทั่วประเทศ รวมไปถึงส่งเสริมให้แรงงานได้ออมเงินในวัยทำงานเพื่อสร้างรายได้หลังเกษียณให้กับตนเองในระดับที่เพียงพอและเป็นการสร้างความยั่งยืนทางการเงินของระบบกองทุนการออมระยะยาว สร้างความยั่งยืนทางการคลังการเพิ่มระดับเงินออมในประเทศ ตลอดจนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน

กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติเป็นกองทุนภาคบังคับ ซึ่งจะแบ่งประเภทแรงงานที่จะเข้าร่วมเป็น 2 ประเภท คือ แรงงานในระบบ และแรงงานนอกระบบ โดยในส่วนของแรงงานในระบบ ปีแรกของการจัดตั้งกองทุนจะบังคับให้ภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และบริษัทที่ได้รับสัมปทาน บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน และบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) ต้องเข้ามาเป็นสมาชิกกองทุนโดยทันที แต่ส่วนของภาคเอกชนในปีแรก การส่งมอบเงินสมทบจะมีผลบังคับใช้กับสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไป ขณะที่ในปีที่ 6 จะมีผลบังคับใช้กับสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 10 คนขึ้นไป และในปีที่ 11 จะมีผลบังคับใช้กับสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 1 คนขึ้นไป

ด้านข้อเสนอโครงสร้างกำหนดอัตราการจ่ายเงินสะสม/สมทบแบ่งเป็นช่วงระยะเวลาและไม่กำหนดเพดานค่าจ้าง โดยในระยะ 5 ปีแรก กำหนดอัตราการจ่ายเงินสมทบทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างในสัดส่วน 3% ของค่าจ้าง , ในปีที่ 6-10 กำหนดการจ่ายเงินสมทบทั้ง 2 ฝ่ายเพิ่มขึ้นเป็นอัตรา 4% ของค่าจ้าง และ ในปีที่ 11 เป็นต้นไปกำหนดการจ่ายเงินสมทบทั้ง 2 ฝ่ายในอัตรา 6% ของค่าจ้าง ทั้งนี้มีการคาดว่า การจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติจะทำให้มีประเทศไทยมีเงินออมในระบบปีละประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

นับว่าเป็นแผนงานที่ถ้าสามารถเป็นรูปธรรมจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อภาคประชาชนและภาครัฐเป็นอย่างมาก โดยล่าสุด พรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สำนักงานได้เสนอแนวทางในการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติให้แก่ นายแพทย์สุรพงศ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และได้เห็นชอบในหลักการแล้ว และหลังจากนี้สำนักงานจะนำเสนอรูปแบบที่ชัดเจนโดยเร็ว เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมภาคบังคับ เพื่อทำให้แรงงานเกิดการออมเงินให้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพหลังเกษียณอายุจากปัจจุบันมีรายได้หลังเกษียณ 17% ของรายได้เดือนสุดท้าย ก็จะดำเนินการให้เป็น 50% ของรายได้เดือนสุดท้าย ซึ่งสอดคล้องกับการเร่งสร้างเงินในประเทศให้สอดคล้องกับการลงทุนขนาดใหญ่จำนวนมากของประเทศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้รูปแบบที่ สศค.นำเสนอเบื้องต้นจะครอบคลุมแรงงานในระบบ 13 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานของบริษัทที่มีพนักงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ซึ่งจะมีเงินสมทบฝ่ายละ 3% จากลูกจ้างและนายจ้าง คาดว่าจะมีเงินออมเพิ่มขึ้นปีละ 30,000 ล้านบาท และระยะต่อไปจะขยายให้ครอบคลุมยิ่งขึ้นจนใน 5 ปี จะครอบคลุมบริษัทที่มีพนักงานตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป

ขณะที่การจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ เริ่มมีความคืบหน้าไปที่ละน้อย แต่ปัญหาเรื่องการออมเพื่อวัยเกษียณกลับทวีความน่าวิตกเพิ่มมากขึ้น โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย** ได้ออกบทวิจัยชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันโครงสร้างประชากรของไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยประชากรวัยเด็กลดจำนวนลงจากในอดีต ขณะที่ประชากรผู้สูงอายุกลับเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมไปทั้งยังพบว่ามีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีรายได้พอที่จะเลี้ยงชีพในวัยชรา ขณะที่หลักประกันด้านสุขภาพของคนไทย แม้จะมีความครอบคลุมในด้านจำนวนประชากร แต่ส่วนใหญ่เป็นการดูแลในระดับพื้นฐาน ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในความเป็นจริงแล้วประชาชนจำต้องมีเงินออมของตนเองเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลดังกล่าว

นอกจากนี้จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า รายได้ของครัวเรือนยังมีความไม่แน่นอนขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจ ส่วนค่าใช้จ่ายของครัวเรือนทั่วประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้มีรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ครัวเรือนมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายรวมต่อรายได้เพิ่มขึ้น และเหลือเงินสำหรับการเก็บออมและนำไปชำระหนี้ได้น้อย เห็นได้จากสัดส่วนการออมต่อรายได้ที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากปี 2545-2549 จากแนวโน้มดังกล่าว อาจทำให้ครัวเรือนมีเงินออมไม่พอใช้ในยามสูงอายุ

ด้านผู้ที่คว่ำหวอดอยู่ในวงการการออมเงิน อย่าง วิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวและการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติว่า รัฐบาลควรเร่งผลักดันการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติอย่างจริงจัง เพื่อส่งเสริมให้การเกิดการออมเงินภายหลังวัยเกษียณ ซึ่งประเทศไทยเองเป็นไม่กี่ประเทศที่ยังไม่มีกองทุนเพื่อการออมภาคบังคับสำหรับวัยเกษียณอายุ

โดยส่วนตัวมองว่าการจัดตั้ง กบช. จะส่งผลประโยชน์ครอบคลุมการออมของประชากรไทยได้ถึง 15-18 ล้านคน หรือ 30% ของประชากรทั้งหมดจากปัจจุบันที่มีสัดส่วนการออมเพื่อวัยเกษียณอยู่ที่เพียง 22% ขณะเดียวกัน กบข.ได้ทำการศึกษาผลการวิจัยเรื่องผลกระทบการเปลี่ยนโครงสร้างประชากรต่อวิถีชีวิตกับทิศทางการออมในอนาคตพบว่า ประชากรในวัยเกษียณที่เป็นสมาชิกของ กบข. รู้จักการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) น้อยมาก ทำให้หน่วยงานทางภาครัฐและเอกชนควรจะให้ความรู้เกี่ยวกับระบบเงินออมของประเทศให้มากขึ้น

"ถึงแม้จัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติจะเป็นเรื่องที่เกิดได้ยาก เพราะนับเป็นต้นทุนของบริษัท แต่ถ้ามีความตั้งใจที่จะทำก็สามารถทำได้เร็วอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาถึงเหตุการณ์ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทนั้นๆ ว่าจะยอมรับได้หรือไม่ ซึ่งแล้วแล้วต้องทำให้เพียงพอ และต้องมีระบบการบริหารจัดการที่ดีในการเรียกเก็บเงินสมทบดังกล่าว ขณะเดียวกัน ภาครัฐเองต้องเข้ามาจูงใจให้ประชาชนเข้ามาในส่วนนี้มากขึ้นเช่นเดียวกัน"นายวิสิฐกล่าว

นับเป็นอีกเรื่องที่ควรจะเห็นความชัดเจนในเร็ววัน เพราะวันเวลาไม่เคยคอยใคร... สมควรหรือยังที่ภาครัฐจะนำการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติเข้ามาเป็นอีกหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่จะผลักดันให้เป็นรูปเป็นร่าง
กำลังโหลดความคิดเห็น