xs
xsm
sm
md
lg

พิชญา พิสุทธิกุล เถ้าแก่ร้านทอง..สอนใช้เงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สิ่งสำคัญคือต้องปลูกฝังให้เด็กรู้จักใช้เงิน ไม่ใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุหร่าย ไม่อินเทรนด์ตามค่านิยม หรือตามเพื่อนฝูง ซึ่งเด็กจะต้องคิดเอาเองว่าว่าสมควรหรือไม่ หรือหากต้องการที่จะตามกระแสจะต้องสอนให้เค้ารู้ถึงการเปรียบเทียบในเรื่องของประโยชน์การใช้สอยและราคาของสินค้าด้วย”


ที่ผ่านมาคอลัมน์ "ผู้จัดการคุยกับนักลงทุน" ได้พาไปเจาะลึกเบื้องหน้า เบื้องหลัง และแนวทางการออมของคนดังในหลากหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็น ศิลปิน ดารา นักร้อง หรือ ไฮโซ และท่ามกลางวิกฤตการณ์ราคาทองคำที่พุ่งปรี๊ดชนิดฉุดไม่อยู่ วันนี้"ผู้จัดการกองทุนรวม" ขอเกาะกระแส ตีแพร่เรื่องราวและแนวทางการลงทุนของเจ้าของร้านทองชั้นนำ และเลขาธิการสมาคมทองคำอย่าง "พิชญา พิสุทธิกุล" มานำเสนอให้หลายคนได้รับฟัง ว่าเถ้าแก่ร้านทองนั้น มีวิธีคิดเรื่องการออม การบริหาร รวมถึงการอบรมสั่งสอนมังกรรุ่นหลังเป็นอย่างไร

อาชีพค้าทองไม่ใช้สิ่งแปลกใหม่สำหรับคุณพิญญา แต่เป็นมรดกตกทอดที่ได้รับมาจากคุณพ่อ สำหรับคุณพ่อของคุณพิชญาเริ่มเดินทางในเส้นทางสายนี้ประมาณปี พ.ศ. 2496-2497 ด้วยการเป็นพ่อค้าทองแบบ **"หิ้วกระเป๋าขายทอง"** หรือการรับทองมาจากโรงงานมาใส่ในกระเป๋าและหิ้วไปขายตามจังหวัดต่างๆ ต่อมาจากการหิ้วกระเป๋าขายทองก็เปลี่ยนเป็นตั้งร้านค้าทอง คือร้าน **"เลี่ยงเสี่ยงเฮง"** ซึ่งในช่วงแรกเริ่มเดิมทีนั้นร้านไม่ได้มีความใหญ่โตอย่างทุกวันนี้เป็นห้องแค่เพียงห้องเดียวเท่านั้น

คุณพิชญา เล่าให้ฟังว่า ตัวเองนั้นไม่ได้สานงานต่อจากคุณพ่อตั้งแต่แรกเริ่ม แต่เพิ่งเริ่มเข้ามาบริหารงานกิจการร้านทอง "เลี่ยงเสี่ยงเฮง" ประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา โดยหลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สาขาการธนาคาร คุณพ่อได้มีโครงการที่จะเปิดร้านเพชร ทำให้ตนเองต้องเดินทางไปศึกษาต่อทางด้านเพชรพลอยยังประเทศออสเตรเลียเป็นระยะเวลา 2 ปี พร้อมทั้งทำงานอยู่ที่นั้น แต่โครงการเปิดร้านขายเพชรต้องยกเลิกไปเพราะเกิดความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้านอันมีสาเหตุมาจากคอมมิวนิสส์บุกยึดครอง ทำให้ไม่สามารถสานต่อโครงการได้
 
เมื่อไม่สามารถเปิดร้านเปิดร้านเพชรร่วมกับคุณพ่อได้ คุณพิชญาตัดสินใจออกมาประกอบธุรกิจเป็นของตนเองที่ถนนสุขุมวิท โดยเปิดร้านขายทองรูปพรรณ ส่งออกไปยังต่างประเทศ เน้นส่งออกไปยังประเทศฟิลลิปปินส์ ฮ่องกง และอเมริกา เป็นหลัก แต่ต่อมาเมื่อคุณพ่อมีอายุมากขึ้นประกอบกับพี่ชายคนที่ 2 ซึ่งช่วยบริหารกิจการมาโดยตลอดลาจากไป ทำให้ตนเองต้องก้าวลงมาช่วยคุณพ่อควบคุมกิจการแทน

ด้านกิจการร้าน"เลี่ยงเสี่ยงเฮง" นั้น ปัจจุบันนอกจากสาขาใหญ่ที่ถนนบ้านหมอแล้ว ยังได้มีการเปิดสาขาที่ถนนเยาวราชในชื่อ "เลี่ยงเส็งเฮง1 , เลี่ยงเส็งเฮง 2" และนอกจากสองร้านที่เปิดใหม่แล้วยังมีอีกสาขาหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ที่ปากสุขุมวิท 10 อีกด้วย โดยสาขาที่ถนนเยาวราชนั้น มีพี่ชายคนที่ 3 ของคุณพิชญาเป็นผู้ดูแล ส่วนการดูแลนั้นจะใช้วิธีแยกกันช่วยดูแลและรับผิดชอบ เพราะหลักว่าครอบครัวเดียวกันจะช่วยกันบริหารดูแลได้มากกว่า

"การนำเอาคนในครอบครัวมาบริหารงาน ทำให้มีความไว้วางใจมากกว่านำคนนอกเข้ามาบริหารดูแล เพราะในการเปิดร้านทองนั้นจำเป็นที่จะต้องดูแลให้ทั่วถึง มิเช่นนั้นจะทำให้เงินทองสามารถรั่วไหลได้ง่ายมาก ไม่ว่าจะเป็นในส่วนการบริหารจัดการ การฉ้อโกง ซึ่งเดี๋ยวนี้วิธีการฉ้อโกงมีมากมายอีกทั้งยังสามารถทำได้ง่ายด้วย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องราคาทองคำ ค่ากำเน็จทอง และเรื่องของการทำบัญชี ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นเรื่องร้ายแรงอาจจะส่งผลทำให้ชื่อเสียงของร้านเสียหายได้ ดังนั้นการที่จะสรรหาคนมาดูแลร้านนั้น ต้องคัดเลือกเอาคนที่ไว้วางใจได้จริงๆมาดูแล และจัดได้ว่าหายากมากในปัจจุบันนี้" คุณพิชญา กล่าว

คุณพิชญา กล่าวต่อว่าส่วนหลังจากนี้จะเปิดสาขาเพิ่มหรือไม่ คงต้องแล้วแต่คนรุ่นหลังว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะการที่จะเปิดร้านทองขึ้นมานั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆอย่างแรกที่จะต้องคำนึงถึงคือ เมื่อเปิดร้านแล้วจะให้ใครมาควบคุมดูแล จะให้เปิดแล้วทิ้งไว้เฉยก็ไม่ได้ เพราะทองคำเป็นของที่มีมูลค่าอีกทั้งยังซื้อง่ายขายคล่องอีกด้วย คือซื้อมาเมื่อไหร่ก็สามารถขายได้ทันที ไม่มีคนไหนที่ไม่อยากที่จะซื้อทองราคาถูกๆยิ่ง โดยเฉพาะทองที่ขโมยมาแล้วเอาไปขายนั้นไม่ต้องกลัวว่าจะขายไม่ได้ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับ เพชรพลอยหรือ จิวเวอร์รี่ นั้นกว่าจะขายได้แต่ละชิ้นนั้นต้องใช้เวลาในการขายพอสมควรมากกว่าทอง"

สำหรับชีวิตครอบครัว ทุกวันนี้ คุณพิชญามีบุตร 2 คน โดยบุตรชายคนโตจบการศึกษาระดับปริญญาเอก ตอนนี้ประกอบอาชีพทันตแพทย์ อยู่ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ส่วนลูกสาวคนเล็กอาศัยอยู่ที่เมืองไทย จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากธรรมศาสตร์ และปริญญาโท (MBA)ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตอนนี้ประกอบอาชีพเป็น Brand Manager ให้กับสินค้าเสื้อผ้ายี่ห้อดัง

ส่วนแนวทางการออมในสไตล์ของคุณพิชญา นอกจากจะอาศัยการลงทุนในทองคำตามประสาเจ้าของร้านทองแล้ว ยังอาศัยการออมในรูปแบบอสังหาริมทรัพย์ด้วย เช่น ซื้อที่ดินซื้อบ้านหรืออาคารและฝากไว้ในธนาคารมากกว่า ขณะที่การลงทุนในหุ้นจะเลือกซื้อเฉพาะของบางธนาคารหรือหุ้นบางตัวเท่านั้น เพราะหุ้นนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนเพราะมองว่าหุ้นเป็นตัวเลขที่ปั่นไปปั่นมาเคลื่อนไหวตลอดเวลา

นอกจากนี้คุณพิชญา ยังฝึกลูกให้รู้จักการใช้เงินและการออมมาตั้งแต่เด็กๆ โดยตั้งแต่ชั้นประถมจะไม่ให้เงินแบบรายวันแต่จะจ่ายเงินให้เป็นรายสัปดาห์แล้วให้บริหารเงินเองว่าพอหรือไม่ และพอเริ่มขึ้นชั้นมัธยมจะให้ค่าใช้จ่ายเป็นเดือนและให้จัดสรรเงินกันเองทั้งเดือน จะเว้นเฉพาะค่าหนังสือและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเรียนที่จะให้อีกต่างหาก โดยเมื่อลูกๆได้เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ ก็จัดสรรเงินให้ก้อนหนึ่งให้คิดว่าเป็นการลงทุน ซึ่งจะพอหรือไม่พอก็เป็นเรื่องของลูกๆในการบริหารจัดการกันเอง

“เด็กเราต้องให้รู้จักที่จะจัดสรรและปลูกฝังการใช้เงินตั้งแต่เล็ก ถ้าหากเราให้เป็นรายวันหมดแล้วให้มาขอเพิ่มนั้นเป็นการสอนที่ผิด เพราะจะทำให้เด็กไม่รู้จักคุณค่าของเงิน ต้องทำให้เค้าคิดว่ารายได้ที่เค้าได้มาในเดือนนี้หากต้นเดือนใช้จ่ายเยอะตอนปลายเดือนค่าใช้จ่ายไม่พอจะทำยังไง ต้องทำให้เค้ารู้จักคำว่าพอเป็นยังไง”

คุณพิชญาให้คติทิ้งท้าย ในการสอนบุตรหลานให้รู้จัดการออมว่า สิ่งสำคัญจะต้องปลูกฝังให้เด็กรู้จักใช้เงิน ไม่ใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุหร่าย ไม่อินเทรนด์ตามค่านิยม หรือตามเพื่อนฝูง ซึ่งเด็กจะต้องคิดเอาเองว่าสมควรหรือไม่ เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควรหากต้องใช้ของแพงตามกระแสแฟชั่น หรือหากต้องการที่จะตามกระแสจะต้องสอนให้เค้ารู้ถึงการเปรียบเทียบในเรื่องของประโยชน์การใช้สอยและราคาของสินค้าด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น