xs
xsm
sm
md
lg

“เจเอฟ”จับมืออีเอ็มซีขยายตลาดPACSในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ความต้องการเทคโนโลยีทันสมัย บวกกับปริมาณแพทย์ที่ไม่เพียงพอในปัจจุบันดันระบบ PACS เกิดในไทย อำนวยความสะดวกหมอเรียกดูฟิล์มเอกซเรย์ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ได้ภายใน 5 วินาที แทนรอแผ่นฟิล์มที่ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง โรงพยาบาลรัฐหลายแห่งขานรับติดตั้งแล้ว เจเอฟจับมืออีเอ็มซีร่วมสร้างตลาดที่ คาดว่าถึงสิ้นปีอีกกว่า 120 โรงพยาบาลมีศักยภาพในการติดตั้ง

วัลลภา เปี่ยมนพเก้า ผู้อำนวยการกลุ่มพันธมิตรธุรกิจ บริษัท อีเอ็มซี ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันจำนวนสัดส่วนจำนวนแพทย์เมื่อเทียบกับประชากรของประเทศไทยในเขตเมืองอยู่ที่ 1 ต่อ 3,136 คน ขณะที่นอกเขตเมืองจะอยู่ที่ 1 ต่อ 5,000 คน นับว่ายังไม่เพียงพอทำให้โรงพยาบาลเอกชนเข้ามามีบทบาทต้องเข้ามาช่วยรับภาระในการรับผู้ป่วยเข้ารักษาจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นต้องมีการพัฒนาในการทำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อเข้ามาช่วยพัฒนาคุณภาพเพื่อให้ได้มาตรฐาน

ในวงการแพทย์ปัจจุบันมีการให้ความสนใจนำระบบการเก็บภาพถาวรและการสื่อสาร(Picture Archiving and Communication System) หรือ PACS เข้าติดตั้ง โดยเปลี่ยนจากระบบฟิล์มมาเป็นระบบ PACS

PACS จะเหมาะกับโรงพยาบาลที่มีคนไข้ตั้งแต่50,000 รายขึ้นไปโดยเข้ามาแทนที่การเก็บในรูปแผ่นฟิล์มเอกซเรย์ที่ต้องมีพื้นที่จำนวนมากช่วยให้แพทย์หรือพยาบาลเพิ่มความรวดเร็วในการค้นหาภาพเอ็กซ์เรย์ที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ได้ดีกว่าการเก็บในรูปแบบฟิล์ม

อดิสรณ์ ท่าพริก General Manager บริษัท J.F Advance CO Ltd พันธมิตรทางธุรกิจของอีเอ็มซี และเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกตลาด PACS ในประเทศไทย กล่าวว่า ระบบ PACS เป็นระบบการเก็บภาพเอกซเรย์ไว้เป็นไฟล์ทางคอมพิวเตอร์ทำให้ง่ายต่อการนำไปใช้งานหรือเก็บรักษา  ลดขั้นตอนการหาฟิล์มเก่าของคนไข้  ทั้งยังสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานเท่าที่ต้องการเพราะอยู่บนคอมพิวเตอร์ ช่วยลดขั้นตอนการทำงานสั้นลงและปรับสีได้ตามต้องการตามความชอบของผู้ดู ลดระยะเวลาการรอฟิล์มของคนไข้สั้นลงโดยเรียกดูภาพได้ภายใน 1-3 วินาทีหรือไม่เกิน 5 วินาที อีกทั้งแพทย์หลายท่านสามารถเรียกดูฟิล์มพร้อมๆ กันผ่านคอมพิวเตอร์ไม่ต้องรอแพทย์แต่ละแผนกดูให้เสร็จก่อนอย่างกรณีประสบอุบัติเหตุต้องใช้คำปรึกษาจากแพทย์หลายด้านตัดสินใจร่วมกันทำให้ไม่ต้องรอฟิล์มจากแต่ละแผนกเหมือนระบบเดิม

ผู้บริหารเจเอฟ กล่าวว่า แม้ว่าระบบ PACS จะเป็นระบบที่ได้รับการยอมรับในแง่ประสิทธิภาพแต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเติบโตของตลาดระบบ PACS เป็นไปได้ช้าเพราะราคาของระบบคอมพิวเตอร์ และความจุของสตอเรจที่ต้องทำงานร่วมกันยังมีข้อจำกัดอยู่ ในระยะแรกจึงยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าที่ควร  มาในช่วง 3-5 ปีมานี้คอมพิวเตอร์มีพัฒนาการในด้านความเร็ว ความจุของฮาร์ดดิสก์ และราคาที่ลดลงทำให้ PACS แพร่หลายมากยิ่งขึ้น

ในส่วนของเจเอฟเป็นผู้ทำตลาดระบบ PACS ในประเทศไทยภายใต้แบรนด์ Synapse โดยมีอีเอ็มซีเป็นพันธมิตรด้านสตอเรจ อดิสรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าของเจเอฟเกือบทั้งหมด ได้แก่ รพ.ศิริราช รพ.จุฬาฯ  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี รพ.รามาธิบดี เป็นต้น

อย่างโรงพยาบาลชื่อดังหลายแห่งจากเดิมมีค่าใช้จ่ายที่อยู่ในรูปฟิล์มเอกซเรย์ปีละประมาณ 10 ล้านบาท หลังเปลี่ยนมาเป็นระบบ PACS ค่าใช้จ่ายลดลงเหลือน้อยกว่า 8 % ของค่าใช้เดิม  โดยแต่ละโรงพยาบาลจะคุ้มทุนใน 3 ปีครึ่ง

นอกจากการเสนอขายระบบแล้ว ล่าสุดเจเอฟมองหาทางออกเพื่อให้ PACSขยายตัวมากยิ่งขึ้นโดยจะเป็นผู้ติดตั้งระบบให้และเก็บค่าบริการรายละ 85 บาทต่อ 6 ปีกับให้บริการในรูปแบบดาต้าเซ็นเตอร์โดยการอัปข้อมูลฟิล์มใส่ไว้ในระบบเป็นศูนย์กลาง ด้วยศักยภาพของระบบ PACS จะทำให้แพทย์ที่ได้รับอนุญาตสามารถเรียกข้อมูลเอกซเรย์ได้ทุกที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ประจำที่โรงพยาบาลเพราะสามารถอัปขึ้นอินเทอร์เน็ตได้ เหมาะกับโรงพยาบาลที่ให้บริการ 24 ชั่วโมงหรือศูนย์แพทย์เฉพาะทางโดยแพทย์สามารถทำงาน วินิจฉัยโรคได้แม้นขณะที่ไม่อยู่ในโรงพยาบาล

ปัจจุบันเจเอฟและอีเอ็มซีมีลูกค้าที่ทำตลาดร่วมกันแล้วประมาณ 30 ราย  ถึงสิ้นปีนี้คาดว่ามีโรงพยาบาลที่มีความพร้อมในการติดตั้งระบบ PACS เมื่อมองจากความพร้อมด้านการลงทุนและการตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้ระบบนี้ประมาณ 120 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้เจเอฟและอีเอ็มซีคาดว่าจะได้เป็นลูกค้าอีกประมาณ 10 ราย  ทั้งนี้จากจำนวนโรงพยาบาลทั้งหมดที่มีอยู่ทั่วประเทศประมาณ 3,000 แห่ง โดยจุดขายของเจเอฟอยู่ที่เทคโนโลยี “ WAVELET COMPRESSION” ช่วยให้ภาพที่ย่อขนาดลงถึง 20 เท่าแต่ให้ภาพที่มีคุณภาพดี เรียกดูได้เร็วขึ้น ขณะที่รายอื่นจะย่อภาพได้ 3-4 เท่าเท่านั้นเมื่อต้องการคงคุณภาพดีอยู่

“ตลาดระบบ PACS เพิ่งจะตี 4 หรือเป็นศัพท์ที่พูดกันในความหมายว่าเพิ่งอยู่ในระยะเริ่มต้น ยังมีโอกาสเติบโต ยังมีวันที่สดใสได้อีกมาก โดยมีปัจจัยหลักคือความพร้อมด้านการลงทุนและที่สำคัญการตัดสินใจปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบใหม่ที่ทันสมัยกว่าเดิม” อดิสรณ์ กล่าว

Company Related Links :
EMC
กำลังโหลดความคิดเห็น