“มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต” จัดเป็นมหาวิทยาลัยที่นักศึกษามีความต้องการเข้าศึกษาต่อเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะชื่อเสียงทางด้านการทำขนมเบเกอรี่ ที่ได้รับการยอมรับว่ารสชาติเป็นเลิศ
ภายใต้การบริหารงานของ ผศ.ดร.ศิโรจน์ ผลพันธ์ธิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้กำหนดนโยบายชัดเจนว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต(มสด.) จะสร้างอัตลักษณ์ของตนเองให้เด่นชัดที่สุด ซึ่ง ศ.ดร.ศิโรจน์ เปิดเผยว่า มสด.มีความโดดเด่นในการจัดการเรียนการสอนใน 4 สาขา ได้แก่ สาขาอุตสาหกรรมอาหาร สาขาอุตสาหกรรมการโรงแรมและการบริการ สาขาการศึกษาปฐมวัย และสาขาพยาบาลศาสตร์และการดูแลผู้สูงวัย ในอนาคต มสด.จะพัฒนาให้มีความแข็งแกร่งในหลักสูตรเฉพาะทางทั้ง 4 ด้านยิ่งขึ้นไปอีก
“เราจะปรับลดจำนวนการรับนักศึกษาลงด้วย ซึ่งปีการศึกษาที่ผ่านมารับอยู่ที่ 5,500 คน ปีการศึกษานี้เรารับเพียง 3,500 คน และปีต่อไปจะรับนักศึกษาเพียง 2,500 คน และจะยืนพื้นรับนักศึกษาอยู่เพียง 2,500 คนเท่านั้น เพื่อสร้างนักศึกษาให้มีคุณภาพ สอดคล้องกับความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของมหาวิทยาลัย”
อธิการบดี มสด.กล่าวอีกว่า ขณะนี้การก่อสร้างอาคารเรียนภายใน มสด.ใกล้แล้วเสร็จแล้ว ดังนั้น ทางมหาวิทยาลัยจะดึงเอานักศึกษาที่เรียนอยู่ตามศูนย์ต่างๆ ใน กทม.และปริมณฑลกลับเข้ามาเรียนภายในมหาวิทยาลัย โดยได้ยุบศูนย์การเรียน มสด.ใน กทม.และเขตปริมณฑลไปแล้ว 4 ศูนย์ เหลือเพียง 2 ศูนย์เท่านั้น ที่เหลือเป็นศูนย์ที่เปิดสอนอยู่ในต่างจังหวัด และแม้ว่านักศึกษาในต่างจังหวัดจะต้องเรียนในศูนย์ แต่การเรียนการสอนจะมีมาตรฐานเทียบเท่ากับนักศึกษาส่วนกลาง เพราะเราใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงไปยังศูนย์ ทำให้การเรียนไม่ต่างจากในสถาบัน
“เราตั้งเป้าหมายไว้เลยว่า บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากสวนดุสิต จะต้องมีบุคลิกภาพที่ดี เชี่ยวชาญในเรื่องที่เขาศึกษา ซึ่งแต่ละสาขาก็จะสอดคล้องกับความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้บัณฑิตที่จบออกไปจะต้องมีความสามารถในการใช้ภาษา และเทคโนโลยีได้อย่างดี”
ด้วยคุณสมบัติอันพึงประสงค์ของบัณฑิต มสด.ดังกล่าว ผศ.ดร.ศิโรจน์ จึงได้มีนโยบายแจกคอมพิวเตอร์แบบพกพา หรือโน้ตบุ๊กให้กับนักศึกษา โดยนักศึกษาที่เข้ามารายงานตัวเรียนกับทางสวนดุสิต หากมีผลการเรียนในภาคเรียนแรกเกิน 1.6 ก็จะได้รับโน้ตบุ๊กไปใช้ ซึ่งทุกปีต้องนำโน้ตบุ๊กมาตรวจสภาพกับ มสด.แต่หากนักศึกษาเรียนจบปีที่ 3 โน้ตบุ๊กจะเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เรียนเลย โดยไม่ต้องนำเครื่องมาคืน
“ในแต่ละปีเราจะใช้งบประมาณสำหรับแจกโน้ตบุ๊กให้นักศึกษาปีละประมาณ 135 ล้านบาท ที่เราทำโครงการนี้เพราะหลักสูตรของเรามีการทำเป็น e-learning ที่นักศึกษาสามารถดึงข้อมูลมาใช้ได้ การแจกโน้ตบุ๊กทำให้นักศึกษาสามารถนำไปใช้ในการเรียน ทำรายงาน หรือเข้าห้องสมุดจากที่บ้านได้ โดยภายในมหาวิทยาลัยเราก็จะติดระบบไวเลสครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด เพื่อให้นักศึกษาสามารถใช้งานโน้ตบุ๊กได้อย่างเต็มที่ด้วย และหากเราไม่แจกโน้ตบุ๊ก เราก็ต้องเสียงบประมาณจัดหาคอมพิวเตอร์ไว้ให้นักศึกษาใช้ ซึ่งเราต้องทำห้องสำหรับเก็บคอมพิวเตอร์ ต้องเสียค่าซ่อมบำรุง และดูแลรักษา ตลอดจนการทำระบบรองรับ สิ่งเหล่านี้เป็นรายจ่ายที่ต้องจ่ายทุกปี และคอมพิวเตอร์มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซื้อมาไม่นานก็มีการปรับเปลี่ยนใหม่ ดังนั้น การซื้อโน้ตบุ๊กแจกนักศึกษาจึงถือว่าคุ้มค่ากว่ามาก และนักศึกษาก็สามารถใช้งานได้ตลอดเวลาด้วย ซึ่งในอนาคตการใช้งานคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตจะเป็นปัจจัยสำคัญในการคัดเลือกคนเข้าทำงาน”
อธิการบดี มสด.ยังได้กล่าวถึงหลักสูตรการศึกษาพิเศษของ มสด.ที่ถือว่ามีความโดดเด่นอย่างมากว่า ขณะนี้เปิดสอนระดับปริญญาโท โดยไม่ได้เปิดรับในหลักสูตรปกติมา 3 ปีแล้ว เนื่องจาก พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ได้กำหนดว่า ผู้ที่จะสอนเด็กพิเศษได้ จะต้องสำเร็จการศึกษาหลักสูตรการศึกษาพิเศษระดับปริญญาโท แต่หลักสูตรที่เปิดสอนมาก่อนหน้านั้น เป็นหลักสูตร 5 ปี ดังนั้น บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาออกไปจึงไม่สามารถไปเป็นครูผู้สอนเด็กพิเศษได้ ทำให้ต้องเปิดหลักสูตรปริญญาโทเพื่อรองรับบัณฑิตที่จบการศึกษาหลักสูตร 5 ปีของสวนดุสิต และจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอื่นๆ อีก 11 แห่งที่เปิดสอนหลักสูตรดังกล่าว โดยมีเป้าหมายว่าจะยังไม่เปิดสอนหลักสูตร 5 ปี จนกว่าบัณฑิตหลักสูตร 5 ปี จะสำเร็จปริญญาโทเป็นส่วนใหญ่ แต่จะเปิดหลักสูตรการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษในระดับปริญญาเอกเพิ่มเติมในเร็วๆ นี้ เพื่อให้บัณฑิตกลุ่มนี้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างแท้จริง
“การที่หลักสูตรการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษของสวนดุสิตได้รับการยอมรับอย่างมากนั้น เป็นเพราะแต่ละปีเราจะมีเด็กพิเศษ ทั้งผู้พิการทางสายตา ผู้พิการทางหู ผู้พิการแขนขา หรือผู้พิการด้านอื่นๆ เข้ามาศึกษาด้วย ทำให้เรามีพัฒนาการในการเรียนการสอนไปมาก เพราะเขาเป็นผู้ประสบปัญหาอย่างแท้จริง และเมื่อเรียนจบผู้พิการที่จบจากสวนดุสิตก็ได้กลับไปทำงานเพื่อกลุ่มเด็กพิเศษจริงๆ ด้วย”
“ในอนาคตผมวางเป้าหมายสำหรับสวนดุสิตไว้ว่า เมื่อพูดถึงหลักสูตรเรื่องอาหาร ต้องนึกถึงสวนดุสิต เมื่อพูดถึงการโรงแรมก็ต้องนึกถึงสวนดุสิต เมื่อพูดถึงหลักสูตรปฐมวัยก็ต้องที่สวนดุสิต และหากพูดเรื่องพยาบาลศาสตร์ หรือการดูแลผู้สูงวัย ก็ต้องที่นี่ เราจะเอาจุดแข็งของเราไปแข่งขันกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ และผลักดันให้เป็นมหาวิทยาลัยในระดับแถวหน้าได้อย่างแน่นอน” ผศ.ดร.ศิโรจน์ สรุป