xs
xsm
sm
md
lg

กองอสังหาฯหลังยกเลิก30%เอยูเอ็มแตะ1แสนล้าน..ไม่ไกลเกินเอื้อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไตรมาส1ที่ผ่านมา ...เรื่องที่เป็นที่ฮือฮามากอีกเรื่องหนึ่งในวงการตลาดเงินไทย คงหนีไม่พ้นการที่ภาครัฐตัดสินใจ "ยกเลิกมาตรการกั้นสำรอง 30%" หลังจากมีผลบังคับใช้ทั้งสิ้น 1 ปี 41วัน ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2549 ซึ่งในช่วงที่มาตราการมีผลบังคับใช้ หลายอุตสาหกรรมต่างก็โอดโอยถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการที่นักลงทุนต่างชาติหนีหน้าไป เพราะผลตอบแทนที่ได้รับไม่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่ต้องเสีย และถ้าจะเจาะลงมาที่อุตสาหกรรมกองทุนรวมแล้ว คงจะไม่มีใครปฎิเสธว่า กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ นับเป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ส่วนจะหนักหนาเพียงใด ดูได้จากข่าวที่หลายบริษัทพลิกแผนที่เคยตั้งใจว่าจะออกกองทุนใหม่และการขยายกองทุนเก่ากันแทบไม่ทัน นั่นเอง

แต่จากข้อมูลที่สรุปโดยทีมงานผู้จัดการกองทุนรวมพบว่า ปี 2550 มีการจัดตั้งพร็อพเพอร์ตี้ ฟันด์ ออกมาเพียงแค่ 4 กองทุน เท่านั้น ได้แก่ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์โกลด์ (GOLDPF) , กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เจซี (JCP) , กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ไลฟ์สไตล์ (MJLF) และกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เออร์บานา(URBNPF)เท่านั้น

บางคนอาจจะสงสัยว่านักลงทุนต่างชาติมีผลต่อกองทุนอสังหาริมทรัพย์ขนาดนั้นเชียวหรือ?... สำหรับการระดมทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็ก หรือมีขนาดไม่เกิน 4,000 ล้านบาท นั้นคงจะสามารถระดมทุนได้อย่างไม่มีปัญหา แต่ลองมองในทางกลับกัน กองทุนที่มีขนาดเกิน 4,000 ล้านบาทการระดมทุนแต่ภายในประเทศอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ... จึงไม่น่าแปลกใจที่หลังจากที่ภาครัฐได้มีการประกาศยกเลิกมาตรการกั้นสำรอง 30% เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 บรรดาบริษัทจัดการกองทุนหลายบริษัทและผู้ประกอบกิจการอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งที่จะพากันเริงร่ากันอย่างออกนอกหน้าขนาดนี้

ทั้งนี้ นับจากที่มีการยกเลิกมาตรการ ก็มีกองทุนอสังหาริมทรัพย์ทยอยเปิดขายและนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นอีก 2 กองทุน คือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (PFFUND) และกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ควอลิตี้ ฮอสพิทอลลิตี้ (QHOP) ทำให้ปัจจุบันทั้งระบบมีกองทุนอสังหาริมทรัพย์ทั้งสิ้น 18 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ประมาณ 60,000 ล้านบาท แต่ทั้ง 2 กองทุนนั้น อาจจะบอกได้ว่าเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของยุคแห่งการกลับมาเฟื่องฟูของกองทุนอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น เพราะปีหนูนี้ มีบลจ.หลายแห่งที่มีแผนจะดันออกกองทุนอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติม

เปิดแผนกันที่เจ้าตลาดกองทุนอสังหาริมทรัพย์อย่าง บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) หลังจากที่ภาครัฐประกาศยกเลิกมาตรการกั้นสำรอง 30% ก็ประกาศแผนออกกองทุนเพิ่มอีก 4-5 กองทุน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเซอร์วิสอพาร์เมนต์ และโรงแรม และที่ฮือฮาที่สุดก็คือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่ลงทุนในโครงสร้างฟื้นฐาน (อินฟาร์สตัคเจอร์) มูลค่ากว่า 20,000 - 30,000 ล้านบาท และกองทุนที่ลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแกรบและซิลิก้า ซึ่งนับเป็นมุมมองใหม่สำหรับกองทุนอสังหาริมทรัพย์ในแวดวพร็อพเพอร์ตี้ ฟันด์ และจากแผนดังกล่าวทำให้ มาริษ ท่าราบ กรรมการผู้จัดการ บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) ออกมาเผยถึงเป้าหมายว่าจะขอขึ้นเป็นผู้นำด้านกองทุนรวมอสังหาฯ ด้วยการทยอยจัดตั้งกองทุนอย่างต่อเนื่อง และคาดหมายว่าจะทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) กองทุนอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 50,000 - 60,000 ล้านบาท จากตอนนี้ที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 18,000 ล้านบาท

ด้าน บลจ.ทหารไทย ก็ไม่ยอมน้อยหน้า เพราะนอกจากกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ CPN รีเทล โกรท ที่ฝั่งของเจ้าของสินทรัพย์อย่างบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN มีความประสงค์ที่จะขยายขนาดกองทุนอีก 7,000 -10,000 ล้านบาท เป็น 20,000 ล้านบาทแล้ว บริษัทมีแผนที่จะออกกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ลักซ์ชัวรี ซึ่งเป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในโรงแรมหรู 5 ดาว กลางเกาะยาวน้อย ที่มีมูลค่าโครงการประมาณ 1,900 ล้านบาท โดยคาดกันว่าจะเปิดขายหน่วยลงทุนได้ระหว่างวันที่ 7-15 พฤษภาคม 2551 อีกด้วย

ขณะที่ บลจ.เอ็มเอฟซี เป็นอีกหนึ่งบลจ.ที่มีแผนออกกองทุนอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติ่ม ด้วยเช่นเดียวกัน โดยบริษัทได้วางแผนทีจะออกกองทุนเพิ่มเติ่มอย่างน้อย 3 กองทุน และหนึ่งในนั้นเป็นกองทุนขนาด 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะเน้นลงทุนในโครงการบ้านเดี่ยวและคอนโดมีเนียมให้เช่าของบริษัท นิชดาธานี พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ขณะเดียวกันยังทบทวนการออกกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทยฮอสพิทัลลิตี้ฟันด์ (THOS) เพื่อให้ขนาดกองทุนใหญ่ขึ้นและออกไประดมทุนในต่างประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ด้าน บลจ.พรีมาเวสท์ เอง ก็ปลุกแผนการออกกองทุนอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติม โดบริษัทจะจัดตั้งกองทุนที่เน้นลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเซอร์วิส อพาร์ทเม้นต์ มูลค่าโครงการประมาณ 1,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีบลจ.ที่เคยมีการออกกองทุนพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ และบริษัทจัดการกองทุนอีกหลายแห่ง ที่ไม่เคยมีการจัดตั้งกองทุนประเภทดังกล่าวมาก่อนหวังที่จะโดดลงมาแข่งขันในธุรกิจดังกล่าวมากขึ้นในปีนี้ โดย บลจ.กรุงไทย ผู้บริหารใหม่อย่าง สมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ ได้แสดงวิสัยทรรศน์เกี่ยวกับการออกกองทุนอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทว่าบริษัทมีแผนจะออกกองทุนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งลงทุนในสินทรัพย์ประเภทหอพักนักศึกษา ที่มีมูลค่าโครงการประมาณ 500 - 600 ล้านบาท โดยคาดว่าน่าจะสามารถเปิดเสนอขายกองทุนได้ภายในปี 2551

ขณะที่ อนุสรณ์ บูรณกานนท์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.บีที เปิดเผยถึงแผนงานการออกกองทุนพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ว่า ในช่วงไตรมาส 2 ระหว่างเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน บริษัทเตรียมออกกองทุนอสังหาริมทรัพย์ 2 กองทุน ประกอบไปด้วยกองทุนที่เข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอาคารสำนักงานที่อยู่ในกลางเมืองกรุงเทพฯ มูลค่าโครงการกว่า 1,600 ล้านบาท และกองทุนที่เข้าลงทุนจะเป็นประเภทศูนย์จัดส่งสินค้ามูลค่าโครงการที่ 600 ล้านบาท

นอกจากนี้บลจ.น้องใหม่อย่าง บลจ.ซีมีโก้ เอง แม้จะเป็นบลจ.ที่ตั้งได้ไม่นาน แต่ก็หวังจะมีการออกกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 2 กองทุน มูลค่ารวมประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยกองทุนแรกคาดว่าจะสามารถระดมทุนได้ประมาณไตรมาส 2 ของปี ซึ่งจะลงทุนในสินทรัพย์ประเภทโรงแรม ที่ตั้งอยู่ในพัทยา มูลค่าโครงการประมาณ 500-700 ล้านบาท ส่วนกองทุนที่ 2 ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลการลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภท ทั้งโรงแรม อาคารสำนักงาน การลงทุนในบ้านเดี่ยว เป็นต้น

ข้อมูลที่นำเสนอมานี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ของบรรดาแผนทั้งหมดของหลายบลจ.เท่านั้น โดยเมื่อนำมูลค่าโครงการต่างๆมาคำนวนคราวๆ จะเห็นได้ว่าในปีนี้ มีพร็อพเพอร์ตี้ ฟันด์ที่ต่อแถวเตรียมเข้าจดทะเบียนเพิ่มเติม คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท และน่าจะผลักดันให้เอยูเอ็มของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ปีหนูเพิ่มขึ้นเป็น 120,000 ล้านบาท ทำให้ความฝันที่ว่าวันหนึ่งขนาดกองทุนพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 100,000 ล้านบาท คงจะไม่ใช่เรื่องลมๆแล้งๆอีกต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น