อเบอร์ดีนมองหุ้นเอเชียในระยะยาวยังสดใส เหตุมีกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นแหล่งลงทุน มีสถาบันการเงินที่แข็งแกร่ง แถมมีการใช้จ่ายในประเทศ ที่ช่วยกระตุ้นการบริโภคในภูมิภาคได้ แต่ระยะสั้นยังผันผวน เพราะต้องจับตาผลกระทบจากปัญหาซับไพรม์ เผยกลยุทธ์จับจังหวะลงทุนเพิ่มในหุ้นตัวเดิมหากราคาทรุด ลุ้นจีน-อินเดียหากปรับลดลงมาอีกเป็นโอกาสเริ่มซื้อได้ ยันไม่เพิ่มน้ำหนักคอมมอดิตี้
นายปีเตอร์ แฮมส์ หัวหน้าฝ่ายตราสารทุนภูมิภาคเอเชีย อเบอร์ดีนเอเชีย เปิดเผยว่า ในระยะยาวการลงทุนในตลาดเอเชียยังน่าสนใจในแง่ของแหล่งลงทุน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จำนวนประชากร การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่มีมากขึ้น และมีสถาบันการเงินที่แข็งแกร่งที่สามารถดำเนินธุรกิจด้วยการปล่อยสินเชื่อในประเทศของตัวเองได้
อย่างไรก็ตาม มองว่าการลงทุนระยะสั้นยังผันผวน เพราะยังมีคำถามว่าเศรษฐกิจของสหรัฐจะเป็นอย่างไร รวมทั้งผลกระทบจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพกับสถาบันการเงินของสหรัฐรวมถึงในกลุ่มประเทศยุโรป ว่าจะมีออกมาให้เห็นอีกเหรอไม่
ทั้งนี้ กลยุทธ์การลงทุนของอเบอร์ดีนในภูมิภาคเอเชียเอง ไม่ได้เน้นว่าจะต้องลงทุนในประเทศไหน แต่เราจะดูเป็นรายบริษัทที่มีผู้บริหารที่ดี มีกระแสเงินสดสูง และจะพยายามไม่ซื้อหุ้นที่ตัวไหนที่ราคาปรับแพงขึ้นไปแล้ว เพราะว่าจะมีโอกาสปรับลดลงมาค่อนข้างแรง และจากกลยุทธ์การลงทุนดังกล่าว ทำให้ผลการดำเนินงานของอเบอร์ดีนไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากการที่ตลาดหุ้นปรับลดลง
“โอกาสดีของเราคือช่วงที่ตลาดผันผวน เป็นจังหวะดีในการลงทุนเพิ่มในหุ้นตัวที่เราถืออยู่แล้ว ในขณะเดียวกัน หากตลาดจีนหรือตลาดอินเดียปรับลดลงมาอีก ก็น่าจะเป็นจังหวะที่เริ่มซื้อได้ อย่างไรก็ตาม ปีนี้เป็นปีที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษสำหรับการลงทุน”นายปีเตอร์กล่าว
สำหรับการลงทุนในเอเชียมีประเทศที่อเบอร์ดีนสนใจอยู่หลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง ธุรกิจในประเทศสิงคโปร์ ที่มีบริษัทหลายแห่งสามารถขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคได้ รวมถึงมีผู้บริหารที่ค่อนข้างดีและดูแลผลประโยชน์ผู้ถือหุ้นรายย่อยด้วย ในขณะที่อินเดียเองมองในระยะยาวก็น่าสนใจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไอที การเงินและธุรกิจรถยนต์ที่กำลังมาแรง
ส่วนออสเตรเสียก็น่าสนใจในแง่ของผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นที่ออกมาค่อนข้างดี แต่ก็เริ่มแพงขึ้นแล้ว ขณะเดียวกันยังมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจอาจจะเป็นปัญหาด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (คอมมอดิตี้) แต่ประเทศที่เรามองว่าไม่น่าสนใจคือ ไต้หวัน เพราะบริษัทส่วนใหญ่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และยังมีอุตสาหกรรมที่ผันผวนไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมเหล็ก ธุรกิจเดินเรือ ซึ่งกลุ่มนี้เราให้น้ำหนักการลงทุนน้อย
สำหรับการลงทุนในประเทศไทย นายปีเตอร์มองว่า ในช่วงที่ผ่านมาปัญหาการเมืองในประเทศอาจจะทำให้ทุกอย่างชะลอตัวลงไปบ้าง แต่หากมองถึงราคาหุ้นในตอนนี้ถือว่ายังไม่แพงมากนัก โดยเฉพาะหุ้นขนาดเล็กและขนาดกลางที่ยังน่าสนใจ มีอนาคตดีและราคาไม่แพงมากนัก
นายปีเตอร์กล่าวว่า สัดส่วนการลงทุนของอเบอร์ดีนในเอเชียปัจจุบัน มีบริษัทที่อยู่ในกลุ่มสถาบันการเงินอยู่ถึง 40% ซึ่งการที่อเบอร์ดีนมีลงทุนในสถาบันการเงินค่อนข้างมาก เพราะเราเชื่อว่าน่าจะได้ประโยชน์จากการบริโภคของประชากรในภูมิภาค ขณะเดียวกันยังมีการทำธุรกิจประเภทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องนอกจากการปล่อยสินเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นการขายหน่วยลงทุน ประกันภัย ซึ่งทำให้สถาบันการเงินเหล่านี้ สามารถเติบโตได้ภายในประเทศของตัวเอง นอกจากนี้ ยังมีสถาบันการเงินหลายแหง่ยังมีการขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคด้วย
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของกลุ่มสถาบันการเงินอยู่ที่ การทำธุรกิจด้านอนุพันธ์ ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินในประเทศสหรัฐและยุโรปที่มีปัญหาจากซับไพรม์ เพราะหากสถาบันการเงินเหล่านี้มีปัญหา ก็อาจจะส่งผลต่อเนื่องได้เช่นกัน เห็นได้จากปัญหาล้มละลายของแบสเติร์น ที่รัฐบาลสหรัฐเข้ามาแก้ปัญหาด้วยการพยุงไว้ เพราะหากปล่อยให้ล้มไปอาจจะส่งผลกระทบต่อไปยังสถาบันการเงินที่มีการทำอนุพันธ์ด้วย
สำหรับการลงทุนในสินค้าคอมมอดิตี้และพลังงานที่ราคาปรับขึ้นมาค่อนข้างเยอะ ในส่วนของอเบอร์ดีนเองมีพอร์ตถืออยู่บ้าง แต่เราลงทุนเพราะเห็นว่าบริษัทนั้นเป็นบริษัทที่ดี ไม่ได้ลงทุนเพราะมองว่าราคาน้ำมันจะขึ้น ทั้งนี้ การปรับขึ้นของราคาของสินค้าคอมมอดิตี้เองมีประเด็นมาจากความต้องการสูงกว่าประเทศที่สามารถผลิตได้ เช่น ข้าว ถ่านหิน เหล็ก ซึ่งการปรับขึ้นดังกล่าวมีส่วนมาจากการเก็งกำไรเช่นกัน ดังนั้น ต้องดูด้วยว่าราคาที่ปรับขึ้นนั้นมาจากราคาจริงหรือการเก็งกำไร
ขณะเดียวกัน การที่เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว สินค้าคอมมอดิตี้เหล่านี้อาจจะได้รับผลกระทบไปด้วย โดยพอร์ตการลงทุนของอเบอร์ดีนที่มีอยู่ในขณะนี้ คงยังไม่มีการลงทุนเพิ่มแต่อย่างใด